วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เพชรบูรณ์จัดกิจกรรม Familiarization Trip เปิดประตูเส้นทางท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยง 4 มรดกโลก

On June 14, 2018

นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ด้วยศักยภาพที่ตั้งของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่สามารถเดินทางเชื่อมโยงระหว่างภาค และเชื่อมโยงการพัฒนาตาม North-South Economic Corridor และ East=West Economic Corridor พร้อมประตูเชื่อมโยงชายแดนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่จังหวัดตาก และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่จังหวัดเลย จึงเกิดโครงการเปิดประตูเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ของภาคเหนือ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเส้นทางประวัติศาสตร์มรดกโลกทั้ง 4 แห่งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันและสามารถเดินทางถึงกันได้อย่างสะดวกสบาย และพรั่งพร้อมไปด้วยข้อมูล ความน่าตื่นตาตื่นใจของโบราณสถานที่มีประวัติความเป็นมาเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยได้จัดกิจกรรม Familiarization Trip พาสื่อมวลชนและผู้ประกอบการไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างมรดกโลกศรีเทพ และอีก 3 แห่ง คือ อยุธยา สุโขทัยและหลวงพระบาง

ดินแดนแห่งอารยธรรม4ยุค- อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

เส้นทางการท่องเที่ยวเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 มุ่งหน้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่นี่ไม่ได้มีแต่ธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์น่าไปสัมผัสอย่างอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขาค้อ ภูทับเบิกอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ฯลฯ หากยังมีอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี และกำลังเสนอรายชื่อเป็น Tentative List เพื่อรับรองให้เป็นมรดกโลกในอนาคตของประเทศไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีเทพ ห่างจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ 117 กิโลเมตร ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองโบราณแห่งนี้ถูกพบครั้งแรกเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในขณะที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเดินทางไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2448

เมืองศรีเทพเคยเป็นนครโบราณที่มีความเจริญรุ่งเรือง และมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือเมื่อ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ที่นี่ห่างจากลุ่มน้ำป่าสัก 5 กิโลเมตร จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดพบสันนิษฐานว่าเมืองศรีเทพได้รับอิทธิพลอารยธรรมต่างๆ ถึง 4ยุคด้วยกันคือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคอารยธรรมเขมรโบราณจากอาณาจักรเจนละ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 ก่อนจะรับวัฒนธรรมทวาราวดีจากภาคกลางในพุทธศตวรรษที่ 12-16 เมื่อวัฒนธรรมทวาราวดีเสื่อมลงจึงหันไปรับอารยธรรมขอมโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 จึงถูกทิ้งร้างโดยไม่ทราบสาเหตุ เหลือเพียงร่องรอยอารยธรรมไว้ให้ชนรุ่นหลัง

ที่นี่มีคูน้ำกำแพงดินขนาดใหญ่มาก ล้อมรอบเป็นรูปวงกลมซ้อนกัน 2 วง สันนิษฐานว่าแนวคูกำแพงเมืองที่ซ้อนกันนั้นจะเป็นการขยายตัวของชุมชนในภายหลัง โดยแบ่งเป็นโบราณสถานที่เรียกกันว่า “เมืองใน” คือ ธรรมจักรศิลากับโบราณสถานเขาคลังใน ซึ่งเป็นพุทธสถานที่งดงาม ที่ฐานประดับด้วยปูนปั้นรูปคนแคระที่แสดงถึงอารยธรรมทวาราวดี คนแคระของศรีเทพแตกต่างจากที่อื่นซึ่งมีเพียงหน้าคน แต่ที่นี่มีคนแคระถึง 5หน้าด้วยกัน หน้าคน หน้าสิงห์ หน้าช้าง หน้าวัวและหน้าลิง และยังมีปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้องร่องรอยของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเขมรโบราณ โดยปรางค์สองพี่น้องนั้นได้ค้นพบทับหลังจำหลักรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอสุภราช

สำหรับโบราณสถานนอกเขตเมือง คือ ปรางค์ฤาษี ศาสนสถานแบบเขมรโบราณ และ โบราณสถานเขาคลังนอก ฐานเจดีย์สมัยทวาราวดีขนาดมหึมาที่มีการประดับด้วยซุ้มปราสาทซึ่งเป็นกลิ่นอายศิลปะอินเดีย

เชื่อมโยงสู่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

จากทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร สู่เขตเมืองเก่าที่ตั้งอยู่นอกตัวเมืองสุโขทัย จะแลเห็นยอดพระเจดีย์แบบต่างๆ และวิหารอันสง่างาม

สุโขทัยเป็นราชธานีเก่าแก่ของไทย กำแพงเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นกำแพงพูนดิน 3 ชั้น  โดยขุดเอาดินขึ้นมาถมเป็นกำแพง และพื้นดินที่ขุดยังทำหน้าที่เป็นคูขังน้ำไว้ใช้สอยและเป็นกำแพงน้ำขึ้นอีก 2 ชั้น กำแพงด้านทิศเหนือจดทิศใต้ยาว 2,000 เมตร ด้านทิศตะวันตกยาว 1,600 เมตร มีประตูเมือง 4 ประตู ทิศเหนือเรียกว่า “ประตูศาลหลวง” ทิศใต้เรียกว่า “ประตูนโม” ทิศตะวันออกเรียกว่า “ประตูกำแพงหัก” และทิศตะวันตกเรียกว่า “ประตูอ้อ” ภายนอกกำแพงเมืองในรัศมี 5 กิโลเมตร มีโบราณสถาน 70 แห่ง สร้างขึ้นด้วยศรัทธาแห่งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณื ได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร และได้รับการจัดตั้งให้เป็นมรดกโลกโดย UNESCO ในปี พ.ศ. 2537

อลังการอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา

อยุธยาเป็นราชธานีที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ 417 ปี มีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 33 พระองค์ ในระยะเวลาอันยาวนานนี้คนในยุคอยุธยาได้สร้างศิลปกรรม สถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซึ่งมีพื้นที่โบราณสถานทั้งสิ้นกว่า 3,000 ไร่ กรมศิลปากรได้อนุรักษ์โบราณสถานเมืองพระนครศรีอยุธยาภายใต้ชื่อโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2525 และต่อมาในปี พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

เส้นทางท่องเที่ยวเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร มุ่งสู่แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกนครประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 มุ่งสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่าของเพชรบูรณ์ที่มีวัฒนธรรมไทหล่มซึ่งสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยผ่านด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง จังหวัดเลย เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มุ่งสู่หลวงพระบาง แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกที่สำคัญ จากนั้นกลับเข้าสู่ประเทศไทย มุ่งสู่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่าสุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เชื่อมโยงต่อไปยังจังหวัดตาก และออกจากประเทศไทยอีกครั้งที่ด่านแม่สอด ไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และเดินทางกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้งที่ด่านแม่สอด จังหวัดตาก มายังพิษณุโลก แล้วกลับสู่กรุงเทพมหานคร

หากสนใจเส้นทางเชื่อมโยง 4 มรดกโลก ซึ่งมีจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นศูนย์กลาง เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเปิดใหม่ ลองสอบถามไปยังบริษัททัวร์ในประเทศ หรือสามารถเดินทางด้วยตัวเอง เนื่องจากเส้นทางการคมนาคมสะดวกสบาย ระหว่างทางยังมีวัฒนธรรมพื้นถิ่น อาหารอร่อย และวัดวาอารามต่างๆ ให้แวะสักการะอีกมากมาย

t2

t3

t4

t5

t8

t7


You must be logged in to post a comment Login