วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ก่อนเลือกตั้งใหญ่

On June 6, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

โรดแม็พสู่การเลือกตั้งเปิดทางสะดวกเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองไม่มีอะไรขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จากนี้ไปประเทศไทยปรับเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว ก่อนที่จะทำศึกใหญ่ต้นปีหน้า ช่วงปลายปีนี้จะมีศึกย่อยเลือกตั้งท้องถิ่นให้ได้ซ้อมมือกันก่อน สนามที่สำคัญที่สุดไม่พ้นกรุงเทพฯ ถ้าพรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่งตัวแทนร่วมชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ด้วย ผลที่ออกมาจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะมีอนาคตในสนามเลือกตั้งใหญ่อย่างไร

ทุกอย่างเคลียร์โล่ง ถนนสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็พปลอดโปร่ง ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคอีกแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติชี้ชัดว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองไม่มีอะไรขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามที่พรรคการเมืองเสนอเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผลตีความชี้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผลตีความชี้ชัดว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ผลตีความชี้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

จะมีอะไรมาขวางการเลือกตั้งตามโรดแม็พได้อีกหากผู้คุมอำนาจต้องการให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง

ระหว่างรอการนำ พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ และรอการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปตามลำดับคือ การประชุมร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช. ที่จะมีขึ้นอย่างแน่นอนภายในเดือนมิถุนายนนี้

หลังการประชุมร่วมกันแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆได้ตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด

แต่ดูแล้ว คสช. คงไม่ปล่อยมือให้พรรคการเมือง นักการเมือง มีอิสระทำอะไรได้อย่างเต็มที่ น่าจะยังมีพันธนาการอยู่บ้าง

ในส่วนของฝ่ายการเมือง สิ่งที่ประชาชนจะได้เห็นคือ พรรคการเมืองที่คนในรัฐบาลซุ่มดำเนินการอยู่นั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ใครเป็นหัวหน้า ใครบ้างที่เข้ามาเป็นลูกพรรค

ขณะที่อีกฝ่ายก็จะชัดเจนเช่นเดียวกันคือ ประชาชนจะได้รู้ว่าใครจะมาเป็นแม่ทัพถือธงลงสนามเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย ใครบ้างจะมีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ต้องเสนอให้ประชาชนรับทราบช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น พรรคการเมืองจะได้ลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นซ้อมมือกันก่อนในช่วงปลายปีนี้ ก่อนที่จะทำศึกใหญ่ช่วงต้นปีหน้า

สนามการเมืองท้องถิ่นที่จะชี้วัดความนิยมได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นเครื่องชี้วัดอย่างดีว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่กินรวบคะแนนเสียงในเมืองหลวงมานานจะยังคงได้รับความนิยมเหมือนเดิมหรือไม่ หลังแกนนำพรรคหลายคนมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญกับการชุมนุมปิดกรุงเทพฯจนนำมาซึ่งการทำรัฐประหารของกองทัพ

สนามเลือกตั้ง กทม. จะสนุกขึ้นเป็นทวีคูณหากพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ส่งตัวแทนร่วมชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ด้วย เพราะผลคะแนนที่ออกมาจะเป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีว่ากระแสของม็อบที่แรงอย่างมากในช่วงที่มีการชุมนุมนั้น จะแปรเปลี่ยนมาเป็นคะแนนเสียงในสนามเลือกตั้งได้หรือไม่

หากเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงได้ นายสุเทพจะมีกำลังใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในการทำศึกเลือกตั้งสนามใหญ่

แต่หากเสียงส่วนใหญ่ของคนที่ออกมาร่วมปิดกรุงเทพฯยังเทให้พรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม หรือเทไปให้ผู้สมัครจากพรรคอื่น ก็คงพอคาดเดาได้ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะมีอนาคตในสนามเลือกตั้งใหญ่หรือไม่


You must be logged in to post a comment Login