วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

#ประเทศกูมี คนดีดิ้นพล่าน!

On November 1, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 2- 9 พฤศจิกายน 2561 )

ปรากฏการณ์เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” โดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ RAD มียอดวิวยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง เพราะไม่ถึงสัปดาห์ (26 ตุลาคม) จากไม่กี่แสนวิวใกล้แตะ 30 ล้านวิว (31 ตุลาคม) ซึ่งเพลงเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เป็นเพลงสะท้อนสังคมการเมืองโดยใช้ฉากโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 เพื่อตอกย้ำเหตุการณ์ที่เหมือนตราบาปของสังคมไทย

ทั้งตอนท้ายของมิวสิกวิดีโอยังมีประโยคว่า “การแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย คือไม้ตายของอำนาจรัฐที่ฝักใฝ่เผด็จการ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น อำนาจทั้งหมดของประชาชนจะถูกพรากจากไป ด้วยความระลึกถึงทุกชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมโดยรัฐ ทุกเหตุการณ์ ALL PEOPLE UNIT”

“ศรีวราห์-บก.ปอท.” ปั่นกระแส

ย้อนลำดับเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั้งประเทศแห่เข้าไปกดติดตามและกดถูกใจเพลง “ประเทศกูมี” ต้องยกเครดิตให้กับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมได้ออกมาระบุว่าเพลงเสี่ยงขัดคำสั่ง คสช. และจะให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบเนื้อหา เชิญคนที่ปรากฏในคลิปมาให้ปากคำ พร้อมเตือนคนทำเพลงอย่าทำสุ่มเสี่ยง จะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัว

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก บก.ปอท. ออกมาย้ำว่า เข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ รวมทั้งอาจดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์เพลงนี้ด้วย

วันเดียวกัน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลรู้สึกเสียใจในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเยาวชนน่าจะใช้ความรู้ความสามารถด้านดนตรีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต่อแผ่นดินเกิดของตัวเองมากกว่านี้ เพราะคลิปนี้เผยแพร่ไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในคลิปมีซับไตเติลเป็นภาษาอังกฤษ ตนเห็นเนื้อหาเหมือนต่อว่ารัฐบาล แต่สุดท้ายคนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย คนทำอาจจะได้รับความสนุกสนาน สะใจในการใช้ข้อมูลตอบโต้หรือกล่าวว่ารัฐบาล แต่อยากให้ดูว่าสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาราชการแทน ผบช.สตม. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เปิดเผยว่า อาจจะทำการออกหมายจับภายในสัปดาห์หน้า

การออกมาพูดเชิงขู่ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รวมทั้ง พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ และ บก.ปอท. ยิ่งทำให้คนอยากรู้และกดไลค์กดแชร์ติดแฮชแท็ก “#ประเทศกูมี” ยิ่งกว่าไฟลามทุ่งจนติดท็อป 5 ของเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างรวดเร็วที่ 2,747 ครั้ง มากกว่าช่วงเปิดตัว MV เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม และไม่ถึงสัปดาห์จากยอดวิว 800,000 กว่าวิวก็ทะลุ 20 ล้านวิว และยังดังไปทั่วโลก เพราะมีซับไตเติลทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษกำกับ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อต้านและสนับสนุนมากมายในโซเชียลมีเดีย

ตอนนี้ไม่ผิดแต่ยังหาช่องเอาผิด

จนวันที่ 29 ตุลาคม พล.ต.อ.ศรีวราห์ได้กล่าวว่า “ในชั้นนี้ยังไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิดได้ เพราะเนื้อหาของเพลงยังไม่มีการระบุวัน เวลา สถานที่ อย่างชัดเจน หลังจากนี้ประชาชนยังสามารถฟัง ร้อง และแชร์เพลงนี้ได้ ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ยอดวิวเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลกับคดีอาญา” แต่ยังขู่ว่าสั่งให้ บก.ปอท. เข้าไปดูเนื้อเพลงให้ละเอียดว่ามีช่องเอาผิดได้ไหม ซึ่งเนื้อเพลงยังมีท่อนที่เอ่ยถึง “เสือดำ” ที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์เป็นผู้รับผิดชอบคดีด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.ต.อ.ศรีวราห์ได้เปิดเผยว่า มีการแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ บก.ปอท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับ 4 เพจดัง ข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีนำเสนอข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าตนเองได้สั่งการให้มีการจับกุมดำเนินคดีกับกลุ่มศิลปินเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ทั้งที่เพียงแต่สั่งให้ไปตรวจสอบเท่านั้น โดยขณะนี้แม้จะยังไม่พบความผิด แต่กระบวนการตรวจสอบยังเดินหน้ารวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ โดยยืนยันว่าประชาชนรวมถึงข้าราชการตำรวจยังสามารถฟัง ร้อง และแชร์เพลงดังกล่าวได้ แต่อยากให้ประชาชนคำนึงถึงความเหมาะสม เพราะยอมรับว่าเนื้อหาบางส่วน โดยเฉพาะที่มีการทำล้อเลียนขึ้นใหม่ อาจถูกผู้ไม่หวังดีนำไปตีความสร้างความแตกแยกในสังคมได้ ซึ่งตนเองอยากให้ทุกคนมีความรักความสามัคคี เพราะประเทศกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ไม่อยากให้ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

พล.ต.อ.ศรีวราห์ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าตนเองยอมถอยนั้น ตนยังไม่ได้เดินหน้าจะถอยได้อย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีหรือจับกุมผู้กระทำผิดคนใด อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ตำรวจก็ต้องเดินหน้าอยู่แล้ว หากตรวจสอบแล้วพบการกระทำผิดก็ต้องดำเนินคดีโดยไม่มีการละเว้น

ส่วน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร เพราะเป็นการแสดงความเห็นของประชาชนที่มีความหลากหลาย สามารถทำได้ สามารถคิดต่างได้ แต่ต้องคิดให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยากเห็นประเทศไทยมีความสามัคคี

หากเผด็จการคงไม่มาอย่างนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งไม่ตอบคำถามกรณีเพลง “ประเทศกูมี” มาหลายวัน จนกระทั่งยอดวิวเพลงพุ่งทะลุ 20 ล้านวิว กล่าวก่อนการประชุม ครม.สัญจรที่พะเยา (30 ตุลาคม) ว่า อย่าสนใจโลกโซเชียลที่มีการโพสต์และแชร์เพลงแร็พที่กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาล จะมีเพลงอะไรออกมาก็ปล่อยไป ยิ่งสนใจก็ไปกันใหญ่ ฟังแล้วอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่ ไม่ใช่มาอ้างว่ามีเสรีภาพ ไร้ขีดจำกัดแล้วจะทำอะไรก็ได้ วันหน้าจะเดือดร้อน หากทุกฝ่ายออกมาอ้างแบบนี้ ขออย่าเป็นเครื่องมือคนอื่น ที่ผ่านมามันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ ดังนั้น ไม่ต้องไปสนใจ ตนเผด็จการมากเลยเหรอ หากเผด็จการคงไม่มาอย่างนี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงว่าอาจมีการเลียนแบบเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการเอาผิดใดๆว่า เรื่องแร็พอะไรต่างๆตนไม่สนใจ ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้ อยากแสดงอะไรก็แสดงกันไป ตนจะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าไปปิดกั้นอะไรต่างๆ กฎหมายจะเป็นตัวกำหนด ตนไม่จำเป็นต้องไปสั่งการอะไรกับใครทั้งนั้น คนไหนก็ตามที่ชื่นชมก็ต้องรับผิดชอบด้วยว่าวันหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในประเทศไทย จะหนักขึ้นเรื่อยๆหรือเปล่า อะไรที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับประเทศไทย

ทั้งด่าและชื่นชม

เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ปลุกทั้งกระแสสังคมและกระแสการเมืองให้ร้อนระอุอย่างยิ่ง เพราะมีเกือบทุกสาขาอาชีพที่ออกมาแสดงความเห็นไม่ว่าจะไม่เห็นด้วยหรือสนับสนุน

อย่างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือ นางศศิวิมล อยู่คงแก้ว ภริยา พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ ผบ.หน่วยซีล ที่ร่วมภารกิจช่วยเหลือ “13 ทีมหมูป่า” ที่ถ้ำหลวง และยังเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ค Thai NavySEAL ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงช่วยเหลือทีมหมูป่า ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค “Sasivimon Youkongkaew” โดยตั้งค่าสาธารณะว่า “ประเทศกูมี” เรื่องราวดีๆมากมายทำไมไม่เอามาพูดวะ ฟังแล้วเดือด มันล้างสมองด้วยเสียงเพลง เกมการเมืองยุค 4.0

หลังโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งยังวิจารณ์ “คนรุ่นใหม่” คิดว่าเป็นขบถแล้วเท่ โดยนางศศิวิมลได้ตอบกลับผู้ที่เห็นด้วยว่า “วิธีสื่อสารแบบนี้มัน impact มากค่ะ ใช้นักร้องแร็พดึงกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่รู้อดีตของประเทศชาติ พอฟังแล้วก็คล้อยตามไปด้วย และ “เวลาเห็นคนรุ่นใหม่คิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อสังคมและประเทศชาติ พี่ดีใจทุกครั้ง มันก็อยู่ที่คนรุ่นเราด้วยที่จะใส่อะไรเข้าไปในสมองเขา” แต่ล่าสุดโพสต์ดังกล่าวได้ถูกลบออกไปจากเฟซบุ๊คของนางศศิวิมลแล้ว

อดีตผู้พิพากษาไล่ออกนอกประเทศ

นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “..ผมเกิดและเติบโตในประเทศไทย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด และบรรพบุรุษที่เหนือไปกว่านี้ก็เกิดในประเทศไทยและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เกิดจนตาย..ผมจึงรักประเทศไทย รักวัฒนธรรมไทย รักภาษาไทย รักอาหารไทย รักทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งที่ดีงามในความเป็นไทย..ผมจึงเป็นคนประเภทชาตินิยม แต่ไม่ถึงกับคลั่งชาติ..ใครจะด่ารัฐบาล ด่านายกรัฐมนตรี ด่ารัฐมนตรี ด่านักการเมือง ด่าข้าราชการประจำ ก็ด่าไปเถอะ..แต่ถ้าด่าประเทศไทยผมรับไม่ได้

..ถ้าใครที่เห็นว่าประเทศไทยไม่ดี มีแต่สิ่งเลวร้าย บุคคลนั้นก็ไม่ควรอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป..บุคคลประเภทที่ประกาศว่าถ้ามีลูกจะไม่ให้อยู่และเรียนหนังสือในประเทศไทย ตัวเองก็ไม่ควรอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่หน้าด้านมาตั้งพรรคการเมือง มาทำกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทย..ใครที่เป็นเพื่อนผมในเฟซบุ๊ค หากท่านชื่นชอบเพลง “ประเทศกูมี” ที่ด่าประเทศไทยด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ซึ่งเป็นผลงานของพวกคอมมิวนิสต์หลงยุค กรุณาช่วยลบผมออกจากการเป็นเพื่อนด้วยครับ”

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย โพสต์ว่า “ผมบอกว่าการที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย แต่กลับมาแสดงออกว่ารังเกียจชิงชังและคิดทำร้ายแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเองแบบนี้ ถือว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง”

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์‏ @MallikaBoon ระบุว่า “พวกดารานักการเมืองทั้งหลายที่คิดจะโหนกระแสเพลงนี้ ประเทศกูมี ฟังแร็พทุกท่อนอย่างละเอียดแล้วหรือยัง ถามจริง! ไม่สังเกตอะไรเลยรึ เห็นภาพละเอียดหรือยัง ไม่สังเกตอะไรเลยรึ #โลกสวยหลบไป #มาตรา 116 สั่งสอนไปให้รู้ว่าผิดกฎหมาย อย่าหยุดดำเนินคดีเพียงเพราะกระแส ประเทศต้องมีกติกา”

แรงกระแทกกลับหลายอารมณ์

ส่วนผู้ที่ชื่นชมและสนับสนุนกลุ่มแร็พเปอร์ RAD ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการทำเพลงโดยยืนยันว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ “เราทำเพลง เราไม่ได้สร้างความไม่สงบเรียบร้อยหรือสร้างความวุ่นวายอยู่แล้ว” โดยพร้อมจะพบเจ้าหน้าที่หากมีการเรียกตัวไปสอบถามหรือดำเนินคดีที่ชี้ว่าทำร้ายประเทศหรือมีใครอยู่เบื้องหลัง โดยนายวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับหนังรุ่นเก๋า ทวีตว่า น้องๆชาวแร็พเปอร์เขายังกล้าทำ Rap Against Dictatorship แต่พวกเราชาวคนทำหนังยังไม่มีใครกล้าทำ Film Against Dictatorship กันบ้างเลย #ประเทศกูมี

“จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์” พิธีกรชื่อดัง ทวีตว่า ประเทศชาติไม่ได้เสียหายเพราะเพลงหรอก ประเทศชาติเสียหายเพราะทหารไม่รู้จักหน้าที่ มายึดอำนาจแล้วลิดรอนสิทธิเสรีภาพ คุกคามคนอื่น ประเทศชาติเสียหายเพราะรัฐประหาร ประเทศชาติเสียหายเพราะคนไม่เคารพกติกาและเสียงส่วนรวม

“ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค” นักแต่งเพลงชื่อดัง โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “ไม่เป็นไรน่า จะเพลงแร็พ เพลงหมอลำ ยุคนี้เดี๋ยวก็มาเดี๋ยวก็ไป..คนชอบก็ชม คนเกลียดก็ด่า แต่เพลงแค่นี้ทำลายชาติไม่ได้ดอกจ้ะ”

“ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี” พระเอกชื่อดัง ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ตอนนี้ฟังเพลง #ประเทศกูมี อยู่ครับ”

“ฟิล์ม-รัฐภูมิ” โพสต์ภาพและข้อความลงในอินสตาแกรมส่วนตัว @filmrattapoom ว่า เพลง “ประเทศกูมี” ทุกคนควรฟังครับ แม้จะมีสิ่งที่ดีๆอีกหลายมุมในประเทศไทย แต่นักแต่งเพลงในเพลงนี้เลือกหยิบมุมที่มันติดอยู่ในใจคนไทยทุกคนออกมาพูดผ่านเพลงได้ดีมาก ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆทุกๆคนนะครับ เก่งมากและพวกนายไม่ได้ผิดอะไร ไม่ต้องไปกลัว ประเทศไทยเป็นของพวกเราทุกคน เดี๋ยวไปหัดร้องก่อนนะ 5555

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ โพสต์หลัง “ประเทศกูมี” ยอดวิวทะลุ 10 ล้านก่อนเที่ยงคืนวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคมว่า นี่คือพลังในโลกไซเบอร์ที่ถูกมองว่า “ทำร้ายประเทศ” คสช. และ ปอท. จะให้ไปอยู่ที่ประเทศไหนกำลังรออยู่ ต่อไปนี้ก็กำลังรอว่า กกต. จะหาเรื่องยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่ และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์จะ Free & Fair มากน้อยแค่ไหน หวังว่าจะมีการแก้ไขและปรับเปลี่ยนกฎหมายคอมพิวเตอร์ฯและกฎหมายไซเบอร์ฯให้มีความสง่างามและเหมาะสมมากขึ้นในอนาคตอันใกล้!

นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม นักเขียนรางวัลศรีบูรพา พ.ศ. 2554 แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า เพลงประเทศกูมีน่าจะเป็นเพลงที่แสดงความอัดอั้นตันใจของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในสังคมได้ดีที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าทุกประโยค ทุกถ้อยคำ สามารถระบายความในใจของหลายคนได้ต่อสถานการณ์ในตอนนี้

แอดมินเพจชื่อดัง “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” ระบุว่า “เอาจริงๆนะ ด้วยความเคารพ ผู้ใหญ่ภาครัฐพลาดมากที่ไปแตะเรื่อง #ประเทศกูมี 5555555 กูกดฟังมาสามสี่วันแล้ว ฟังจบแล้วก็เออ แค่นั้น ก็ผ่านไป ไม่ได้ว้าว ไม่ได้แชร์อะไร เฉยๆ เพลงมันอยู่นิ่งๆ เงียบๆ แท้ๆ อยู่เฉยๆ ผู้ใหญ่ไปเตะ ไปดิ้นใส่มัน คราวนี้สนุกเลย 55555 ฟุ้งกระจายเต็มเน็ตไปหมด คนหันมาอยากฟังเพลงกันใหญ่ คนแม่งไม่เคยได้ยินแม่งก็ไปหาฟัง ก่อนหน้านี้มีอยู่แสนวิว พอผู้ใหญ่ในรัฐบาลบอกว่าสุ่มเสี่ยงจะเรียกมาคุยปุ๊บ ตอนนี้ไปล้านกว่าแล้ว เสาร์อาทิตย์กูว่าเกินสองล้านวิว 5555

แฮชแท็ก #ประเทศกูมี ว่อนไปหมด มีเอาไปทำโพล ลงข่าวทุกสื่อ แชร์กันรึ่มเต็มหน้าฟีดกูไปหมด แต่ละเรื่องในเพลงก็ไม่ใช่เรื่องตอแหล อาจจะมีใส่อารมณ์ ใส่สีสันไปบ้าง แดกดันไปบ้าง แต่เท่าที่ฟังส่วนใหญ่ก็จริงของมันนะ 5555 ถ้าใจกว้าง อยู่เฉยๆ นั่งเท่ๆ ยิ้มใจดี อบอุ่น รับฟังเสียงสะท้อนของวัยรุ่นมันบ้าง สิ่งที่มันพูดก็คือความรู้สึกของคนส่วนนึงในสังคมที่เค้าอึดอัดมาหลายปี ให้มันได้มีรูระบายบ้างเถอะ

ดีซะอีก รัฐจะได้รู้ว่าอะไรคนรู้สึกไม่ดีกะการทำงานของเรา และเอาไปแก้ไข ดีกว่ารอฟังข้าราชการรายงานเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าพูดจริงหรอก อวยไปดีกว่าปลอดภัย 55555 ไหนๆก็จะเลือกตั้งแล้ว ใจกว้างนิดน่า นะน้านะ มันก็แค่เพลงเพลงนึงก็แค่นั้น #เพจกูไม่มีนะ หมด 5555”

เพลงเพื่อชีวิตแบบ 14 ตุลา 6 ตุลา

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Prinya Thaewanarumitkul โดยตั้งคำถามเพลง #ประเทศกูมี เป็น “การแสดงออก” ที่ผิดกฎหมายหรือไม่ว่า “การแสดงออก” ซึ่งความคิดเห็นเป็น “เสรีภาพ” ที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรทุกฉบับได้รับรองไว้ที่มาตรา 34 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น..”

แต่สิทธิและเสรีภาพย่อมมีขอบเขต และขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยก็คือ ต้องไม่ละเมิดกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 25 มีขอบเขตเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับใดคือ การใช้สิทธิและเสรีภาพยังต้อง “ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” และ “ความสงบเรียบร้อย” อีกด้วย

กรณีนี้ไม่มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิผู้อื่น ก็มีแต่เรื่องละเมิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาเตือนว่าเพลงนี้อาจผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ แต่การที่ในเนื้อเพลงอาจมีบางข้อความที่มีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง (เช่น 30 บาทรักษาทุกโรคยังไม่ถูกยกเลิก หรือคดีเสือดำก็มีการดำเนินการอยู่) ก็ไม่น่าถึงขนาดผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพราะการนำ “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 ต้องก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน (มาตรา 14 (1)) หรือเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเศรษฐกิจของประเทศ (มาตรา 14 (2)) ด้วย

ถ้าจะบอกว่าเพลงนี้กระทบต่อ “ความมั่นคงของประเทศ” หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ เราก็ต้องแยกแยะก่อนว่าความมั่นคงของ “รัฐ” กับความมั่นคงของ “รัฐบาล” เป็นคนละเรื่องกัน เราไม่ควรจะ “ชังชาติ” หรือ “ว่าร้าย” ประเทศตัวเอง แต่การพูดถึงปัญหาของประเทศตนเองไม่ได้หมายความว่าเป็นการให้ร้ายประเทศตนเองเสมอไป ถ้าความตั้งใจคือการวิจารณ์รัฐบาลที่บริหารประเทศว่าทำไมทำให้เกิดปัญหานั้น

ผมเห็นว่าเพลงนี้ก็เป็นแค่การวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้ถึงกับทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ และจะว่าไปแล้วเพลงนี้ก็คือ “เพลงเพื่อชีวิต” แบบสมัย 14 ตุลา และ 6 ตุลานั่นแหละครับ แต่เป็นดนตรีแบบสมัยนี้ ข้อเท็จจริงในเพลงเพื่อชีวิตสมัยก่อนก็ไม่ได้ตรงทุกเรื่อง หลายเพลงที่มีเนื้อหาคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ปัจจุบันก็ยังร้องอยู่ ไม่ได้เป็นปัญหาตรงไหน

โดยสรุปคือ นี่เป็นแค่การแสดงออก จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ว่ากันไป แต่อย่าถึงขนาดจะเอามาติดคุกให้ได้เลยครับ แล้วก็อย่าไปกล่าวหาหรือใส่ร้ายป้ายสีอย่างมักง่ายว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง เว้นแต่ว่ามีหลักฐานก็ดำเนินคดีกันไปเลย และที่สำคัญกว่านั้นคือ ฝ่ายคนที่เห็นต่างก็อย่าไปขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ประเทศอื่น “เผด็จการ” ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นผู้มีอำนาจ แต่ “เผด็จการ” หมายถึงการเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ฟังคนอื่น ถ้ามีอำนาจขึ้นมาก็จะจับคนที่เห็นต่างมาขัง หรือถ้าไม่มีอำนาจก็อาจใช้ความรุนแรงใส่หรือไล่ไปอยู่ประเทศอื่นแบบนี้แหละครับ

ความเห็นต่างเป็นเรื่องปรกติในทุกสังคม การที่เราเห็นไม่เหมือนกันไม่ใช่ปัญหา เราไม่รักกันและไม่ต้องเข้าใจกันก็ได้ แต่ต้อง “เคารพกัน” ถ้าเคารพกัน ต่อให้ไม่เข้าใจกันก็ยังรักกันได้ หรืออย่างน้อยจะอยู่ร่วมประเทศกันได้อย่างสันติ เราจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็อย่าขับไล่ไสส่ง หรือ “เผด็จการ” ต่อกันและกันเลยครับ และนี่แหละครับคือรากฐานของความสำเร็จของ “ประชาธิปไตย” หรือการปกครองตนเองของเจ้าของประเทศ

นางชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทวีตว่า ‪เพลง #ประเทศกูมี สะท้อนความหวังและความสิ้นหวังของคน “รุ่นใหม่” ในสังคมไทยที่ต่างไปจากระเบียบสังคมที่คนรุ่นก่อนคุ้นเคย เข้าใจได้ที่หลายคนจะตื่นตระหนก แต่อย่าตกใจจนพานปิดหูคนอื่นในสังคมที่พร้อมจะฟังเสียงเช่นนี้ละกัน

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ได้แชร์โพสต์สั้นๆหลายครั้ง เช่น เพลง #ประเทศกูมี ไม่โกหก เพลงที่บอกว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” โกหก เพลงไหนล้างสมองและทำร้ายประเทศ?..ประชาชนจะยังคงหลงเหลือศักดิ์ศรีความเป็นคนไหมถ้าพวกเราไม่มีเสรีภาพพูดความจริง?..คำถามที่ประชาชนทุกคนต้องถามคือ ในศตวรรษที่ 21 เราประชาชนชาวไทยจะอยู่ร่วมโลกอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกับคนในสังคมนานาชาติที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากลกันอย่างไร หากเราไม่มีเสรีภาพในการพูดความจริง แม้แต่ผ่านงานศิลปะเช่นบทเพลง ฯลฯ

ถ้าจับก็พังกันหมด

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ชอบเพลง “ประเทศกูมี” ครับ เพลง “ประเทศกูมี” ไม่ดียังไง ทำไมถึงว่าขัด คสช. น่าสนใจ แต่ถึงยังไงผมก็ยังชอบเพลงนี้ ร้องเป็นแต่เพลงแหล่ แร็พไม่เป็น ไม่งั้นจะหัดร้องบ้าง”

นายจาตุรนต์ยังให้สัมภาษณ์ (27 ตุลาคม) ขณะที่ยอดวิว “ประเทศกูมี” ใกล้ทะลุ 10 ล้านวิวว่า ความเห็นทางสังคมขณะนี้ที่แบ่งเป็นสองฝ่าย มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและการเมืองในหลายๆเรื่อง และมีลักษณะประเด็นที่เข้มข้นแหลมคม เนื่องจากเนื้อหาพูดถึงความไม่ยุติธรรม กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย การจำกัดสิทธิเสรีภาพ การใช้กฎหมายเพื่อที่จะไปปิดปากคนและสกัดความคิดเห็น และการสังหารประชาชนที่หาคนผิดไม่ได้ ไม่มีใครถูกลงโทษ การรัฐประหารและปัญหาที่ตามมาในการแบ่งแยกและปกครอง การที่ประชาชนถูกแบ่งแยกเป็นฝ่ายและตกเป็นเหยื่อเหมือนๆกัน ซึ่งหลายส่วนน่าจะถูกใจคนกลางๆและคนชนชั้นกลาง นอกนั้นอาจจะถูกใจฝ่ายต่างๆที่อาจจะขัดแย้งกัน ที่สำคัญมีเนื้อหาในทางคิดสร้างสรรค์ ลีลาแร็พเร้าใจ ยิ่งยุค 4.0 ควรส่งเสริมคนรุ่นใหม่กล้าคิดกล้าทำ กล้าที่จะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองและมีส่วนร่วม จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า แต่การไปจับเขายิ่งจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเนื้อเพลงของเพลงนี้เป็นความจริง ใช้อำนาจปิดปาก

“ผมดูแล้วไม่เห็นจะผิดกฎหมายตรงไหน ไม่ว่าจะกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือคำสั่ง คสช. เพราะว่าไม่มีอะไรที่เป็นเท็จ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ติชม และยังเป็นแนวความคิดในทางสร้างสรรค์ และความจริงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ติชอบ ฝ่ายความมั่นคงกลัวเกินไปว่าจะเกิดแรงต่อต้านต่อการปกครองในปัจจุบันมากขึ้น ทั้งที่เป็นการติชมธรรมดา และบังเอิญเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง บางเรื่องเป็นการสร้างความเสียหายที่เราต้องยอมรับว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำ โดยเฉพาะการกระทำที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรม การเลือกใช้กฎหมาย การรัฐประหาร ถ้าจะโทษว่าความเสียหายนี้เป็นความผิดของใครก็ต้องโทษผู้กระทำความผิด ไม่ใช่ความผิดของผู้ที่สะท้อนวิพากษ์วิจารณ์ ผมคิดว่าการใช้มาตรการไปจับเขาจะทำให้เป็นการโฆษณาเพลงนี้ให้ดังมากขึ้น และยิ่งมีคนดูมากขึ้น จึงอยากจะบอก คสช. เพียงสั้นๆว่า อย่าไปจับประเทศกูมี ถ้าจับประเทศกูมีแล้วพวกคุณจะพังกันหมด”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้แข่งขันชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า บังเอิญเป็นคนที่ฟังเพลงแร็พสากลอยู่แล้ว จึงเข้าใจแนวทางของเพลงแนวนี้ซึ่งเป็นเช่นนี้ โดยเป็นความพยายามสะท้อนสังคม แต่ไม่ทราบว่าที่เป็นเรื่องขึ้นมาในขณะนี้ ที่ผิดกฎหมายนั้นเป็นประเด็นอะไร

“ความจริงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมนั้นทำได้ แต่ขอให้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ส่วนรูปแบบจะเหมาะสมหรือไม่ คนจะชอบหรือไม่ ผมเข้าใจความหลากหลาย เพราะแต่ละคนมีความหลากหลายทางความคิด ผมเองฟังเพลงแร็พสากลอยู่แล้ว ก็ดูว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปรกติ ส่วนใครจะชอบหรือไม่ชอบเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ไม่มีใครมีสิทธิทำผิดกฎหมาย ผมยังงงอยู่ว่าเรื่องที่บอกว่าทำผิดกฎหมายคือประเด็นอะไร และอย่างที่ผมบอก คนที่ฟังเพลงแร็พสากลเขามองเรื่องอย่างนี้เป็นปรกติ ผมขอย้ำว่าไม่มีใครมีสิทธิทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าบอกว่าใครวิพากษ์วิจารณ์สังคมตัวเองแล้วเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงคงไม่ใช่ แต่ความเหมาะสมนั้นเป็นความคิดของแต่ละคน เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาร้อง หรือสิ่งที่เขาได้แร็พ แล้วไปถึงขั้นจำกัดสิทธิ ถ้าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายมันก็ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ส่วนคนที่กล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายก็ต้องอธิบายว่ามันเป็นอย่างไร”

นายนคร มาฉิม พรรคเพื่อไทย กล่าวผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ประเทศกูมี เนื้อหาสาระคือความจริงที่ประเทศนี้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นจริงๆ ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนเกินเลยไปแม้แต่น้อย เพราะระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นเผด็จการ กดขี่ข่มเหงประชาชน ปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชน และพยายามครอบงำประเทศ ครอบงำประชาชน บิดเบือนประวัติศาสตร์และความจริงเพียงเพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องได้อยู่ในอำนาจต่อไป แต่ในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีเปลี่ยนไปแล้ว คนจะไม่ฟังเฉพาะที่เผด็จการต้องการล้างสมองเท่านั้น ความจริงที่ถูกบิดเบือน กดทับไว้ จึงสร้างความรู้ สร้างปัญญา สร้างความเท่าทันให้แก่คนในสังคม การตื่นรู้ของประชาชนจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายลงของระบอบเผด็จการที่จะเห็นในเร็ววันนี้ เรามานับถอยหลังการพังครืนของเผด็จการกัน

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ทวีตว่า คงไม่ใช่ขัดคำสั่ง คสช. แต่แมร่งขัดใจ ฟังแล้วจี๊ด #ประเทศกูมี

เรื่องจริงที่ประเทศกูมี

เว็บไซต์ iLaw ชี้ให้เห็นเนื้อหาเพลง “ประเทศกูมี” ว่า ไม่ได้กล่าวถึง คสช. หรือระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มีการถกเถียงในสังคมและสร้างความหวั่นไหวต่อ คสช. มาตลอด ซึ่งสะท้อนเรื่องจริง 7 ประการ พร้อมยกข่าวที่เกิดขึ้นจริงมาประกอบ (อ่านรายละเอียดที่ https://ilaw.or.th/node/4984)

1.ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะ rifle โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจับกุมเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และพวก พร้อมซากเสือดำ

2.ประเทศที่นาฬิกา รมต. เป็นของศพ เป็นข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งสิ้นจำนวน 25 เรือน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนาฬิกาแบรนด์หรูราคาระหว่าง 400,000-3,600,000 บาท แต่ทรัพย์สินดังกล่าวกลับไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้รายงานไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวน

3.ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 266 คน ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีทหารมากที่สุดคือ 142 คน คิดเป็นร้อยละ 58 ของทั้งสภา

4.ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ ซึ่ง คสช. ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2560

5.ประเทศที่ 4 ปีแล้วยังไม่เลือกตั้ง การเลือกตั้งที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ทั้งที่ คสช. เริ่มต้นบริหารประเทศด้วยคำสัญญาว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน”

6.ประเทศที่มีความสามารถเสกกฎหมายกลายเป็นข้ออ้าง คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองจำนวนมาก นับถึงวันที่ 21 กันยายน 2561 คสช. ออกประกาศ 128 ฉบับ ออกคำสั่ง 213 ฉบับ และออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 194 ฉบับ รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 535 ฉบับ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นเครื่องมือให้อำนาจทหารเข้าปราบปรามผู้เห็นต่างได้แทนกฎอัยการศึก

7.ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่ เพราะการบังคับใช้กฎหมายอย่างหนักหน่วงของ คสช. ที่มีต่อผู้เห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ คสช. กลายเป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้โดยปริยาย

ประเทศที่พูดความจริงไม่ได้

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Kasian Tejapira ว่า เราต้องการอยู่ในประเทศที่พูดความจริงได้ไม่ว่าผู้มีอำนาจอยากฟังหรือไม่!

ในประเทศที่การร้องความจริงเป็นอาชญากรรม จะเหลืออะไรที่ถูกกฎหมายนอกจากความเท็จ?

ในประเทศที่ความเท็จได้รับการส่งเสริมและบังคับให้เผยแพร่โพนทะนาเช้ายันค่ำ จะเหลือความรู้ความเข้าใจตัวเองที่เป็นจริงอยู่ตรงไหน?

ในประเทศที่ไม่รู้ไม่เข้าใจตัวเองอย่างที่เป็นจริง จะปกครองบริหารโดยไม่หลงทำร้ายตัวเองได้อย่างไร?

ในประเทศที่ปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองมีและพร่ำโฆษณาสิ่งที่เอาเข้าจริงตัวเองไม่มี จะวางแผนยุทธศาสตร์ไปข้างหน้า 20 ปีบนฐานนิยายเรื่องใด?

ในประเทศที่ปล่อยให้อำนาจตัดสินความจริง/ความเท็จ จะเหลืออะไรเป็นเกณฑ์ให้ไปเข้าใจและอธิบายโลกและตัวเองนอกจากตำแหน่งอำนาจ?

ในประเทศที่อำนาจเข้าใจความจริงและตัวเองอย่างที่อำนาจเองต้องการฟัง จะเหลือสติปัญญาและศีลธรรมอะไรคอยกำกับควบคุมอำนาจ?

ในประเทศแบบนี้จะเหลือความดี ความงาม ความจริง และความยุติธรรมอยู่ที่ไหน นอกจากในพันธนาการหลังซี่กรง?

#ประเทศกูมี “คนดี” ดิ้นพล่าน!

ปรากฏการณ์เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม โดยเฉพาะเนื้อเพลงที่พูดถึงสารพัดปัญหาภายใต้ “ระบอบเผด็จการ” ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สะใจและเข้าถึงประชาชนได้เท่ากับเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” จนมียอดวิวทะลุ 20 ล้านวิวไม่ถึงสัปดาห์

ยิ่งมีการข่มขู่จะเอาผิดก็ยิ่งทำให้มีคนเข้าไปดูและกดถูกใจอย่างมากมาย จนกระทั่ง “ผู้มีอำนาจ” ไม่กล้าเอาผิดกลุ่ม RAD หรือพยายามใช้กลไกอำนาจต่างๆปิดกั้นปิดปากเหมือนที่ผ่านมา เพราะเนื้อเพลงคือการสะท้อนความจริงของบ้านเมือง และสะท้อนการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการที่ประชาชนจำนวนมากไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก

ข้อความที่ปรากฏในเนื้อเพลงไม่ว่าจะเป็นความจริงหรืออาจคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ตาม แต่นั่นคือ “การแสดงความคิดเห็น” ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจรัฐจะมาปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ได้

ประชาชนย่อมมีสิทธิวิจารณ์รัฐบาลได้ รัฐบาลใดที่ให้วิจารณ์ไม่ได้ รัฐบาลที่พยายามจะข่มขู่ปิดกั้น รัฐบาลนั้นก็คือ รัฐบาลเผด็จการ

หากมีข้อความใด เนื้อความใดหมิ่นประมาทผู้ใด ก็ว่ากันไปตามกฎหมายปรกติได้ เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถออกมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะประเทศนี้เป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของ “ผู้มีอำนาจ” ไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งพยายามทำให้เชื่อว่าการรัฐประหารคือการแก้ปัญหาประเทศและให้ยอมรับ “การสืบทอดอำนาจ”

ปรากฏการณ์เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” จากยอดวิวไม่กี่แสน (ตั้งแต่ 22 ตุลาคม) ทะลักเป็นหลัก 6 ล้านวิวเพียง 1 วัน พุ่งทะลุ 10 ล้านวิวเพียง 4 วัน และทะลุ 20 ล้านวิว (30 ตุลาคม) คือเสียงสะท้อนว่าประชาชนไม่กลัวคำขู่ของเผด็จการ และยังเป็นคำตอบได้อย่างดีว่าประชาชนต้องการ “ระบอบเผด็จการ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตย”

หากกล่าวหาว่าเพลง “ประเทศกูมี” ใช้ถ้อยคำหยาบคายทำร้ายประเทศ ก็ต้องถามว่าแล้วเพลงของ “ทั่นผู้นำ” ที่เปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากรอกหูผ่านสื่อสาธารณะรวมการเฉพาะกิจทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ไม่ว่าจะชอบหรือชังก็ต้องทนฟัง เป็นการล้างสมองประชาชนยิ่งกว่าหรือไม่?

ก่อนจะดิ้นพล่าน! ลองฟังเนื้อเพลง “#ประเทศกูมี” ที่แร็พออกมาให้ดีๆ เขาไม่ได้ด่าประเทศ.. แต่กำลังสะท้อนความจริงว่าประเทศกำลังถูกระบอบเผด็จการทำร้าย

สรุปง่ายๆ.. เขาด่าพวกมึงนั่นแหละ!!??


You must be logged in to post a comment Login