วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

4 จังหวัดผนึกกำลัง ดึงนักท่องเที่ยวสู่ “บ้านเพชรเพลินดิน”

On April 11, 2018

นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีร่วมกับดร.ประสพชัย พสุนนท์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร นายสุเทพ สงวนคัมธรณ์ พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี นายธานินทร์ ถิตตยานุรักษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี และนายวิษณุ ตราชูวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ YECหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ระหว่างจังหวัดเพชรบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากรและหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี ตามโครงการเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร “บ้านเพชรเพลินดิน “เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนเชื่อมโยงความหลากหลายของวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ณ โรงแรมไมด้า เดอซี หัวหิน เมื่อเร็วๆ นี้
นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า “เพชรสมุทรคีรี”เป็นชื่อของกลุ่มจังหวัดประกอบด้วยสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เราร่วมทำโครงการเศรษฐกิจชุมชนครบวงจรภายใต้ชื่อว่า “เพชรเพลินดิน” ขึ้นมา คำว่า”เพชร”แปลว่า สิ่งที่มีค่า “เพลิน” แปลว่า สนุกสนานมีความสุข  “ดิน”แปลว่าลงไปที่กลุ่มที่อยู่ข้างล่าง ความหมายโดยรวมคือ จะทำอย่างไรให้การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมีคุณค่าและเต็มไปด้วยความสุขในการทำงาน นี่คือที่มาของ”เพชรเพลินดิน” ซึ่งเป็นความคิดของวัยรุ่นกลุ่ม YEC  ที่อยากเห็นบ้านเมืองเขาได้มีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตในชุมชนในหลายสาขา เช่น เกษตร อาหารพื้นถิ่น สุขภาพ วัฒนธรรมฯ  โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ ชุมชนทางการเกษตรกร ได้แก่ชุมชนที่ทำการเพาะปลูกพืช ผัก ผลไม้ เด่นๆของชุมชนรวมถึงพืชสมุนไพรโดยมุ่งให้เกิดวิถีชีวิตพอเพียง ชุมชนทางอาหาร ได้แก่ ผู้ผลิตอาหารในชุมชน กลุ่มแม่ครัวพื้นถิ่น ร้านอาหาร แผงลอย เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพอร่อยทั้งแบบคงตำรับดั้งเดิมและแบบที่มีนวัตกรรมใหม่ ชุมชนทางสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ วัด มัสยิด โรงเรียน มหาวิทยาลัย ธุรกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ครั้งนี้เป็นการรวมตัวผนึกกำลัง ค้นหาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์พื้นถิ่นบวกกับความตั้งใจและการดูแลด้วยความร่วมมือ นำไปสู่ฐานรากเศรษฐกิจของชาวบ้าน ทั้งตลาดสินค้าเกษตร อาหารคุณภาพ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากการรวมตัวที่เริ่มต้นด้วยคำแนะนำซึ่งกันและกัน การดูแลจากหอการค้าและกำลังงบประมาณจะส่งผลให้เกิดเป็นผลผลิตทรงคุณค่า อันเป็นที่มาของบ้านเพชรเพลินดิน การร่วมมือในครั้งนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาโครงการต่างๆโดยเฉพาะโครงการเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร ที่พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนแบบครบวงจร ที่พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนแบบครบวงจร ให้ชุมชน มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรียังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแล้วต้องขับเคลื่อนโครงการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมชัดเจน ขั้นต้นทำอะไร ตรงกลางทำอะไร ไม่เป็นแค่เพียงผลิตภัณฑ์ แต่ต้องมีองค์ความรู้ ชุมชนสามารถต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ สร้างการตลาดถาวรเกิดความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ 4 จังหวัดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นแต่ยังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้เติบโตถึงทุกภาคส่วนทั้งประเทศ “บ้านเพชรเพลินดิน”ถือเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น สานนโยบายรัฐบาลไทยนิยม ยั่งยืน อย่างต่อเนื่อง
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. ประสพชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เป็นการร่วมมือทางภาครัฐคือทางกลุ่ม เพชรสมุทรคีรี หอการค้าจังหวัดและทางYECรวมถึงภาควิชาการมหาวิทยาลัยศิลปากรในการร่วมมือกันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน อีกสายงานหนึ่งที่ร่วมทำงานกับเราคือ พัฒนาชุมชนจังหวัด สิ่งที่ทำคือการสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าจาก4จังหวัดให้มีความโดดเด่น ให้มีความคงทนและถาวรมีระยะเวลาในการขายได้ยาวขึ้น รสชาติดีขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่สวยงามขึ้น โดยใช้องค์ความรู้เข้ามาช่วยในการแปรรูปสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งมีความโดดเด่นมาก เมื่อแปรรูปเสร็จแล้วทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการจำหน่ายทั้งในรูปของออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้ตรงจุดตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ “
มีการจัดการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ อาทิ การตลาด การจัดอีเว้นท์ ธุรกิจระหว่างประเทศ การสร้างแบรนด์ ตรงนี้เรามีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้การสนับสนุนลงไปในพื้นที่ให้คำแนะนำชาวบ้านได้เลย รวมคณะทำงานครั้งนี้กว่าร้อยคน กระจายกันไปใน5-6 กรอบที่วางไว้ ซึ่งจะดำเนินการสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเราลงลึกในเรื่องของอัตลักษณ์ศิลปะและการออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้างการจดจำ สร้างการจงรักภักดีกลับมาซื้อซ้ำในตราสินค้า นี่คืออัตลักษณ์เด่นของมหาวิทยาลัยศิลปากร ในเนื้อหาของแต่ละกรอบแบ่งออกดังนี้ กรอบที่หนึ่งเป็นเรื่องของการดึงเอาอัตลักษณ์ของสินค้าออกมาศึกษาก่อนว่า ชุมชนแต่ละชุมชนมี 3 ระดับ คือ พออยู่พอกิน อยู่ดีกินดีและมั่งมีศรีสุข เราพยามทำให้ทุกคนเดินหน้าไปสู่กรอบแห่งความมั่งมีศรีสุข
ดังนั้นเราจึงไปดึงตัวสินค้ามาเป็นตัวตั้ง กรอบที่สองเราจะทำการแปรรูป ดูว่าสินค้าตัวไหนสามารถแปรรูปเพื่อสร้างความยั่งยืนได้ กรอบที่สามเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่าย กรอบที่สี่ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับกรอบที่1,2,3 เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เมื่อทางภาครัฐ หอการค้า มหาวิทยาลัยออกมาจากพื้นที่แล้วพวกเขาสามารถอยู่ได้ ส่วนกรอบสุดท้ายเป็นการรวบรวมทุกอย่างแล้วนำมาจัดเป็นงานเอ็กซ์โปซึ่งจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นต้นแบบของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสามารถเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการอื่นๆเข้ามาดูต้นแบบที่ประสบความสำเร็จนี้ได้
สำหรับวิธีการควบคุมคุณภาพ เรามีทีมทำงานและทีมที่ปรึกษา ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ลงในพื้นที่และทีมควบคุมอีกขั้นหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพ  ในขณะเดียวกันการทำงานของมหาวิทยาลัยมีการเก็บข้อมูลในรูปของวีดีโอเป็นระยะๆ สรุปรายงานกันทุกสัปดาห์ มีทีมของการออกแบบ ส่วนนักศึกษาจะได้นำเอาความรู้ในห้องเรียนไปสู่ภาคปฏิบัติในสภาพพื้นที่สังคมและช่วยเหลือผู้ประกอบการจริงๆ ตรงนี้ถือเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าสำหรับตัวนักศึกษา
ในส่วนของอาจารย์เราได้ให้บริการภาคของวิชาการ ได้ตอบแทนผู้ประกอบการในชุมชน และส่วนของชุมชนนั้นเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นการช่วยเพิ่มการกระจายรายได้ ไม่จำเป็นว่าคนทั้งประเทศต้องมากระจุกอยู่ในพื้นที่ ที่เที่ยวที่ใดที่หนึ่งแต่เราอยากให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือสร้างอัตลักษณ์บางอย่างเพื่อให้ชุมชนเจริญเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดการละทิ้งแรงงานทำให้ชุมชนเติบโตควบคู่ไปอย่างยั่งยืน  จากเดิมชุมชนต้องส่งสินค้าออกไปขายนอกพื้นที่แต่ กิจกรรมนี้เราทำให้นักท่องเที่ยวเดินเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ในชุมชน เพิ่มขึ้น
สุดท้ายภารกิจสำคัญบนพื้นที่เศรษฐกิจนี้จะช่วยตอบโจทย์ทางภาครัฐ 2 เรื่องด้วยกัน คือช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนจนกับคนรวยซึ่งมีความต่างกันมาก และเพื่อให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางซึ่งชุมชนติดกับดักนี้มานานเพราะนำรายได้ไปเฉลี่ยกับผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรหรือชุมนในท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย สิ่งที่เราต้องทำคือต้องทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นมา เขาจะต้องอยู่ที่เส้นเลยความยากจนและนำไปสู่ความอยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข นี่คือเป้าหมายอันสำคัญ
ด้าน นายวิษณุ ตราชูวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ YECหอการค้าจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ กล่าวว่า “ที่มาที่ไปของโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโครงการพิเศษในงบประมาณพิเศษในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจจังหวัด และมีงบประมาณออกมา ในนามของหอการค้าเพชรบุรี YECซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าได้รับโอกาสเข้ามาเสริมโครงการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดเพชรบุรี เราเลยได้เขียนโครงการฯขึ้นชื่อว่า”เพชรเพลินดิน”ซึ่งเป้าหมายต้องการที่จะขับเคลื่อนพัฒนาผู้ประกอบการในเขตจังหวัด “เพชรสมุทรคีรี” ให้มีโอกาสในการที่จะเข้าถึงแหล่งในการพัฒนา ส่งเสริมและยกระดับพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้กับผู้ประกอบการอย่างจริงจัง เราไม่ได้ทำเพียงแค่ต้นน้ำแต่เรามองถึงกลางน้ำและปลายน้ำหาช่องทางจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ด้วย”


You must be logged in to post a comment Login