วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กกต.ออกกฎเหล็กคุมเข้มหาเสียงเลือกตั้ง

On January 3, 2019

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2561 แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสำนักงานนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวกำหนดเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติ ข้อห้ามปฏิบัติสำหรับผู้สมัคร พรรคการเมือง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น โดยวิธีการหาเสียงที่ควรปฏิบัติระบุว่า สามารถแจกเอกสาร วิดีทัศน์ที่เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในเขตชุมชน สถานที่ งานพิธีต่างๆได้ รวมทั้งจัดรถหาเสียงและเวทีหาเสียง ใช้เครื่องขยายเสียงช่วยหาเสียงได้

ผู้สมัคร พรรคการเมือง ต้องแจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบภายใน 10 วันหลังปิดการรับสมัคร ซึ่งทั้งเอกสาร วิดีทัศน์ ประกาศการโฆษณา ป้ายโฆษณาที่จะติดตั้งบนรถหาเสียง เวทีหาเสียง สามารถระบุชื่อ รูปภาพ และหมายเลขผู้สมัคร ชื่อสัญลักษณ์ นโยบายของพรรค คติพจน์คำขวัญ ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้สมัคร พรรคการเมือง และนำภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรค ลงโฆษณาหาเสียงได้เท่านั้น

ส่วนการดำเนินการในส่วนของรถหาเสียงและเวทีหาเสียง ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หาเสียงผ่านจดหมาย สิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ทำเอกสารที่มีการกากบาทในช่องคะแนนเลือกตั้งให้กับตนเองได้ แต่เอกสารต้องไม่มีลักษณะหรือสีคล้ายกับบัตรเลือกตั้ง สามารถตั้งผู้ช่วยหาเสียงได้ โดยผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผู้ช่วยหาเสียงในเขตได้ไม่เกิน 20 คนต่อเขต ส่วนพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนเขตที่พรรคนั้นส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต

กรณีพบว่ามีการหาเสียงไม่เป็นไปตามที่ กกต. กำหนด ผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดจะแจ้งให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองแก้ไขภายใน 5 วัน หากไม่ดำเนินการ กกต. สามารถรื้อถอน ปลดออก หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัคร พรรคการเมืองนั้น และนำมาเป็นเหตุสืบสวนวินิจฉัยได้

ส่วนเรื่องการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง สามารถหาเสียงด้วยตนเองหรือว่าจ้างบุคคล นิติบุคคลดำเนินการได้ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ทั้งยูทูบ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น อีเมล์ เอสเอ็มเอส โดยผู้สมัครต้องแจ้งวิธีการรายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาการหาเสียง รวมถึงหลักฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดทราบ ตั้งแต่วันสมัครหรือก่อนหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้สมัครหรือสมาชิกพรรค หากต้องการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้สมัครพรรคการเมืองใดต้องแจ้งชื่อสกุล นิติบุคคล หรือเครื่องหมายที่สามารถเจาะจงตัวบุคคลที่ดำเนินการได้ โดยค่าใช้จ่ายในการหาเสียงส่วนนี้ หากเกินกว่า 10,000 บาท ต้องแจ้งให้ผู้สมัครพรรคการเมืองทราบ และให้แจ้งต่อผู้อำนวยการ กกต.จังหวัด เลขาธิการ กกต. ทราบ และการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร พรรคการเมืองนั้น

กรณี กกต. พบว่ามีการใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง สามารถสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ลบข้อมูลนั้น หากผู้สมัคร พรรคการเมืองไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด เลขาธิการ กกต. สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการดำเนินการ โดยผู้สมัคร พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ลบข้อมูล ไม่สามารถลบล้างความผิดที่กระทำสำเร็จแล้ว ซึ่ง กกต. สามารถนำมาสืบสวนและวินิจฉัยได้

ส่วนข้อห้ามปฏิบัติในการหาเสียงกำหนดไว้กว้างๆคือ ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ผู้ประกอบอาชีพ เจ้าของกิจการวิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา หรือนักแสดง นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถทางวิชาชีพเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงให้แก่ตน แต่ถ้าผู้สมัครมีความรู้ความสามารถทางศิลปะเป็นของตนเองสามารถใช้หาเสียงให้กับตัวเองได้ แต่ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง รวมทั้งห้ามแจกจ่ายเอกสารที่เกี่ยวกับการหาเสียงโดยใช้วิธีการวางหรือโปรยในที่สาธารณะ ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม และไม่ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามประเพณี


You must be logged in to post a comment Login