วันพฤหัสที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“งูเล็ก”กำลังจะเป็น”พญามังกร “

On April 13, 2018

คอลัมน์:โดนไปบ่นไป “งูเล็ก”กำลังจะเป็น”พญามังกร “

โดย อนุดิษฐ์ นาครทรรพ (โลกวันนี้วันสุข วันที่ 13-20 เมษายน 2561)

ในตอนที่แล้วผมเล่าให้ฟังเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องและมั่นคงของประเทศเวียดนามให้ฟังปรากฏว่ามีเพื่อนๆที่ทำงานให้กับรัฐบาลคสช.หลายท่านโวยผมว่าไปยกย่องและดีใจกับความสำเร็จของประเทศอื่นทำไม!

ผมก็ได้แต่ตอบว่าการยกย่องและดีใจกับเรื่องอันประเสริฐที่เกิดขึ้นกับใครก็ตามถือว่าเป็นเรื่องดีงามที่ชาวไทย“ควรปฏิบัติ” ด้วยใจที่เป็น“กุศล” ไม่ใช่หรือ?

และที่สำคัญก็คือผมไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช.เลยแม้แต่นิดเดียวเพราะผมเชื่อว่าแม้แต่“เด็กอมมือ” ก็แยกแยะออกว่าในปัจจุบันขุนพลเศรษฐกิจของทีม“ช้างศึก” มีความสามารถและประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน? ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปเดินตามตลาดแล้วถาม“พ่อค้าแม่ขาย” ดูเอาเองก็แล้วกันรับรองว่าจะได้ยินแต่คำสรรเสริญ เต็มสองรูหูแน่นอน

อๅ

นอกจากคำตำหนิติเตียนที่สื่อสารมาถึงผมแล้วก็ยังมีเสียงเรียกร้องให้ผมเขียนเรื่องของประเทศเวียดนามและประเทศอื่นๆให้ฟังอีกไม่น้อยผมเลยคิดว่าการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่มีให้แก่ท่านผู้อ่านน่าจะมีประโยชน์มากกว่าเลยถือโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์อันน้อยนิดของผมต่อไป

เพราะผมเชื่อว่าการรู้เขารู้เรานี่แหละที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้จากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมต่างๆทั่วโลกที่ทำให้พวกไดโนเสาร์เต่าโบราณต้องทะยอยสูญพันธุ์ไปจากโลกอยู่ในขณะนี้

v2

เข้าเรื่องที่มีสาระต่อกันดีกว่าครับสัปดาห์นี้เรายังอยู่กันที่ประเทศเวียดนามผมมีโอกาสได้อ่านบทสรุปปาฐกถาของนาย “เหงียนชวนฟุก” นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่พึ่งเข้ามาทำงานได้ครบ 2 ปีในเดือนเมษายนนี้เอง

ท่านนายกเวียดนามกล่าวกับพี่น้องเกษตรกรที่จังหวัด Hai Duong ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญและดูแลการเกษตรกรรมในประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไปโดยเฉพาะการพัฒนาและสร้างโอกาสที่ดีที่สุดด้านการเกษตรให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล

นอกเหนือไปจากความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมของภาคการเกษตรในหลายปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่ายังมีคำถามมากมายที่ยังไม่ได้รับคำตอบยกตัวอย่างเช่นประชากรเวียดนามกว่า 70% อาศัยอยู่ในชนบทและมีจำนวนมากถึง 43% ที่เป็นวัยแรงงานที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักแต่สามารถสร้างผลผลิตมวลรวมภายในประเทศได้เพียง 18 % เท่านั้นเอง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวรัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญและต้อง“ลงมา” ร่วมไม้ร่วมมือกับประชาชนในชนบทอย่างใกล้ชิดเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคอันจะนำไปสู่การพัฒนาด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพยั่งยืนและสร้างความมั่งคั่งได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

มีพี่น้องเกษตรกรชาวเวียดนามถามปัญหาท่านนายกฯ“ฟุก” ถึงราคาพืชผลที่ตกต่ำในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตออกมาล้นตลาดว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร? นายก“ลุงฟุก” ตอบว่าหลายปีมานี้รัฐบาลได้พยายามอย่างหนักในการหาตลาดขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผลผลิตจำนวนมากในราคาที่ยุติธรรมแต่ในขณะเดียวกันเกษตรกรและบริษัทรับซื้อผลผลิตเพื่อการส่งออกก็ต้องพยายามปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงผลผลิตของตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วยเช่นกัน

ลุงฟุกกล่าวว่า“ก่อนที่จะลงมือเพาะปลูกในรอบต่อไปเกษตรกรต้องมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะผลิตผลผลิตออกมาเป็นจำนวนเท่าไหร่? แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือผลิตออกมาแล้วจะไปขายให้กับใคร?”

ชัดเจนครับว่าไม่ได้แนะนำให้ไปขายที่ดาวอังคารแน่ๆ!

ในทำนองเดียวกัน“ลุงฟุก” เน้นว่ากระบวนการในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรจากการแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันซึ่งบริษัทต่างๆต้องมีความกระตือรือล้นในการสร้างกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและแปรรูปสินค้าให้มีราคาและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแท้จริง

นอกจากนั้นรัฐบาลเวียดนามยังตระหนักถึงปัญหาความยากลำบากในการที่ผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะสินค้าที่มีคุณภาพออกจากสินค้าที่มีมาตรฐานปรกติได้ทำให้เกษตรกร“ลังเล” ที่จะเพิ่มต้นทุนในการสร้างวัตุถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

ดังนั้น“ลุงฟุก” จึงสั่งการให้“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท” นายเหงียนซวนเกื่องประกาศต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนว่ารัฐบาลขอให้ทุกฝ่ายพัฒนามาตรฐานคุณภาพของสินค้าและเพิ่มการโฆษณาทางการตลาดเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าที่ถูกผลิตอย่างมีคุณภาพและสนับสนุนให้ผู้ผลิตสามารถสร้างแบรนด์ที่น่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เท่านั้นยังไม่พอ“ลุงฟุก” ทราบดีว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดผลผลิตของตัวเองได้ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ“รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเวียดนาม” นาย Dao Minh Tu ที่ได้สรุปสาเหตุความล้มเหลวของการกู้เงินในห้วงเวลาก่อนหน้านี้เอาไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้เพราะเกษตรกรไม่ได้ใช้เงินกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายแต่นำไปใช้จ่ายโดยไร้ประสิทธิภาพจึงทำให้เกิดหนี้เสียและทำให้ธนาคารจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการในการกู้ยืมซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเกิดความยากลำบากในการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพราะแบงค์จำเป็นต้องเข้มงวดมากขึ้น

สำหรับยอดหนี้สินที่สถาบันการเงินให้เกษตรกรในชนบทกู้ในขณะนี้มียอดสูงถึง 1.3 พันล้านล้านดองเวียดนาม (VND) หรือประมาณ 22 % ของยอดเงินกู้ในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงการคลังของเวียดนาม นาย  Huynh Quang Ha กล่าวว่าเมื่อปีที่แล้วกระทรวงการคลังได้อนุมัติเงิน 600,000 ล้านดองเวียดนาม (VND) ให้แก่กองทุนสนับสนุนเกษตรกรที่มีสหภาพเกษตรกรแห่งประเทศเป็นผู้ดูแลและในปีนี้ก็มีการร้องขอให้เพิ่มเงินแก่กองทุนเพิ่มขึ้นอีกโดยสหภาพเกษตรกรจะเป็นผู้จัดสรรปันส่วนเงินกู้จำนวนนี้อย่างยุติธรรมเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

สรุปแล้วนายก“ลุงฟุก” ประกาศเจตนารมย์และความต้องการอย่างชัดเจนว่าเวียดนามจะต้องพัฒนาด้านการเกษตรให้มีความทันสมัยและยั่งยืนโดยเน้นการผลิตขนาดใหญ่ที่ให้ผลผลิตจำนวนมากแต่เต็มไปด้วยคุณภาพและมีราคาที่แข่งขันได้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยด้านอาหารทั้งระยะสั้นระยะยาวโดยเวียดนามไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ในชนบทจะต้องมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ทันสมัยและมีเอกลักษณ์มั่นคงภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลายโดยมุ่งเน้นการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชากรให้ดีขึ้นโดยต้องคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนั้น“ลุงฟุก” ยังขอให้ภาครัฐทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่นเร่งปฏิรูปการบริหารในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุนในภาคเกษตรกรรมและในพื้นที่ชนบทเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในระดับต่างๆสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นโดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.5-1% อีกด้วย

ส่วนกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทและกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าทั้ง 2 กระทรวงต้องช่วยกันดึงดูดและสร้างธุรกิจด้านการเกษตรและพัฒนาชนบทด้วยการสร้างเครือข่ายทางการเกษตรและสร้างความสัมพันธ์กับเกษตรกรให้มากขึ้นโดยรัฐบาลจะเปิดช่องทางเพื่อรับข้อเสนอแนะของประชาชนและช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นซึ่งจะทำให้ฐานรากของประเทศเข้มแข็งและเวียดนามจะเจริญเติบโตได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนามเป็นเพียงแค่น้ำจิ้มของการเติมเต็มความสำเร็จในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่ถ้าลงไปเจาะลึกด้านอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการและการท่องเที่ยวของ“งูเล็ก” ตัวนี้จะรู้ได้เลยว่าอีกไม่กี่ปีจริงๆ!

อีกไม่กี่ปี! ที่งูเล็กตัวนี้จะเติบใหญ่กลายไปเป็นพญามังกร

ส่วนประเทศไทยของผมก็คงต้องรอลุงตู่และคณะกันต่อไป


You must be logged in to post a comment Login