วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

On November 1, 2018

คอลัมน์ : บทความพิเศษ

ผู้เขียน :  ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

(โลกวันนี้ฉบับพิเศษ ขึ้นปีที่20)

 

การกำหนดยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะทำให้สามารถขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มมากกว่าภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่สั่งการจากข้างบน การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้สามารถแก้ไขปัญหายากๆโดยเฉพาะปัญหาในเชิงโครงสร้างได้ เนื่องจากการปฏิรูปหรือการแก้ปัญหาบางเรื่องนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ หากสังคมสามารถหา “ฉันทามติ” กันได้ ย่อมลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์หรือความรุนแรงจากความขัดแย้งได้

ยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศภายใต้ระบอบรัฐประหารนั้นยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆที่ต้องทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปหลังการเลือกตั้ง ขาดความยืดหยุ่นและขาดการเปิดกว้างให้สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และตามเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้อย่างเหมาะสม ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพเพื่อให้ทหารเป็นทหารอาชีพเพื่อแก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนเรื่องการปฏิรูประบบและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่างสถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังขาดรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน และการเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

การเปิดกว้างให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันจนเกิด “ฉันทามติ” ในสังคมจะส่งผลให้ยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เพราะจะทำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย ผมได้เคยร่วมคิดในการวางแผนทำยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ก็ทำอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม (Participation) ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบ (Accountability) ความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) ความเป็นธรรมของกฎระเบียบ (Fair Regulatory) ความเป็นนิติรัฐ (Rule of Law) เน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) ทั้งหมดนี้เรียกว่าหลักธรรมาภิบาลในการกำหนดนโยบาย ในขณะที่แผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เนื้อหาในแผนการปฏิรูป 11 ด้านของรัฐบาล คสช. ระบุถึงการดำเนินการเรื่องการกระจายอำนาจน้อยเกินไป เป้าหมายหลักของการปฏิรูปต้องมุ่งไปที่การปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น

การยึดถือแนวทางการปฏิรูปเช่นนี้จะนำมาสู่การเกิดดุลยภาพเชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ แผนปฏิรูปของรัฐบาล คสช. ไม่ได้พูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมากเพียงพอ ซึ่งปัญหาความอยุติธรรมนี้นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมในทุกด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจ และด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

5-02

แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติไม่ว่าจะสั้นหรือยาวต่อไปจะต้องตอบโจทย์ปัญหากับดักเชิงโครงสร้างของไทยในอนาคตให้ได้ การเตรียมรับมือกับกับดักปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบสถาบันต่างๆและการเมือง รัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ขณะนี้ยังไม่มีทางออกหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะแก้ไขปัญหากับดักเชิงโครงสร้างอย่างไรในระยะยาว เช่น ปัญหาจากโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาจากเสถียรภาพระบบการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน ปัญหาการศึกษาและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ทำให้ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่งปัญหาหลายประการจะทยอยปะทุขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าช่วงหนึ่ง และ 10-20 ปีข้างหน้าอีกช่วงหนึ่ง โดยที่ระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ในมิติด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมรวมทั้งภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยนปัจจัยที่กำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนทางด้านนวัตกรรม การลงทุนทางด้านการศึกษาและวิจัย ขณะที่ไทยมียอดการเกินดุลการค้าสูงมาก สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นช้ามาก เอกชนไม่กล้าลงทุน ไม่สั่งนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ ไม่สั่งนำเข้าเครื่องจักร มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูงติดอันดับโลก แรงงานระดับล่างและเกษตรกรรายย่อยมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มีสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้สูงมาก มิติทางด้านการศึกษา เด็กกว่า 40% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กไทย 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียนมีพัฒนาการต่ำกว่าวัย

2 ใน 3 ของครอบครัวไทยไม่สามารถมีเงินส่งลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ มีความไม่เสมอภาคทางการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทสูงมาก ทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอย่อมไม่สามารถแบกรับภาระที่มากขึ้นของโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ดีนัก การปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-11% ของจีดีพี (จาก Thailand Future Analysis จากผลการศึกษาของ Hanushek and Woessman 2010) กับดักโครงสร้างทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

5-03

5-04

ยุทธศาสตร์ 6 ประการของแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี (บรรลุเป้าหมายและสิ้นสุดปี พ.ศ. 2579) ที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ผมเห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วน แต่ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นยุทธศาสตร์พื้นฐาน ไม่มีอะไรแปลกใหม่ อาจไม่สามารถตอบสนองต่อพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ที่พลิกผันระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต ระบบการเงิน และระบบการเมืองได้ดีนัก รวมทั้งยังติดกรอบคิดแบบราชการและอนุรักษ์นิยม รวมทั้งอาจไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างและฐานรากอย่างแท้จริง

การกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวนั้นต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะแวดล้อมในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป การไปกำหนดไว้ในกฎหมายให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ในระบอบประชาธิปไตยนั้นเราต้องยอมรับเสียงของประชาชนที่สะท้อนการเลือกผู้บริหารประเทศว่า ประชาชนต้องการรัฐบาลแบบไหน บริหารประเทศแบบไหน เป็นการเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชน

ผมเห็นว่าประเทศควรมีมากกว่า 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ 15 ปี (พ.ศ. 2561-2575) ที่ผมเคยศึกษาเตรียมเอาไว้เมื่อทำหน้าที่กรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2549 หรือเมื่อเกือบ 12 ปีมาแล้ว มีทั้งหมด 10 ยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอำนาจและส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคง

ยุทธศาสตร์ที่สอง ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเอา “คุณภาพชีวิตของพลเมือง” เป็นศูนย์กลาง (โดยให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยในระยะ 15 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 5-6%)

ยุทธศาสตร์ที่สาม ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและ Greater Thailand/New Siam ยุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล คสช. แต่ยุทธศาสตร์ที่ผมศึกษาวิจัยและคิดไว้นี้จะรวมแผนยุทธศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมและภาษาด้วย รวมทั้งการสร้างพลังเครือข่ายสยามและเชื้อชาติไทยอีกด้วย

ยุทธศาสตร์ที่สี่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเครือข่ายความร่วมมือ ยุทธศาสตร์ลดอำนาจการผูกขาด สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มการแข่งขัน เสรีภาพในการประกอบการ

ยุทธศาสตร์ที่ห้า ยุทธศาสตร์ด้านลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

ยุทธศาสตร์ที่หก ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย และการปรับโครงสร้างประชากรให้เหมาะสม

ยุทธศาสตร์ที่เจ็ด ยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง

ยุทธศาสตร์ที่แปด ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคการเมือง

ยุทธศาสตร์ที่เก้า ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาหาร การท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ของโลก และ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ยุทธศาสตร์ที่สิบ ยุทธศาสตร์บูรณาการสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ส่วนแผนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านของ คสช. ยังไม่มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องปรับแก้สิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำเอาไว้ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนสำคัญในการจัดการการศึกษา ทรัพยากรของชุมชน ตลอดจนการพัฒนาองค์กรประชาชนให้เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา

การกระจายอำนาจตามความหมายนี้ก็คือ การเพิ่มอำนาจประชาชนและลดอำนาจรัฐนั่นเอง

ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณเสียใหม่ให้ลงสู่พื้นที่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดเป้าหมายด้านคุณภาพชีวิต เพื่อให้ทุกคนมีหลักประกันในชีวิต เกิดสันติธรรม และประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ลดอำนาจผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำ และมุ่งหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ อันเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงของประชาธิปไตยทางการเมือง


You must be logged in to post a comment Login