วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู / โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน

On June 29, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 29 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2561)

โดยปรกติการได้ยินของมนุษย์เราเกิดจากเสียงผ่านใบหู, ช่องหูชั้นนอก, เยื่อบุแก้วหู, กระดูกค้อน, กระดูกทั่ง, กระดูกโกลน แล้วไปยังหูชั้นใน ซึ่งต่อกับประสาทหู และไปยังสมอง

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เกิดจากหินปูนที่เจริญผิดปรกติในหูชั้นกลาง เกาะระหว่างฐานของกระดูกโกลน (stapes) กับช่องรูปไข่ (oval window) ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน ทำให้เสียงไม่สามารถผ่านจากหูชั้นกลางเข้าไปในหูชั้นในได้ตามปรกติ ทำให้หูอื้อหรือหูตึง นอกจากนั้นอาจเกิดหินปูนเจริญผิดที่ในหูชั้นใน หรือหินปูนที่ผิดปรกติในหูชั้นกลางปล่อยเอนไซม์บางชนิดเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ (cochlear otosclerosis)

อุบัติการณ์ของโรคนี้ในประเทศไทยและสาเหตุของการเกิดหินปูนเจริญผิดที่ในหูชั้นกลางและหูชั้นในยังไม่ทราบแน่ชัด จากการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มที่โรคนี้จะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่เป็นโรคนี้ด้วย ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ โอกาสที่ลูกเป็นโรคนี้คือร้อยละ 25 แต่ถ้าพ่อและแม่เป็นโรคนี้ โอกาสที่ลูกเป็นโรคนี้จะสูงถึงร้อยละ 50 โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า และมักพบในอายุ 30-40 ปี มักพบในชนชาติผิวขาวมากกว่าชาวเอเชียและผิวดำ นอกจากนั้นพบว่าโรคนี้อาจมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ (เพราะพบว่าในระหว่างตั้งครรภ์อาการหูอื้ออาจมากขึ้นได้) หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด

อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการหูอื้อ ซึ่งมักจะมีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยบางรายอาจให้ประวัติว่าไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือมีเสียงดังในหู ซึ่งเสียงดังในหูมักจะดังขึ้นเรื่อยๆเมื่อหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นข้างเดียวก่อน และต่อมาจะเป็นกับหูอีกข้าง การสูญเสียการได้ยินมักเป็นแบบการนำเสียงเสีย (conductive hearing loss) บางรายอาจมีการสูญเสียการได้ยินแบบประสาทเสียงเสีย โดยมักเสียที่ความถี่ต่ำก่อน ในเวลาต่อมาจะเสียที่ความถี่สูง

การวินิจฉัยโรคนี้ แพทย์จะซักประวัติอาการทางหูและระยะเวลาที่เป็น ทำการตรวจหูเพื่อวินิจฉัยแยกโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการทางหูที่คล้ายกันได้ และส่งตรวจการได้ยิน (audiogram) ซึ่งเป็นกราฟที่บอกความสามารถในการได้ยินเสียงที่ระดับความถี่ต่างๆ และตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง

การรักษาอาการหูอื้อที่เกิดจากโรคนี้ประกอบด้วยวิธีที่ไม่ผ่าตัดและวิธีผ่าตัด ในรายที่หูอื้อไม่มากและเป็น 2 ข้าง หรือหูอื้อมากแต่เป็นข้างเดียว อีกข้างยังปรกติ อาจยังไม่ต้องรักษาก็ได้ เมื่อหูอื้อมากจนมีปัญหาในการสื่อสารและรบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันจึงให้การรักษา

1.วิธีที่ไม่ผ่าตัด คือการใช้เครื่องช่วยฟัง (hearing aid) เหมาะในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินไม่มาก เครื่องช่วยฟังจะช่วยขยายเสียงที่ได้รับ ทำให้ผู้ป่วยได้ยินดีขึ้น ซึ่งแพทย์และ/หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโสตวิทยาจะแนะนำเครื่องช่วยฟังชนิดต่างๆที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆไป

2.วิธีผ่าตัด แพทย์จะเอากระดูกหูส่วนที่เป็นโรคออก (มักจะเป็นกระดูกโกลน) และใส่วัสดุเทียมเข้าไปเพื่อทำหน้าที่ในการส่งผ่านเสียงแทนกระดูกที่มีหินปูนยึดติด ทำให้การนำเสียงกลับมาเป็นปรกติ ทำให้การสูญเสียการได้ยินดีขึ้น นอกจากนั้นประมาณร้อย 50 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด เสียงดังในหูจะหายไป การผ่าตัดมักจะทำเพียงข้างใดข้างหนึ่งก่อน โดยแพทย์มักจะทำการผ่าตัดในหูข้างที่เสียมากกว่าก่อน

2


You must be logged in to post a comment Login