วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แค่ภาพลวงตา?

On July 25, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การประชุม ครม.สัญจรที่ถูกค่อนแคะว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงและเพื่อดูดนักการเมืองในพื้นที่เข้าสังกัด หากพิจารณากันตามข้อเท็จจริงที่เกิดจากการประชุม ครม.สัญจรทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา จะพบว่าไม่ว่าจะอนุมัติกี่โครงการ ไม่ว่าจะอนุมัติงบกี่ร้อยล้าน ก็ไม่มีผลทำให้เกิดความผันแปรของคะแนนเสียงเลือกตั้งในพื้นที่โดยตรง เมื่อถึงวันเลือกตั้งนักการเมืองเจ้าของพื้นที่ก็ยังได้คะแนนเสียงในระดับเดิมที่เคยได้ ถ้าการประชุม ครม.สัญจรเปลี่ยนผลเลือกตั้งได้จริง พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยึดครองพื้นที่ภาคใต้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นทั้งที่เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนข้อครหาที่ว่าจัด ครม.สัญจรไปดูดอดีต ส.ส. ก็คงไม่จริง เพราะการเจรจาย้ายพรรคที่มีการต่อรองกันหลายเรื่องทำในที่ลับดีย่อมดีกว่าที่แจ้ง

แย่งซีนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรไปพอสมควรกับอาการป่วยกะทันหันของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างการประชุม ครม. ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จนต้องออกจากห้องประชุมก่อนเสร็จการประชุม 15 นาทีเพื่อให้แพทย์ดูแล

ทั้งนี้ เป็นการป่วยเกี่ยวกับท้อง แต่ไม่แน่ชัดถึงอาการ บางรายงานแจ้งว่าปวดท้อง บางรายงานแจ้งว่าท้องเสีย แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่าเกิดจากอาหารไม่ย่อย

มีสิ่งเดียวที่พูดตรงกันคือ อาการไม่หนักมาก ไม่เป็นอันตราย และเดินทางกลับกรุงเทพฯแล้ว ส่วนจะลุยงานต่อไปหรือต้องพักงาน ให้รอดูการประชุมสภากลาโหมในวันนี้ (25 ก.ค.) ว่า “บิ๊กป้อม” จะเข้าร่วมประชุมหรือไม่

ย้อนมาที่เรื่องการเมืองเกี่ยวกับการประชุม ครม.สัญจรที่ถูกตั้งแง่ว่าเป็นการลงพื้นที่หาเสียง บ้างก็ว่าลงพื้นที่เป้าหมายเพื่อทาบทามนักการเมืองในพื้นที่ให้มาเป็นแนวร่วมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงในการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจร จะเห็นว่าไม่ช่วยเพิ่มคะแนนเสียงมากขึ้นสักเท่าไร และคงไม่ใช้โอกาสลงพื้นที่เจรจาดึงนักการเมืองให้ย้ายสังกัดเพราะถูกจับตามองอยู่

การประชุม ครม.สัญจรเกิดขึ้นมานานแล้ว นัยว่าเป็นการนำเจ้ากระทรวงลงไปรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด

ที่ผ่านมาสิ่งที่ได้เห็นจากการประชุม ครม.สัญจรคือ นักการเมืองในพื้นที่จะเสนอโครงการต่างๆให้รัฐบาลพิจารณา และรัฐบาลก็มักจะรับลูก ทั้งรับมาศึกษาและอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการ

หากเป็นในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้ง แน่นอนว่าการประชุม ครม.สัญจรสามารถเพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลได้ เพราะพื้นที่จัดประชุมมักเลือกพื้นที่ที่พรรคการเมืองในรัฐบาลมี ส.ส. อยู่

การลงพื้นที่แล้วอนุมัติงบประมาณตามที่ ส.ส. ในพื้นที่ร้องขอก็เหมือนช่วยทำให้ ส.ส. ในพื้นที่มีผลงานไว้หาเสียงกับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ส.ส. แต่ละพื้นที่ต่างมีฐานเสียงหลักเป็นของตัวเอง ผลงานจากการชงโครงการให้รัฐบาลอนุมัติผ่านการประชุม ครม.สัญจรแค่ช่วยรักษาฐานเสียงเดิมไว้ คะแนนใหม่ที่ได้จากการอนุมัติงบประมาณของ ครม.สัญจรมีไม่มาก

จะเห็นได้จากที่ผ่านมามีหลายรัฐบาลที่ยก ครม. ไปประชุมในพื้นที่ทางภาคใต้ อนุมัติโครงการ อนุมัติงบประมาณมากมายมหาศาลเพื่อพัฒนาพื้นที่ แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ครองพื้นที่อยู่ก็ได้รับเลือกตั้งเหมือนเดิม ระดับคะแนนไม่ได้ลดน้อยลง ผู้สมัครของพรรครัฐบาลที่ไปจัดประชุม ครม. ก็ไม่ได้มีคะแนนเพิ่มมากขึ้น

การประชุม ครม.สัญจรจึงไม่มีผลโดยตรงต่อคะแนนนิยมทางการเมือง โดยเฉพาะหากจะใช้ชิงคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่

การประชุม ครม.สัญจรในยุครัฐบาล คสช. ก็คงไม่ต่างกัน เมื่อถึงวันเลือกตั้งอดีต ส.ส. ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ทำงานเกาะติดคลุกคลีกับประชาชนมานาน ก็ยังมีระดับคะแนนฐานของตัวเองเหมือนเดิม

สิ่งที่จะได้จากการประชุม ครม.สัญจรมีเพียงแค่ภาพลักษณ์ พื้นที่ข่าว อย่าไปหลงดีใจกับจำนวนประชาชนที่มาให้การต้อนรับ เพราะมากันตามหน้าที่ การประชุม ครม.สัญจรจึงไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มหรือลดของคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ

ส่วนที่ว่าไปประชุมในพื้นที่เพื่อดูดอดีต ส.ส. นั้น ก็น่าจะเป็นเพียงข้อกล่าวหาทางการเมือง เพราะการเจรจาย้ายสังกัดสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา หากผู้เสนอให้ย้ายกับผู้ที่ต้องการย้ายมีใจตรงกัน ไม่จำเป็นต้องจัดประชุม ครม.สัญจรให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์


You must be logged in to post a comment Login