วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2567

สงครามเกลือ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On October 5, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข  ประจำวันที่ 5-12 ตุลาคม 2561)

ในสงครามกลางเมืองอเมริกาทหารฝ่ายใต้รู้สึกขบขันที่กองทัพเรือฝ่ายเหนือโอบล้อมชายฝั่งเพื่อสกัดกั้นเรือสินค้าต่างชาติ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่ารัฐทางตอนใต้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าเหล่านั้น แต่เป้าหมายที่แท้จริงของฝ่ายเหนือคือสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายใต้มี “เกลือ”

สมัยศตวรรษที่ 19 รัฐทางตอนเหนือของอเมริกาเป็นแหล่งผลิตเกลือแหล่งใหญ่ของประเทศ เทศมณฑลออนดากาในรัฐนิวยอร์กเพียงแห่งเดียวผลิตเกลือได้มากถึง 315 ล้านกิโลกรัม ขณะที่รัฐทางตอนใต้ได้เกลือจากเรือบรรทุกสินค้าต่างชาติที่แล่นเรือเปล่ามารับฝ้ายโดยใช้เกลือเป็นตัวถ่วงท้องเรือขามาเพื่อป้องกันเรือโคลงขณะแล่นอยู่ในท้องทะเล

สงครามกลางเมืองอเมริกาปะทุขึ้นในเดือนเมษายน 1861 กองทัพเรือฝ่ายเหนือส่งเรือ 264 ลำ ลาดตระเวนตามชายฝั่งเพื่อสกัดกั้นไม่ให้รัฐฝ่ายใต้ส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากต่างชาติ ในตอนแรกทหารฝ่ายใต้หัวเราะเยาะกลยุทธ์ของฝ่ายเหนือ เพราะรัฐทางตอนใต้มีอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินค้านำเข้า แต่หลังจากนั้นไม่นานก็รู้ตัวว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาไม่ใช่ตัวสินค้า หากแต่เป็นเกลือที่เรือสินค้าใช้ถ่วงท้องเรือ

สมัยศตวรรษที่ 19 เกลือไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องปรุงรสชาติอาหารเท่านั้น มันยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังก่อนจะนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องใช้ เช่น อานม้าและรองเท้า เป็นต้น

ก่อนจะมีการประดิษฐ์ตู้เย็น เกลือถูกใช้สำหรับเก็บรักษาอาหารไม่ให้บูดเน่าเร็วเกินไป เนื้อสัตว์จะถูกหมักด้วยเกลือทันทีที่ออกจากโรงเชือด และเกลือยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเนย ในสมัยนั้นนับได้ว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ใช้เกลือมากที่สุดในโลก

ขาดเกลือขาดเสบียง

การปิดล้อมน่านน้ำรัฐทางตอนใต้ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนเกลืออย่างหนัก จากเดิมเกลือน้ำหนัก 200 ปอนด์ มีราคา 50 เซ็นต์ หลังจากกองทัพเรือฝ่ายเหนือปิดกั้นน่านน้ำชายฝั่งทะเล ราคาเกลือถีบสูงขึ้นเป็น 25 ดอลลาร์ หรือสูงขึ้น 50 เท่าตัว

รัฐทางตอนใต้ใช้เกลือราว 200 ล้านกิโลกรัมต่อปี วิกฤตขาดแคลนเกลือทำให้กองทัพไม่สามารถเคลื่อนกำลังพลได้ เพราะไม่มีเกลือเพียงพอให้ทหารทุกคนใช้ถนอมอาหารที่ต้องใช้ประมาณ 100 กรัมต่อคน สำหรับการเดินทาง 3 วัน บางคนจำเป็นต้องนำเกลือมาใช้ซ้ำ เช่น ขูดเกลือออกจากเนื้อสัตว์ที่หมักไว้ก่อนจะนำไปประกอบอาหาร เพื่อนำเกลือกลับมาใช้หมักเนื้ออีกครั้ง

รัฐบาลรัฐทางตอนใต้ตั้งเงินรางวัลให้กับผู้ที่สามารถหาแหล่งโดมเกลือได้ และจัดให้มีการทำเหมืองเกลือและนาเกลืออย่างเร่งด่วน ผู้ที่สมัครใจทำงานในเหมืองเกลือหรือนาเกลือได้รับการยกเว้นไม่ต้องเป็นทหาร แรงงานทาสผิวดำจำนวนมากถูกเกณฑ์ให้มาทำงานในเหมืองเกลือและนาเกลือ เฉพาะนาเกลือริมชายฝั่งรัฐฟลอริดาใช้แรงงานมากถึง 5,000 คน และนาเกลือริมอ่าวรัฐแอละแบมาใช้แรงงาน 5,000 คนเช่นเดียวกัน

การผลิตเกลือในสมัยนั้นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก และเป็นงานที่หนักหนาสาหัส เช่น การก่อสร้างเตาเผา การขนน้ำทะเล การตัดฟืนจากป่าแล้วขนกลับมาที่เตาเผา ด้วยเหตุนี้แรงงานส่วนใหญ่จึงเป็นแรงงานทาส

แรงงานทาสบางคนหลบหนีออกมาแจ้งข่าวกับกองทัพฝ่ายเหนือ ทำให้ฝ่ายเหนือจัดตั้งกองกำลังทหาร 20,000 นาย ปฏิบัติภารกิจทำลายเหมืองเกลือและนาเกลือของฝ่ายใต้ ขณะที่ฝ่ายใต้นำอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการผลิตเกลือไปซ่อนไว้ในบึงน้ำเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทหารฝ่ายเหนือทำลาย

เป้าโจมตี

รัฐบาลฝ่ายใต้รณรงค์ให้ประชาชนใช้เกลืออย่างประหยัด เช่น แนะนำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ริมทะเลใช้น้ำทะเลทำอาหาร บริโภคเนื้อกระป๋องเพราะไม่ต้องใช้เกลือปรุงรส หนังสือพิมพ์เขียนบทความแนะนำเมนูอาหารที่ไม่ต้องใช้เกลือ

ต้นปี 1862 ดาเนียล อเวรี พบโดมเกลือโดยบังเอิญ มันอยู่ใต้ดินลึกลงไปราว 15 ฟุตบริเวณอเวรีไอแลนด์ อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ดาเนียลจึงชักชวนลูกเขย เอดมุนด์ แมคอิลเฮนนี ลงทุนทำเหมืองเกลือ ซึ่งเหมืองเกลือแห่งนี้ผลิตเกลือได้มากเป็นอันดับต้นๆ

เดือนกรกฎาคม 1862 กองทัพฝ่ายเหนือพุ่งเป้าการโจมตีไปที่เหมืองเกลือและนาเกลือของฝ่ายใต้ เมื่อถึงเดือนธันวาคม 1863 กองทัพฝ่ายเหนือทำลายแหล่งผลิตเกลือมากกว่า 350 แห่ง เหมืองเกลือของดาเนียลก็เป็นหนึ่งในนั้น การขาดแคลนเกลือส่งผลให้ขาดแคลนเนื้อสัตว์ เพราะไม่สามารถเก็บรักษาเนื้อสัตว์หลังจากเชือดแล้วได้ ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่าง เพราะพวกเขากำลังจะอดตาย

ยิ่งไปกว่านั้นเกลือยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงกำลังพลม้าในกองทัพ เมื่อขาดเกลือสัตว์เหล่านี้จะล้มป่วย การขาดแคลนเกลือทำให้กองกำลังทหารฝ่ายใต้อ่อนแอ การสูญเสียแหล่งผลิตเกลือแหล่งใหญ่ในเมืองซอลท์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย เมื่อเดือนธันวาคม 1864 ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายใต้พ่ายแพ้

หลังจากเหมืองเกลือในอเวรีถูกทำลาย เอดมุนด์ก็หันเหไปปลูกผักทำสวนจนไปได้เมล็ดพันธุ์พริกไทยชั้นดีจากรัฐตาบัสโก ประเทศเม็กซิโก เขามันนำมาเป็นส่วนประกอบหลักในการทำซอสพริกยี่ห้อ Tabasco ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในส่วนผสมที่ใช้ปรุงแต่งรสชาติซอสคือเกลืออเวรีจากเหมืองเกลือที่เขาร่วมลงทุนทำกับพ่อตาเมื่อหลายปีก่อน

1

การทำนาเกลือในนิวยอร์ก

2

เรือรบฝ่ายเหนือยิงถล่มโรงผลิตเกลือ

3

โรงผลิตเกลือของฝ่ายใต้

4

นาเกลือในนิวยอร์ก

5

โรงผลิตเกลือซอลท์วิลล์

6

แรงงานทาสในโรงผลิตเกลือ

7

เหมืองเกลืออเวรี

8

เอดมุนด์ แมคอิลเฮนนี

9

ซอสพริกตาบัสโก

 


You must be logged in to post a comment Login