วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

4 ปีแป๊บเดียว!!

On May 24, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 666 วันที่ 25 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2561)

“การเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล สถานที่ซึ่ง คสช. ได้ยึดครองและใช้เป็นฐานในการวางไข่เผด็จการมากว่า 4 ปี เข้าไปให้ใกล้พวกเขามากที่สุด ด้วยหวังที่จะให้ได้ยินเสียงของประชาชนเสียที แม้ในวันนี้พวกเราจะไปไม่ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ แต่พวกเราจะยังขอตะโกนบอกย้ำกับพวกเขาอีกครั้งด้วยเสียงที่ดังที่สุดเท่าที่จะเปล่งออกมาได้ถึงจุดยืน”

ตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่ “โบว์” น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แถลงทั้งน้ำตา หน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม โดยย้ำจุดยืน 5 ข้อคือ

1.การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ คสช. เคยให้คำมั่นไว้

2.คสช. จะต้องยุติความพยายามใดๆที่จะสืบทอดอำนาจหรือเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง

3.จะต้องปลดอาวุธ คสช. โดยการยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆของ คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งรวมถึงประกาศหรือคำสั่งที่ขัดขวางการดำเนินการต่างๆของพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยทันที

4.คสช. จะต้องยุติการดำรงอยู่ของตัวเองและเปลี่ยนสถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลรักษาการโดยทันที เพื่อสร้างหลักประกันในการจัดการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม โปร่งใส และปราศจากการแทรกแซงจาก คสช.

5.กองทัพจะต้องยุติการสนับสนุน คสช. ทุกประการโดยทันที เพื่อไม่ให้ คสช. มีขุมกำลังในการสืบทอดอำนาจเผด็จการได้อีก

แม้ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จะไปไม่ถึงทำเนียบรัฐบาล แต่ก็สามารถไปถึงหน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ นำโดยนายอานนท์ นำภา น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว และ น.ส.ณัฏฐา ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสลายการชุมนุมและควบคุมแกนนำ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” 5 คน แกนนำที่ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 17.00 น. และเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมทั้งหมด 14 คน ประกอบด้วย 1.นายเอกชัย หงส์กังวาน 2.นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ 3.นายอานนท์ นำภา 4.น.ส.ชลธิชา หรือเกด แจ้งเร็ว 5.น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา 6.นายวิโรจน์ โตงามรักษ์ 7.นายพุทธไธสิงห์ ทิมจันทร์ 8.นายคีรี ขันทอง 9.ว่าที่ร้อยตรีภัทรพล จันทร์โคตร 10.นายประสงค์ วางวัน 11.นายรังสิมันต์ โรม 12.นายปิยรัฐ จงเทพ 13.นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ 14.นายนิกร วิทยาพันธุ์

โดยแจ้ง 5 ข้อหา ได้แก่ มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 215 ข้อหาผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป หรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามมาตรา 216 และผิด พ.ร.บ.จราจร

นายรังสิมันต์กล่าวหลังประกาศยุติการชุมนุมว่า การได้อ่านคำปราศรัยบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และคิดว่าตลอดระยะเวลา 1 คืน 1 วันที่ทำการชุมนุมอยู่ได้พิสูจน์ให้สังคมไทยรู้ว่า การเลือกตั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิพลเมืองที่ทุกคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปควรจะต้องได้ มันใช้ไม่ได้แล้วในประเทศไทย มันเป็นเรื่องที่ตลกที่สุดที่วันหนึ่งรัฐบาลที่ได้มาจากการยึดอำนาจมาไล่จับกลุ่มคนที่ต้องการการเลือกตั้ง ทั้งที่ครั้งหนึ่งมีการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป ในวันนี้ประชาชนแค่เพียงต้องการนำสิทธินั้นคืนมากลับทำไม่ได้ แต่ก็ทำให้เห็นธาตุแท้ของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด

เลือกตั้งไม่เร็วกว่าต้นปี 2562

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึง “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่เรียกร้องให้เลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่า ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของตนคือต้นปี 2562 ไม่มีเร็วกว่านั้น “ผมก็ต้องยืนยันในหลักการของผม ที่มันล่าช้าไป 3-4 เดือน เป็นเรื่องความพร้อมของกฎหมาย”

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ไม่ให้บานปลายและขอบคุณมิตรประเทศที่เข้าใจกฎหมายและการทำหน้าที่ของรัฐบาลว่าไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเชื่อมั่นว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทุกประเทศก็ต้องบังคับใช้กฎหมายและดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน

“ยูเอ็น” จี้ปล่อยผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์กลับตรงข้ามสิ้นเชิงกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งร่วมกับหน่วยงานอื่นๆของสหประชาชาติสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างสงบของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จนกระทั่งมีการสลายการชุมนุม ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัว “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” โดยทันที ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯได้เรียกร้องรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องให้เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสงบในฐานะที่เป็นรัฐภาคีกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเมือง

ส่วนฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ให้ปล่อยแกนนำ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” และถอนข้อหาทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เช่นเดียวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ทวงสัญญา คสช. โดยระบุว่า ใกล้ถึงวันที่ คสช. ต้องปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองในเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยแคทเธอลีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำสั่งของ คสช. ที่ออกมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและปราศจากความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง มาตรการพิเศษนี้ควรนำมาใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ผ่านมา 4 ปีแล้วคำสั่งเหล่านี้ยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดโดยทางการ ซึ่งส่งผลให้มีการปฏิบัติมิชอบจำนวนมาก

“หลังเลื่อนคำสัญญามาหลายครั้ง ถึงเวลาแล้วที่ คสช. จะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการยกเลิกคำสั่งห้ามการจัดกิจกรรมทางการเมืองภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่เฉพาะการกระทำเช่นนี้ถือว่ายังไม่เพียงพอ จะต้องยกเลิกกฎหมายและคำสั่งอื่นๆที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างสงบด้วย”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังระบุว่า คสช. จะต้องยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบของประชาชนอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายและคำสั่งที่เป็นเผด็จการที่พุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งใช้สิทธิมนุษยชนของตนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ ประชาชนหลายร้อยคนไม่ควรถูกดำเนินคดีอาญาเพียงเพราะการแสดงความเห็นและเข้าร่วมการประท้วงอย่างสงบ

คนที่จะต้องกลัวเราคือเผด็จการ

ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนภาคเหนือ แถลงการณ์ยืนยันว่า การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พลเมืองทุกคนสามารถแสดงออกได้ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” และประชาชนทุกหนแห่งในการเรียกร้องการเลือกตั้งบนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทั้งขอประณามการขัดขวาง การดำเนินคดี และการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” และประชาชนผู้เรียกร้องการเลือกตั้ง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้จดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางไปให้กำลังใจแกนนำ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องการ คนที่มายืนร่วมกันแล้วบอกว่าจะไม่ยอมจำนนอีกต่อไป นี่คือห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเห็นว่ามีความตื่นตัวขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับห้วงที่ผ่านมาในเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ต้องการความสมานฉันท์ ถ้าเราไม่กลัว คนที่จะต้องกลัวเราคือเผด็จการ ส่วนคนข้างในนั้นยังคงแข็งแรงพร้อมจะเดินหน้าต่อไปด้วยกัน ดังนั้น คนข้างหลังก็ต้องเข้มแข็ง เหนียวแน่น พร้อมจะเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน ไม่กังวลว่าจะถูกเหมารวม เพราะเราเป็นเพื่อนกัน

“ผมว่าคนพวกนี้ใจแกร่งยิ่งกว่าหิน ข้อกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมทำอะไรกับจิตใจที่กล้าหาญของคนเหล่านี้ไม่ได้หรอก การยุยงปลุกปั่นสังคมนี้ให้เป็นประชาธิปไตยจะกลายเป็นเรื่องผิดอย่างนั้นหรือ นี่มันเรื่องตลกชัดๆ ถึงเวลาแล้วที่ต้องกล้าหาญแล้วต้องบอกความจริงกับสังคมนี้” นายธนาธรกล่าว

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้จดตั้งพรรคเกรียน โพสต์ถึงรัฐบาล คสช. ว่า “4 ปีแล้วนะ ยังจับอีกเหรอ” เพราะนับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายใต้คำสัญญาและวาทกรรม “อีกไม่นาน” จนบัดนี้เป็นเวลา 4 ปีเต็ม เทียบเท่ากับระยะเวลาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และถ้ามีลูกก็เรียนจบ ป.ตรี การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. เป็นเรื่องปรกติที่จะเกิดขึ้น เฉกเช่นวัยรุ่นที่มีฮอร์โมนก็จะเริ่มปรากฏสิวบนใบหน้า แก่ชราก็มีริ้วรอยและตีนกา เช่นเดียวกับการบริหารประเทศได้ระยะหนึ่งก็ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นี่ 4 ปีแล้วจะไม่ยอมให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไร

การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เป็นการทวงถามสิทธิของประชาชนที่ถูกแย่งชิงไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อย่าลืมว่าอำนาจที่ คสช. ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นอำนาจของประชาชนที่ใช้ปืนจี้บังคับแล้วล้วงไปจากกระเป๋ากางเกงของประชาชนภายใต้วาทกรรม “ความสงบและเรียบร้อย”

การจับกุมนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยหาใช่การธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ แต่คือการถอดกางเกงแล้วโชว์ริดสีดวงที่ก้นของตนเองให้ชาวโลกได้แลเห็น ความรู้สึกอึดอัดที่เก็บไว้ตลอด 4 ปีที่เมื่อจะปลดปล่อยก็ต้องเผชิญกับริดสีดวงที่ขวางทางอยู่

กฎหมายเผด็จการ

ภาพการระดมตำรวจ 3,300 นาย 18 กองร้อย ภายใต้ภารกิจ “พิทักษ์ทำเนียบรัฐบาล” เพื่อสกัด “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ยิ่งตอกย้ำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิการแสดงออกอย่างสงบ โดยเฉพาะการอ้าง “กฎหมายคือกฎหมาย” ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารที่ปล้นอำนาจไปจากประชาชนและฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรเป็นฝ่ายที่ทำผิดกฎหมายมากกว่า และยังออกคำสั่งและประกาศให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามอีก แม้แต่คนอยากเลือกตั้งยังถูกจับกุมและดำเนินคดีเยี่ยงอาชญากร

เว็บไซต์ iLaw ได้รวบรวมประกาศและคำสั่งของ คสช. นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจอย่างน้อย 335 ฉบับ ทั้งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 188 ฉบับ รวมประกาศและคำสั่งที่ออกด้วยอำนาจพิเศษของ คสช. อย่างน้อย 523 ฉบับ หรือเฉลี่ย 125 ฉบับต่อปี

ประกาศและคำสั่งของ คสช. จำนวนมากถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชน เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามและกำหนดโทษสำหรับที่ที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรียกบุคคลมากักตัวเพื่อ “พูดคุย” และกำหนดโทษผู้ที่ไม่ยอมมาตามคำสั่งเรียก คำสั่งนี้มักถูกหยิบมาใช้กับผู้แสดงความเห็นต่างจาก คสช.

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 งดเว้นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทุกระดับ และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 นโยบายทวงคืนผืนป่าที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของประชาชนที่ยากจนยากไร้จำนวนมาก

ส่วนการตั้งข้อหาทางการเมืองช่วง 4 ปีของ คสช. มีมากถึง 640 คน โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 131 คน ยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 จำนวน 78 คน กระทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ 41 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมือง 390 คน ยังไม่รวมถึงการข่มขู่คุกคามต่างๆของคนในเครื่องแบบอีกมากมาย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงภาคประชาสังคมที่เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และประกาศ คสช. อย่างน้อย 35 ฉบับที่ออกมาว่า “รัฐบาลนี้ไม่ได้ปิดกั้นใคร ยังใช้กฎหมายปรกติในการดูแลและมีคำสั่ง คสช. บ้านเมืองจึงสงบเรียบร้อย ถ้าไม่มีคำสั่งเหล่านี้จะทำอย่างไร หากประชาชนปฏิบัติตัวและทำให้ผมวางใจได้ว่าบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อยจึงจะยกเลิกคำสั่งเหล่านี้”

ผลงาน 4 ปีรัฐบาล คสช.

ขณะที่รัฐบาล คสช. ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่างก็ยืนยันว่า 4 ปีรัฐบาลทำงานหนักมากเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า รัฐบาลมีผลงานหนาเป็นศอกและพยายามแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ บ้านเมืองมีความสงบ แต่โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 4 ปีต่อ คสช. เกือบทุกโพลกลับผิดหวังการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน การทุจริตคอร์รัปชันโครงการต่างๆของภาครัฐ และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

โดยเฉพาะการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษา 19 มหาวิทยาลัย โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) พบว่าความพึงพอใจผลงานของรัฐบาลที่ทำงานครบ 4 ปีในเกณฑ์ดีและดีเยี่ยมมีเพียงร้อยละ 29.4 ขณะที่ความพึงพอใจแย่ถึงแย่มากมีถึงร้อยละ 70.6

ความเห็นที่ว่าทหารที่ยึดอำนาจสามารถบริหารประเทศได้ดีกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ร้อยละ 86.2 ไม่เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 13.8 ที่เห็นด้วย นอกจากนี้นักศึกษากว่าร้อยละ 72 ไม่ได้ติดตามรายการคืนความสุขและคิดว่าการรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และกว่าร้อยละ 70.8 ไม่เชื่อมั่นว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้

ส่วนความหวังและการเลือกตั้ง พบว่าร้อยละ 75.4 หมดความหวังต่ออนาคตของประชาธิปไตย ขณะที่ร้อยละ 24.6 ยังคงมีความหวังอยู่ นอกจากนี้ร้อยละ 75.2 ไม่เห็นด้วยที่จะมีนายกฯคนนอกเข้ามาบริหารประเทศ เห็นด้วยเพียงร้อยละ 24.8

หัวข้อที่น่าสนใจคือ หากมีการเลือกตั้งจะไปหรือไม่นั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ 72.9 ยืนยันจะไปเลือกตั้ง ร้อยละ 21.6 อยู่ระหว่างตัดสินใจ และร้อยละ 4.2 จะไม่ไปเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองที่นักศึกษาพร้อมจะลงคะแนนเสียงให้ ร้อยละ 22.7 คือพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมาร้อยละ 20.3 พรรคเพื่อไทย และกว่าร้อยละ 21.6 ลงคะแนนให้พรรคทางเลือกใหม่ๆ ต่ำสุดร้อยละ 2.5 คือพรรคทหาร

ส่วนคนที่อยากให้เป็นนายกฯมากที่สุด ร้อยละ 70.6 ไม่ระบุเจาะจงบุคคลใด แต่ในจำนวนนี้ระบุว่าเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 35 ถัดมาร้อยละ 6.8 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 5.7 นายทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 4.1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 1.9 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 1.6 นายอุดม แต้พานิช ร้อยละ 1.3 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ร้อยละ 1.1 นายอาทิวราห์ คงมาลัย และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร้อยละ 0.9

4 ปี แป๊บเดียว!!??

แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาบ้านเมืองของรัฐบาลทหารว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ยกเว้นการทำให้บ้านเมืองสงบ แต่ก็เป็นความสงบภายใต้ “อำนาจจากปลายกระบอกปืน” ที่กดหัวประชาชน ไม่ใช่ความสงบสุขเพราะการกินดีอยู่ดีและความสามัคคีปรองดอง แต่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์กลับภูมิใจผลงานที่ทำและไม่ปิดประตูที่กลุ่มต่างๆจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์จึงมีอารมณ์ดีวันครบรอบ 4 ปีของ คสช. ซึ่งเหมือนวันเกิด คสช. โดยกล่าวกับนักข่าวที่แซว Happy Birthday ว่า “ผมมีวันเกิด 2 วันคือ 21 มีนาคม วันเกิดผม และ 22 พฤษภาคม 2557 วันเกิด คสช. ที่ทำให้ผมต้องมาอยู่ตรงนี้”

พล.อ.ประยุทธ์ยังบอกว่าครบรอบ 4 ปีที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศของรัฐบาล คสช.“ผมรู้สึกว่าเป็นเวลาแป๊บเดียว บางคนอาจจะบอกว่า 4 ปีเป็นเวลาที่นาน แต่สำหรับผมเห็นว่ายังมีอะไรที่ต้องแก้ไขและทำอีกเยอะ”

คำพูดที่ออกมาอย่างอารมณ์ดีของ พล.อ.ประยุทธ์ทำให้สังคมออนไลน์ถากถางทันทีว่า “นี่คืออาการของคนที่เสพติดอำนาจ หลงอยู่ในสถานะของผู้มีอำนาจล้นฟ้า เพลินจนไม่รู้คืนวัน”

ส่วนจะมี “คนรัก” หรือ “คนเกลียด” มากกว่ากันนั้น เพียงแค่ให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบเอง

4 ปี สำหรับคนที่กำลังระเริงอยู่กับอำนาจอาจจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็ว แต่สำหรับคนที่ถูกกระทำย่ำยี กลั่นแกล้ง ถูกพรากสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ไปนั้น แม้แต่นาทีเดียว ชั่วโมงเดียว วันเดียว ยิ่งกว่านานแสนนาน…

คืนที่สองที่ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และเพื่อนอีก 14 คน ถูกจับตัวขังไว้ในห้องขังของสถานีตำรวจ เธอได้เขียนชี้แจงถึงการที่เธอถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ใส่เศษกระดาษฝากออกมาแทนคำสื่อสาร

ประโยคสุดท้ายของคำชี้แจงด้วยลายมือของเธอคือ

“ในห้องกักขังนี้มีความสกปรกโสมม ซึ่งคอยเตือนใจให้เราไม่ลืมความโสโครกของเผด็จการ”


You must be logged in to post a comment Login