วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เลือกตั้งในมือ คสช.

On June 3, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้หลังรู้ผลตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. แล้วหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการเมืองปรับเข้าสู่โหมดเลือกตั้งตามโรดแม็พ แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้โรดแม็พต้องขยับออกไปจากเดิมอีกคือ ผลการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 และกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ที่ยังลูกผีลูกคน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กกต. หรือการปรับแก้กฎหมายลูก (หากจำเป็นต้องมี) ล้วนเป็นปัจจัยที่ คสช. สามารถควบคุมได้ เพราะเป็นการดำเนินการของ สนช. ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายอำนาจ 5 สายที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาเอง โรดแม็พจะคงเดิมหรือจะเลื่อนออกไปอีกจึงอยู่ที่ คสช. ซึ่งเป็นคนควบคุมปัจจัยทั้งหมดเป็นสำคัญ

การเมืองสัปดาห์หน้าจะมีหลากหลายความเคลื่อนไหวที่มาเพิ่มความคึกคักให้สมกับได้ปรับเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง

ความเคลื่อนไหวแรกแน่นอนว่าต้องจับจ้องไปที่ผลการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่นัดประชุมอภิปรายก่อนลงมติกรณีมีผู้ยื่นให้ตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งจะกระทบไปถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วยว่าจะจัดได้ตามกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าหรือต้องขยับโรดแม็พคืนอำนาจให้ประชาชนออกไปอีก

สัปดาห์หน้าเช่นกันจะมีการแถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการของพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่เป็นศูนย์รวมของกลุ่มแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้ง กปปส. และพันธมิตรฯ

พรรครวมพลังประชาชาติไทยจะตั้งธงทางการเมืองไว้อย่างไร จะประกาศสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งหรือไม่ หรือจะสงวนท่าทีไว้ก่อนคงได้รู้กัน

สัปดาห์หน้าเช่นกันร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่ คสช. จะทิ้งเอาไว้หลังลงจากอำนาจจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

สรุปภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนเกิดขึ้นหลายเรื่อง

ที่สำคัญที่สุดคือ จะมีความชัดเจนเรื่องการจัดเลือกตั้งหลังรู้ผลตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560

ที่ผ่านมาหลังรู้ผลตีความพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลายคนในฟากฝั่งผู้มีอำนาจได้ออกมายืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแม็พในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

แต่ก็มีหลายเสียงเชื่อว่าการเลือกตั้งจะถูกขยับออกไปเป็นเดือนเมษายนเป็นอย่างเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม “บิ๊กตู่” ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องกำหนดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แม้ที่ผ่านมาจะพูดว่ายึดตามโรดแม็พ แต่ก็มักเปิดช่องว่าต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ตามกฎหมายที่ “บิ๊กตู่” หมายถึงก็คือจัดเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 150 วัน หลังจากที่กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งในที่นี้ก็คือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

นอกจากผลตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ดูเหมือนว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดตามกำหนดเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นั่นคือการคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

อย่างที่ทราบกันว่า สนช. เคยล้มโต๊ะคัดเลือก กกต. มาแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนการคัดเลือกครั้งใหม่ได้รายชื่อว่าที่ กกต. ครบทั้ง 7 คนแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบประวัติก่อนส่งชื่อให้ที่ประชุม สนช. ลงมติว่าจะรับรองทั้ง 7 คนให้เป็น กกต. หรือไม่

หากล้มโต๊ะต้องสรรหา คัดเลือกกันใหม่อีก ไม่ว่าจะโละทั้งหมดหรือบางส่วน แม้ กกต.เดิมที่รักษาการในตำแหน่งอยู่ 4 คนจะยังทำหน้าที่ได้ แต่น่าจะส่งผลต่อความพร้อมในการจัดเลือกตั้ง เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการสรรหากรรมการผู้ตรวจการเลือกตั้งทั่วประเทศที่จะมาทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กกต. เรื่องปรับแก้กฎหมายลูก (หากจำเป็นต้องมี) ล้วนเป็นปัจจัยที่ คสช. สามารถควบคุมได้ เพราะเป็นการดำเนินการของ สนช. ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายอำนาจ 5 สายที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาเอง

โรดแม็พจะคงเดิมหรือขยับเลื่อนออกไปอีกจึงอยู่ที่ คสช. ซึ่งเป็นคนควบคุมปัจจัยทั้งหมดเป็นสำคัญ


You must be logged in to post a comment Login