วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สะดวกหรือตัน?

On May 30, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ผลการตีความที่จะออกมาวันนี้ (30 พ.ค.) ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดไม่ใช่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เพราะหากขัดรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ไม่ยากและใช้เวลาไม่นาน ต่างจากผลตีความการใช้อำนาจมาตรา 44 ปรับแก้กฎหมายพรรคการเมือง หากออกมาว่าไม่ขัดและคำตัดสินรับรองการใช้อำนาจพิเศษอย่างเต็มที่ว่าสามารถเป่าเสกอะไรก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา ก็น่าจะทำให้มีโอกาสได้เห็นการเลือกตั้งตามโรดแม็พเกิดขึ้น หากผลตีความชี้ไปอีกทางจะเกิดความยุ่งยากที่ไม่เพียงกระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้ง แต่จะเป็นความยุ่งยากในระดับที่อาจจะพาการเมืองพบทางตันอย่างแน่นอน

หลังจากรอกันมานานในที่สุดก็จะได้รู้เสียทีว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

แน่นอนว่าผลการตีความย่อมสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงกำหนดการเลือกตั้งที่วางไว้ด้วย

ทั้งนี้ หากฟังจากฟากฝั่งผู้มีอำนาจและบุคคลในเครือข่ายค่อนข้างมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าผลการตีความร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. จะไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หากพิจารณาตามหลักการแล้วถือว่ายังลูกผีลูกคน มีความก้ำกึ่งค่อนข้างมาก อาจจะขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ได้

ส่วนการเชิญพรรคการเมืองไปพูดคุยกับ คสช. มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าอาจต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่มองว่าหากการพูดคุยไม่มีประเด็นกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนก็เสียเวลาเปล่า

อย่างไรก็ตาม ยังมีพรรคการเมืองอีกบางส่วนที่พร้อมไปพูดคุยกับ คสช. เนื่องจากต้องการเข้าไปเคลียร์ความชัดเจนเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมืองที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการหลายเรื่องตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดไว้

ถ้าจะรอปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเมื่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้น่าจะไม่ทันกาล และน่าจะไม่มีพรรคการเมืองไหนมีความพร้อมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหากไม่ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกมายกเว้นการบังคับใช้ สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำหลายเรื่องตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาสมาชิกให้ได้ตามจำนวน การแต่งตั้งผู้แทนพรรคประจำจังหวัดที่ไม่มีสาขาพรรค การทำไพรมารีโหวตเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส. ฯลฯ

หากใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งงดเว้นให้พรรคการเมืองไม่ต้องทำอะไรหลายเรื่องตามที่กฎหมายกำหนดก็คงเป็นเรื่องตลก เพราะจะเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองไม่ต้องทำตามกฎหมาย

เรื่องความพร้อมหรือไม่พร้อมของพรรคการเมืองในการส่งตัวผู้สมัครน่าจะเป็นปมปัญหาใหญ่ที่สุดที่ต้องหาทางแก้ไขให้ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ คสช. ที่ต้องหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพราะเป็นคนผูกปมปัญหาขึ้นมาเองโดยไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ทั้งที่กฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 8 เดือน

เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้

ทั้งนี้ เชื่อว่าการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎหมายพรรคการเมืองได้จะเข้าข่ายลิงแก้แหที่ยิ่งแก้จะยิ่งสร้างความยุ่งยากมากขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างน้อยหากมีการใช้อำนาจพิเศษละเว้นให้พรรคการเมืองไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายบางประการเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ เชื่อว่าจะมีคนพวกหนึ่งไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการใช้อำนาจพิเศษแน่

เว้นเสียแต่ว่าผลการตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะออกมาในวันนี้ (30 พ.ค.) หากออกมาว่าไม่ขัด และคำตัดสินรับรองการใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 อย่างเต็มที่ว่าสามารถเป่าเสกอะไรก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา น่าจะทำให้มีโอกาสได้เห็นการเลือกตั้งตามโรดแม็พเกิดขึ้น

แต่หากผลตีความชี้ไปอีกทางก็ตัวใครตัวมันล่ะงานนี้


You must be logged in to post a comment Login