วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ก้าวข้ามการเมืองในกะลา?

On March 29, 2018

คอลัมน์:จับกระแสการเมือง “ก้าวข้ามการเมืองในกะลา?”

โดย ทีมข่าวการเมือง (โลกวันนี้วันสุข วันที่ 30 มีนาคม – 6 เมษายน 2561)

ไม่ใช่แค่ 2 พรรคใหญ่ที่ประกาศไม่เอา “นายกฯคนนอก ล่าสุดพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยก็ประกาศไม่เอา “นายกฯคนนอก” เสียงจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ประกาศชัดเจนว่าไม่เอา “นายกฯคนนอก” ยกเว้นพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้ง

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังรำป้อเหมือนเป็น “นางเอก” ที่ไม่รู้ว่ารอ “พระเอก” มาตามจีบ หรือรอ “ผู้ร้าย” มารุมทึ้ง ไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธ แต่พร้อมจะอ้าแขนอ้าขารับหากมีคนสนับสนุน

29

การเมืองใหม่อยู่ที่ประชาชน การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ตรวจสอบได้ เห็นต่างได้ และเปลี่ยนแปลงได้ ตามกฎกติกาที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด

ทั้งที่วันนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกหรือไม่ เพราะ “กฎหมายลูก” 2 ฉบับสุดท้ายยังไม่รู้ว่าจะเป็นลูกผีหรือลูกคน

การเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ปิดประตูตายไปแล้ว  ส่วนการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังเป็นแค่ “ลมปาก” ที่ไม่มีอะไรแน่นอน

แถม “สมชัย ณ หอเอนปิซา ที่ถูกมาตรา 44 เด้งฟ้าผ่าเพราะขัดอารมณ์ “ทั่นผู้นำ” ยังแย้มว่า แม้มีการเลือกตั้งก็อาจจะเป็น “โมฆะ ได้ เพราะปัญหา “กฎหมายลูก” ที่ไม่ชัดเจน   หาก กกต. จัดให้มีการหย่อนบัตรเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา และฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าการทำงานของ กกต. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด การเลือกตั้งก็ต้องเป็นโมฆะ กกต. ต้องรับผิดทางแพ่งและชดใช้งบประมาณในการเลือกตั้งกว่า 4,800 ล้านบาท และรับผิดทางอาญากรณีกระทำการโดยประมาทจนเกิดความเสียหายต่อรัฐ

การตีความกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายจึงไม่ใช่เรื่องปรกติ  เพราะทุกปมปัญหาก็มาจาก “เรือแป๊ะ”  ไม่ใช่เพิ่งมีปัญหาที่ “สภาฝักถั่ว”  แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเขียนมาเพื่อให้มีปัญหากับการกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย  ไม่ใช่ให้มีประชาธิปไตยมั่นคงยั่งยืน

หากการเลือกตั้งปี 2562 โมฆะ  รัฐบาลคสช.ก็อยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอาจยาวไปถึงปี 2563

16

 

การออกมาเรียกร้องของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง ให้เลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และยุติบทบาท คสช. ให้รัฐบาล คสช. ทำหน้าที่เป็น “รัฐบาลรักษาการ” จึงมีเหตุผล แม้จะเป็นไปไม่ได้ แถม พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ยังลงมาร่วมเกมให้ตรวจสอบว่ากลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” เกี่ยวโยงกับกลุ่มการเมืองใดบ้าง

กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” จึงได้คนช่วยปั่นกระแสให้การเคลื่อนไหวได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ที่กระแสพุ่งกระฉูด ไม่ใช่เพียงเพราะความใหม่และความชัดเจนของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล” แต่เพราะฝ่ายเห็นต่างที่เรียงหน้าออกมาต่อต้านและพยายามบิดเบือนด้วยข้อกล่าวหาเดิมๆ ดึงสถาบันมาโจมตี ประชาชนก็ยิ่งเบื่อหน่ายกลุ่มหน้าเดิมๆ และยิ่งให้ความสนใจพรรคอนาคตใหม่

โดยเฉพาะนายธนาธรที่ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะเป็นรัฐบาลและพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่รำป้อไปป้อมาอย่าง “ทั่นผู้นำ” ที่แสดงบทฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดแบบ “คนตลก ยิ่งทำให้ทุกการเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ถูกจับตามอง ไม่ใช่เฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ที่เป็นคนหนุ่มสาว แต่เป็นคนทุกเพศทุกวัยที่อยากเห็นการเมืองไทยและประเทศไทยหลุดพ้นจาก “วงจรอุบาทว์” อย่างถาวร

หลุดพ้นจากวังวนการเมืองน้ำเน่าเดิมๆ

หลุดพ้นจากความอคติ ความเกลียดชัง และความขัดแย้งเดิมๆ กว่า 10 ปีที่ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะเดินไปกับสังคมโลก พรากอนาคตของคนหนุ่มสาวให้สูญหายไป

การที่กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ออกมาเคลื่อนไหวจึงตอกย้ำว่าไม่มีใครต้องการรัฐประหาร ไม่ต้องการให้ใครหรือกลุ่มใด “สืบทอดอำนาจ” พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่เอา “นายกฯคนนอก” ไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับ คสช.

ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงสามารถเป็นจริงได้ ไม่ใช่ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ที่เป็น “พิมพ์นิยม” ของ คสช.

การเมืองใหม่จึงอยู่ที่ประชาชน การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ตรวจสอบได้ เห็นต่างได้ และเปลี่ยนแปลงได้ ตามกฎกติกาที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด

ไม่ใช่การเมืองแบบ “อำนาจนิยม” ที่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนบ้านเมืองจมปลักอยู่ในกะลาซ้ำซากมาเกือบศตวรรษ !!??


You must be logged in to post a comment Login