วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ภาวะร่างกายเหนื่อยล้า / โดย พจนา

On June 1, 2018

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน :  พจนา

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 1-8 มิถุนายน 2561)

หลายคนต้องประสบกับอาการหลงๆลืมๆเมื่อมีอายุมากขึ้น การศึกษาวิจัยได้สรุปออกมาว่า เมื่ออายุมากขึ้นประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะค่อยๆลดลง โดยทั่วไปการทำงานของสมองจะเริ่มลดลงตั้งแต่อายุ 30 ปี และจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป

นายแพทย์เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา ศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้แนะนำว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นทำให้สมองและจิตใจมีความกระตือรือร้นตลอดเวลา จะช่วยลดหรือชะลออาการหลงๆลืมๆตามวัยได้อีกด้วย

อาการหลงๆลืมๆถึงแม้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแก่ตัว แต่ก็เป็นผลจากปัญหาสุขภาพอื่นๆได้เช่นกัน อย่างเช่นความเครียด หรือ “ภาวะร่างกายเหนื่อยล้า” ถือเป็นปัญหาที่พบมากในหมู่คนทำงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาการเหล่านี้สักเท่าไร เนื่องจากไม่ได้ก่อให้เกิดผลร้ายอย่างเฉียบพลัน

“ภาวะร่างกายอ่อนล้านั้นเป็นภาวะที่เรารู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง เซื่องซึม และซบเซา ภาวะร่างกายเหนื่อยล้าเป็นสาเหตุหลักของอาการหลงๆลืมๆชั่วคราวในหมู่คนวัยกลางคน และจะดีขึ้นได้เองเมื่อสุขภาพดีขึ้น

คุณหมอเขษม์ชัยยังได้แนะนำอีกว่า หากคุณกำลังประสบอาการหลงๆลืมๆบ่อยๆและติดต่อกันเป็นเวลานาน หนทางที่ดีที่สุดก็คือ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง

“ภาวะร่างกายเหนื่อยล้าเป็นบ่อนทำลายสุขภาพเป็นอย่างมาก จึงไม่ควรละเลย”

ปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อเพิ่มสมรรถนะของความจำให้ดีขึ้น

ทุกคนต้องมีอาการหลงลืมบ้างในบางครั้ง แต่อาการหลงลืมไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยในการมีสุขภาพที่ดีของเรา ถึงแม้ว่าเมื่อร่างกายแก่ตัวไปจะไม่สามารถป้องกันอาการหลงๆลืมๆได้ 100% แต่การดูแลและเพิ่มสมรรถนะของสมองให้ทำงานได้ดีเยี่ยมตลอดเวลาอาจจะช่วยให้ความจำมีประสิทธิภาพยาวนานขึ้นได้

คุณหมอเขษม์ชัยยังได้แนะนำอีกว่า วิถีการดำเนินชีวิตต่อไปนี้จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพสมองให้แข็งแรง

-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยมีสุขลักษณะการนอนที่ดี

-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอและสมดุลกับความต้องการของร่างกาย อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายย่อมมีประโยชน์ต่อสมองด้วยเช่นกัน

-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบการหมุนเวียนโลหิตทำงานได้ดี ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

-เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบ่อยๆ จะช่วยให้สมองได้ทำงานสม่ำเสมอ และยังช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าอีกด้วย

-หลีกเลี่ยงความเครียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าหักโหมใช้สมองมากจนเกินไป

-ดื่มน้ำเยอะๆ

อาหารสมอง

อาหารที่เรารับประทานในแต่ละวัน นอกจากจะช่วยบำรุงร่างกายแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานของสมองอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวของอาหารที่จะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือโรคเกี่ยวกับสมองอื่นๆ แต่การรับประทาน “อาหารสมอง” บางชนิด จะช่วยให้รักษาระดับความจำเมื่อเราแก่ตัวได้

การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และวิตามินบางตัว เช่น วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินอี จะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองอยู่ในภาวะที่ดีที่สุด

-ปลาทะเลต่างๆ เช่น แซลมอน ปลาเทราต์ ปลาทู มีปริมาณโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการทำงานของสมอง

-ถั่วและเมล็ดธัญพืชต่างๆที่มีวิตามินอีสูง จะช่วยป้องกันความจำเสื่อม โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ

-พืชผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี ผักโขม ผักคะน้า มีปริมาณวิตามินอีสูง

-อโวคาโด เป็นอาหารที่มีวิตามินอีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้


You must be logged in to post a comment Login