วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ปัญหาโรคกระดูกสันหลังไม่ใช่เรื่องเล็กๆ / โดย นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ

On November 2, 2018

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 2-9 พฤศจิกายน 2561)

ปัญหากระดูกสันหลังไม่ใช่เรื่องเล็ก หากมีอาการปวดหลังเพียงไม่นานแล้วหายได้จากการดูแลตัวเองคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าปวดหลังเรื้อรังเป็นเวลานานและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอาการจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือโพรงประสาทตีบแคบทับเส้นประสาท รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ด้านกระดูกสันหลัง

แนวโน้มการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บกระดูกสันหลังของคนไทยมีเพิ่มขึ้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ในวัยทำงานหรือวัยกลางคนก็สามารถพบปัญหาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทได้ จากการใช้ชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในท่าที่ไม่ถูกต้อง การนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ การยกของหนัก การก้มหรือบิดเอี้ยวตัวผิดท่า รวมทั้งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดเฉียบพลันและรุนแรงจนไม่สามารถลุกเดินหรือช่วยเหลือตัวเองได้

อาการปวดที่รุนแรงไม่ได้บ่งชี้ว่าต้องผ่าตัดเสมอไป โดยส่วนใหญ่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีวิธีการรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์จึงมีหลายทางเลือกในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังแก่ผู้ป่วยมากขึ้น ประกอบด้วย 1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด (Non Operative Treatment) เป็นการรักษาด้วยวิธีการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยฟื้นคืนความแข็งแรงและความสามารถในการเคลื่อนไหว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนไข้ รวมถึงการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ หากอาการต่างๆยังไม่ทุเลาลงจึงค่อยทำการรักษาขั้นถัดไป

2.วิธีระงับความปวด (Spinal Intervention) ตัวช่วยในการวินิจฉัยหาต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา (Pain Intervention) และเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดตำแหน่งของความปวดหากต้องเข้ารับการผ่าตัด ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดทราบบริเวณที่จะผ่าได้จำเพาะเจาะจงมากขึ้น และไม่ต้องผ่าตัดกว้างเกินความจำเป็น

“ถ้าคนไข้มีอาการปวดหลัง อันดับแรกแพทย์ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าจุดกำเนิดหรือสาเหตุของความปวดมาจากอะไร การใช้ยารับประทานเพื่อแก้ปวดอาจช่วยทุเลาอาการได้ แต่หากสาเหตุของอาการปวดยังคงอยู่ อาการปวดก็จะกลับมาอีก ซึ่งคนไข้แต่ละคนอาจให้คำจำกัดความของอาการปวดที่แตกต่างกัน แพทย์จึงต้องรับฟังและนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการวินิจฉัยให้กับผู้ป่วยแต่ละราย” การดูเพียงภาพจากรังสีวินิจฉัยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ Pain Intervention จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยวินิจฉัย เพื่อหาตำแหน่งเส้นประสาทและระดับของกระดูกสันหลังที่มีปัญหาแล้วเริ่มต้นรักษา อาทิ การฉีดยาลดการอักเสบแบบตรงจุด หรือใช้การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ถ้าการฉีดยายังไม่ได้ผลจึงจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลง

3.การผ่าตัดกระดูกสันหลังแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery : MISS) เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กที่ช่วยให้คนไข้เสียเลือดน้อย ลดการทำลายโครงสร้างกระดูกสันหลัง เนื้อเยื่อข้างเคียงบาดเจ็บน้อยลง ช่วยให้การฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าการผ่าตัดเปิดแผลกว้าง ประกอบด้วย 3 วิธีคือ 1) Microscopic Discectomy เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กแบบมาตรฐานด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) ที่มีกำลังขยายมากกว่าปรกติ 20-100 เท่า ทำให้ศัลยแพทย์มองเห็นรายละเอียด เส้นประสาท และพยาธิสภาพที่ต้องการแก้ไขได้ชัดเจน โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โอ-อาร์ม (O-ARM) เก็บข้อมูลเอกซเรย์สามมิติ และระบบนำวิถี (Stealth Navigation System) ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้จากโอ-อาร์มมาช่วยให้ศัลยแพทย์ประเมินระยะที่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ต้องการผ่าตัดได้ในระดับมิลลิเมตร ช่วยให้ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังผ่าตัดได้แม่นยำยิ่งขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับเครื่องติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด (Intraoperative Neurological Monitoring – IOM) ป้องกันเส้นประสาทบาดเจ็บขณะผ่าตัด จึงช่วยให้สามารถผ่าตัดในจุดที่ต้องการได้มีประสิทธิภาพ แผลมีขนาดเล็กประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผู้ป่วยที่เหมาะกับการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยี Microscopic Discectomy ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในคนวัยทำงาน ผู้ป่วยโพรงประสาทตีบแคบทับเส้นประสาทจากภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลัง ข้อต่อ และหมอนรองกระดูกสันหลังในผู้สูงอายุ เป็นต้น

2) Microendoscopic Discectomy เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก โดยใช้ท่อโลหะขยายทางเข้าของช่องทางผ่าตัด จากนั้นส่องกล้องเข้าไปในโพรงแผลที่มีขนาดเล็กเพื่อเข้าไปผ่าตัดในตำแหน่งที่ต้องการ วิธีนี้แผลผ่าตัดมีขนาด 0.5-2 เซนติเมตร ลดการทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียงโดยไม่จำเป็น และต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ 3) Endoscopic Discectomy เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) แผลผ่าตัดมีขนาดประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผ่านท่อขนาดเล็กเพียงแผลเดียว (Single Port) มีการใช้คลื่นความถี่วิทยุช่วยจี้หยุดเลือดขณะศัลยแพทย์ผ่าตัด โดยมองผ่านจอภาพแสดงผลเห็นความผิดปรกติได้อย่างชัดเจน ช่วยให้ใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นลง ผ่าตัดรักษาแก้ปัญหาได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการ วิธีนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อโดยรอบบาดเจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน ฟื้นตัวเร็ว แต่ยังมีข้อจำกัดในการผ่าตัดที่ทำได้ในพื้นที่จำกัด ไม่เหมาะที่จะทำในคนไข้ที่มีกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทหลายๆข้อ หรือภาวะกระดูกสันหลังไม่มั่นคง เป็นต้น


You must be logged in to post a comment Login