วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

มองข้ามช็อต

On August 6, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เกมชิงอำนาจหลังการเลือกตั้งถูกมองข้ามช็อตไปถึงการเล็งหาบุคคลที่เหมาะสมมานั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรกันแล้ว เพื่อต้องการคนไว้ใจได้มาคุมเกมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากคำนวณผลเลือกตั้งแล้วคาดว่าจำนวน ส.ส. ในกลุ่มสนับสนุนอำนาจปัจจุบันจะมีตัวเลขสูสีกับพรรคเพื่อไทย เมื่อเป็นเช่นนี้การชิงตำแหน่งประธานสภาจึงเป็นศึกแรกที่ต้องชนะให้ได้ เพราะคนเป็นประธานสภามีความสำคัญ เนื่องจากสามารถเขียนบทให้ ส.ส. พวกเดียวกันเล่น เพื่อให้เข้าเงื่อนไขลากเอา ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งรอไว้ 250 คน เข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกฯได้

กำลังได้ภาพว่าถึงจะมาจากการทำรัฐประหาร แต่ต่างชาติก็ให้การยอมรับไม่แพ้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ๆก็เกิดคลื่นแทรกเมื่อสื่อหลักของอินโดนีเซียอย่าง Jakarta Post ตีพิมพ์บทความอย่าให้ผู้นำเผด็จการทหารไทยนั่งเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอาเซียนโดยรวม ขาที่กำลังจะลอยพ้นพื้นถูกกระชากตกลงมาให้อยู่กับความเป็นจริง

ต้องดูต่อไปว่าชาติสมาชิกอาเซียนจะว่าอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะตามรอบการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นคิวของผู้นำประเทศไทยที่จะรับไม้ต่อจากผู้นำสิงคโปร์ โดยพิธีส่งมอบตำแหน่งจะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการได้เป็นหรือไม่ได้เป็นประธานอาเซียนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะส่งผลต่อกระแสการเมืองในไทยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะมีการเลือกตั้งค่อนข้างมาก

พูดถึงเรื่องการเลือกตั้ง แม้ล่าสุด “ทั่นผู้นำ” จะเปรยออกมาทำนองว่าถ้ามีตีกันอาจไม่มีเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าชั่วโมงนี้แค่ตีกันหัวแตกคงทานกระแสความต้องการเลือกตั้งของคนไทยและแรงกดดันของนานาชาติไม่ไหว อย่างไรก็ต้องจัดเลือกตั้งตามกำหนดแน่ เว้นแต่ว่าจะรุนแรงถึงขั้นนองเลือด แต่เมื่อพิจารณาแล้วยังมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะนำไปสู่การนองเลือดได้

ยิ่งเมื่อดูความมั่นใจของฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้กลับมานั่งเก้าอี้นายกฯหลังการเลือกตั้งด้วยแล้วยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่ามีเลือกตั้งค่อนข้างแน่

ทั้งนี้ มีคนใกล้ชิดกับ 1 ใน 3 ของกลุ่มอำนาจปัจจุบันได้คาดการณ์ตัวเลข ส.ส. ออกมาว่า พรรคพลังประชารัฐที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์สุดตัวจะได้จำนวน ส.ส. ในสภาประมาณ 200 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนที่สูสีกับคู่แข่งสำคัญในการแย่งอำนาจอย่างพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคตัวแปรสำคัญอย่างประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. ประมาณ 100 เสียง

มีความมั่นใจถึงขนาดมองข้ามช็อตไปแล้วว่าจะให้ใครรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคุมเกมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา

หากเป็นไปตามที่คนใกล้ชิดสายอำนาจคาดการณ์ เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส. 500 คน เท่ากับว่าในสภาจะมีพรรคการเมืองแค่ 3 พรรค ซึ่งในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะไม่มีที่นั่งในสภา

อย่างไรก็ตาม หากผลเลือกตั้งออกมาตามที่ผู้ใกล้ชิดกลุ่มอำนาจคาดการณ์ การตั้งรัฐบาลก็อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะพรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ยอมเป็นเสาค้ำยันอำนาจให้ใครง่ายๆ เพราะเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาด้วยการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองให้มีความชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หรือเป็นพรรคการเมืองที่ยึดประโยชน์ทางการเมืองเป็นที่ตั้ง

นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์จะปักจุดยืนทางการเมืองให้เกิดความชัดเจน หากหลังเลือกตั้งนำเสียง ส.ส. ไปโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะอ้างได้ว่าเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามกติกา แต่จะถูกประทับตราชัดเจนว่าไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เชื่อว่าฝ่ายคุมอำนาจก็ทราบเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างดี จึงมองข้ามช็อตหาคนที่จะมาเป็นประธานสภาเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อเข้ามาคุมเกมโหวตเลือกนายกฯ เพราะคนเป็นประธานสภาสามารถเขียนบทให้ ส.ส. พวกเดียวกันเล่นเพื่อให้เข้าเงื่อนไขลากเอา ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งรอไว้ 250 คน เข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วยได้


You must be logged in to post a comment Login