วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อนาคตของเผด็จการ อนาคตของประชาธิปไตย อนาคตของการเปลี่ยนผ่าน

On November 1, 2018

คอลัมน์ : บทความพิเศษ

ผู้เขียน :  ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

(โลกวันนี้ฉบับพิเศษขึ้นปีที่20)

คาดว่าอีกไม่นานนี้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น

อย่าเพิ่งคิดง่ายๆว่าการเลือกตั้งนั้นหมายถึงการเปลี่ยนผ่านกลับสู่ประชาธิปไตย

ไม่มีการเลือกตั้งอะไรที่จะกลับสู่ประชาธิปไตยได้ง่ายๆ ถ้าประชาชนไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือก และจับตาสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

เป้าหมายสำคัญของการเลือกตั้งคืออะไร? คำตอบไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่การเลือกตั้งต้อง “เสรี” (free) และ “เป็นธรรม” (fair) เท่านั้น

แต่การเลือกตั้งจะต้อง “สม่ำเสมอ” (regular) และ “มีความหมาย” (meaningful) ด้วย

อธิบายง่ายๆ ไม่ใช่แค่มีผู้สมัครให้เราเลือกมากกว่า 1 คน และมีกติกาที่ทุกฝ่ายนั้นหาเสียงได้ ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก

แต่จะต้องรู้ว่าจะมีเมื่อไรในครั้งนี้และครั้งหน้า (อาจมีเร็วขึ้นได้ แต่ช้าออกไปจากเงื่อนเวลาที่กำหนดไม่ได้ มี “term limit” เช่น ไม่เกิน 4 ปี)

ที่สำคัญคือ การเลือกตั้งนั้นจะต้องมีความหมายต่อประชาชนในประเทศ เพราะเขาจะต้องมีความหวังว่าการเลือกตั้งนั้นคือการเลือกรัฐบาล และเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ประเด็นสำคัญก็คือ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเรา ถ้าดูเฉพาะการจัดการเลือกตั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่พอจะเข้ามาตรฐานสากลขั้นต่ำได้ว่าคงจะมีพรรคการเมืองมากกว่า 1 พรรคที่ลงแข่งขัน และการซื้อสิทธิขายเสียงก็คงจะถูกรายงาน และมีการดำเนินคดี

แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ประชาชนจะรู้สึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่าการเมืองหลังการเลือกตั้งไม่ใช่มีแต่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของกติกาในการชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลด้วย

ประชาชนจะเริ่มรู้สึกขึ้นเรื่อยๆว่า ต่อให้เขาเลือกพรรคหนึ่งมากกว่าอีกพรรคหนึ่ง แต่วุฒิสภา 250 เสียงในรอบนี้ก็จะถูกคัดเลือกจากคณะรัฐประหาร และจะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ประชาชนจะเริ่มรู้สึกขึ้นเรื่อยๆอีกว่า นโยบายต่างๆที่พรรคการเมืองจะนำเสนอนั้นจำต้องเชื่อมโยงและไม่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ

แต่ที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้จะไม่มีความหมายเสียเลย เพราะในท้ายที่สุดแต่ละฝ่ายก็อาจจะพยายามให้ความหมายกับการเลือกตั้งในแบบที่เราคาดไม่ถึงมากขึ้น อาทิ การเลือกตั้งเพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนระบอบที่ผ่านมา หรือการเลือกตั้งเพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่เอาระบอบที่ผ่านมา หรือต้องการจะลบล้างผลพวงการรัฐประหารที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

8-02

ประเด็นที่สำคัญก็คือ อนาคตของการเปลี่ยนผ่านนั้นอาจไม่ใช่ทั้งเรื่องของการกลับสู่ประชาธิปไตย หรือการที่เผด็จการสืบสานอำนาจต่อไป

แต่อาจมีความสลับซับซ้อนได้ในแง่ของการที่อาจเปิดระบบที่เป็นลักษณะผสมที่เรียกว่า “หัวมังกุท้ายมังกร” (hybrid)

เช่น เป็นเผด็จการที่มีหน้าตาเป็นประชาธิปไตย คือเปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายนักการเมืองก็หันไปเสนอชื่อคนนอกเข้ามาเป็น เพราะจำนนต่ออำนาจ หรือต้องการสร้างเครือข่ายอำนาจร่วมกัน

เป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (illiberal democracy) หรือเป็นประชาธิปไตยที่คำนึงถึงแต่เสียงข้างมาก ไม่คำนึงถึง “ศีล” ข้ออื่นๆที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากกว่าความเป็นเสียงข้างมาก เช่น คำนึงถึงความแตกต่าง คำนึงถึงเสียงข้างน้อย คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงหลักนิติธรรม

เป็นเผด็จการที่เปิดให้มีการแข่งขัน (competitive authoritarianism) คือเป็นระบอบการปกครองที่เปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่เลือกตั้งอย่างไรฝ่ายรัฐบาลก็ชนะ เพราะได้เปรียบในทุกๆทาง และสื่อไม่ได้ออกมาท้าทายอำนาจรัฐเพื่อประกาศจุดยืนต่อประชาธิปไตย ฝ่ายค้านอาจถูกกดดันให้ออกนอกประเทศ

ยังมีแนวทางอื่นๆอีกมากมายที่อาจเปิดระบบขึ้นได้จากการเลือกตั้งในรอบนี้ และจากการเปลี่ยนผ่าน หรือเปลี่ยนไม่ผ่าน หรือเปลี่ยนเป็นระบอบผสมแบบอื่นๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

แต่ในรอบนี้การเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งในหลากหลายรูปแบบน่าจะทำให้การเลือกตั้งมีความหมาย และเป็นความหมายที่ฝ่ายผู้กุมอำนาจคาดไม่ถึง อีกทั้งโครงสร้างอำนาจที่คาดว่าจะถูกจัดวางเอาไว้อาจจะไม่ง่ายอย่างที่ฝ่ายผู้กุมอำนาจคิด

อย่าเพิ่งถอดใจกันไปเสียก่อนเท่านั้นแหละครับ


You must be logged in to post a comment Login