วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คสช.โมเดล

On August 2, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังแจ้งความดำเนินคดีแอดมินเพจพรรคอนาคตใหม่และแอดมินเพจธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตามฐานความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ล่าสุด คสช. เพิ่มชื่อนายพิชัย นริพทะพันธุ์ หนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ต้องหาตามฐานความผิดเดียวกัน ชัดเจนว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. และรัฐบาล โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ หากเป็นคำวิจารณ์ที่มีช่องโหว่จะตกเป็นผู้ต้องหาทันที แม้จะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายแต่คงไม่พ้นถูกมองเป็นเรื่องการเมือง หากบทสรุปของคดีเป็นไปตามที่ คสช. ต้องการ อาจกลายเป็น “คสช.โมเดล” ให้ฝ่ายการเมืองเพิ่ม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นอีกหนึ่งอาวุธใช้ต่อสู้ทางการเมือง

สร้างกระแสฮือฮาทางการเมืองได้เป็นอย่างดีกับการส่งหนังสือถึงทางการอังกฤษขอให้ส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมารับโทษในไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

แม้ทุกคนจะรู้คำตอบล่วงหน้าดีอยู่แล้ว แต่ก็เป็นประเด็นการเมืองให้พูดถึงกันในหลายแง่มุม

ไม่ว่าจะพูดกันในแง่มุมไหน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเข้าใจเหมือนกันคือการ “ทำตามหน้าที่” เหมือนกับที่ขอส่งตัว ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯผู้พี่ ที่พยายามทำกันมาอย่างต่อเนื่องในหลายรัฐบาล

ตัดฉากมาที่การเมืองในประเทศไทย หลังผู้ดูแลหรือเจ้าของเพจ “อนาคตใหม่ – The Future We Want” กับพวก และผู้ดูแลหรือเจ้าของเพจ “Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความเอาผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

ล่าสุด คสช. ใช้กฎหมายฉบับเดียวกันแจ้งความเอาผิดนายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วทั้ง 2 คดีนี้จะจบอย่างไร แต่ที่แน่ๆการแจ้งความเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เหมือน คสช. ต้องการส่งสัญญาณว่าจากนี้ไปการสื่อสารกับประชาชนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ หากมีเนื้อหาล่อแหลมที่ คสช. เห็นว่าเป็นความเท็จ ก่อให้เกิดความเสียหาย จะเข้าแจ้งความดำเนินคดี นอกจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้วยังมีกฎหมายอาญา มาตรา 116 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น เป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญที่จะใช้คุมสถานการณ์ก่อนเลือกตั้ง

เมื่อส่งสัญญาณออกมาอย่างนี้ทำให้เชื่อได้ว่าจากนี้ไปจะมีการแจ้งความเอาผิดกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช. มากขึ้น ทำให้การสื่อสารกับประชาชนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและ คสช. ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้น เรียกได้ว่าเผลอการ์ดตกเมื่อไรโดนสวนด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญา มาตรา 116 แน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากมองกรณีนี้เปรียบเทียบกับการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” จะเห็นความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือการ “ทำตามหน้าที่” ของผู้เกี่ยวข้อง แต่การ “ทำตามหน้าที่” ในกรณีนี้มีความต่างจากการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอดีตนายกรัฐมนตรีตรงที่ว่าถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครเอาผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่

การทำตามหน้าที่ของ คสช. แม้จะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่คงไม่พ้นถูกมองเป็นเรื่องการเมือง และหากบทสรุปสุดท้ายของคดีเป็นไปตามที่ คสช. ต้องการ อาจกลายเป็น “คสช.โมเดล” ให้ฝ่ายการเมืองเดินตาม จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆของการต่อสู้ทางการเมืองในอนาคตได้


You must be logged in to post a comment Login