วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

น้ำตาเช็ดหัวเข่า

On June 5, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

พรรครวมพลังประชาชาติไทยเปิดตัวภายใต้สายตาที่จับจ้อง โดยเฉพาะแกนนำคนสำคัญอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่พยายามกระตุกความรู้สึกร่วมของมวลชนที่เคยร่วมกันเคลื่อนไหวปิดกรุงเทพฯ โดยหวังว่าเสียงของคนกลุ่มนี้จะโอบอุ้มพรรคให้แจ้งเกิดบนเวทีการเมืองได้ แต่หากถอดบทเรียนจากพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ แม้ระดับแกนนำจะมีความเขี้ยวทางการเมืองต่างกัน แต่มวลชนที่มาร่วมเคลื่อนไหวล้วนเป็นฐานคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทยก็คงลงเอยแบบเดียวกับพรรคการเมืองใหม่ คือเสียงดีแต่ไม่มีคะแนน หลังเลือกตั้งอาจได้เห็นนายสุเทพนั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่าก็เป็นได้

ลุ้นกันเป็นครั้งสุดท้ายในวันนี้ (5 มิ.ย.) กับการประกาศผลตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลต่อโรดแม็พเลือกตั้งว่าจะยังนิ่งอยู่ที่เดิมในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าหรือต้องขยับออกไป

ถ้าผลการตีความออกมาว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็ฉลุย แถมเปิดทางให้ใช้อำนาจมาตรา 44 ทะลวงทางตันหลายเรื่องที่เป็นอุปสรรคทำให้การจัดเลือกตั้งไม่ราบรื่นได้ด้วย เช่น เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องขออำนาจพิเศษนี้ใช้ดำเนินการ

แต่ถ้าหวยออกไปอีกทางก็ยังคงวุ่นวายกันพอสมควรหลังจากนี้

ก่อนที่จะรู้ผลชี้ขาด หันไปดูการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้ง

ที่น่าสนใจที่สุดคือการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ให้เกียรติสมาชิกพรรคธรรมดาๆอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวปราศรัยกับประชาชนในงานเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการ

สิ่งที่นายสุเทพพูดมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ แต่ดูเหมือนทุกฝ่ายจะให้น้ำหนักไปที่การตระบัดสัตย์เพื่อชาติ ยอมกลืนน้ำลายตัวเองที่เคยประกาศจะเลิกเล่นการเมือง และเรื่องน้ำตาที่ไหลออกมาระหว่างการปราศรัย

ไม่ว่าเสียงวิจารณ์จะเป็นอย่างไร แต่หากพิจารณาคำปราศรัยของนายสุเทพดีๆจะเห็นว่ามีนัยอยู่พอสมควร

หลายประโยคที่นายสุเทพกล่าวออกมานั้นแสดงให้เห็นว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยไม่ใช่พรรคฉุกละหุกตั้ง แต่เป็นการเตรียมการก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ว่าอาจผิดแผนไปจากความตั้งใจเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการดึงอดีต ส.ส. มาร่วมงานกับพรรค

ทำให้เนื้อหาการปราศรัยเน้นหนักไปที่การกระตุ้นความรู้สึกเก่าๆของมวลชนที่เคยร่วมกันเคลื่อนไหวปิดกรุงเทพฯมาก่อนหน้านี้ โดยหวังว่าเสียงของมวลชนเหล่านี้ทั้งคนที่เคยออกมาร่วมชุมนุมและคนที่เป็นกองหนุนอยู่ที่บ้านจะเทคะแนนให้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม หากถอดบทเรียนจากพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อสานต่องานที่ทำไว้ พรรครวมพลังประชาชาติไทยอาจต้องทำใจไว้บ้าง

ในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯจะเห็นว่ากระแสแรงไม่ต่างจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. แต่พรรคการเมืองใหม่กลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในสนามเลือกตั้ง

แม้จะมีความต่างกันอยู่บ้างตรงที่พรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯไม่มีนักการเมืองซึ่งมีฐานเสียงของตัวเองแน่นหนามาเป็นแกนนำก่อตั้งพรรค ขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยมีนักการเมืองที่คร่ำหวอดในสนามการเมืองมานานร่วมเป็นแกนนำ

แต่แกนนำของพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็เป็นนักการเมืองที่มีความแข็งแกร่งในฐานเสียงเฉพาะพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น ไม่มีความเป็นแมสในความนิยม

ที่สำคัญคือฐานมวลชนที่มาร่วมเคลื่อนไหวล้วนเป็นฐานมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถึงเวลาเลือกตั้งเมื่อไรกาบัตรลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์แน่นอน โดยไม่ดูด้วยซ้ำว่าผู้สมัครคนนั้นเป็นใคร มีคุณสมบัติอย่างไร

ชะรอยแล้วพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็คงลงเอยแบบเดียวกับพรรคการเมืองใหม่ คือเสียงดีแต่ไม่มีคะแนน

หลังเลือกตั้งอาจได้เห็นนายสุเทพนั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่าก็เป็นได้


You must be logged in to post a comment Login