วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

“อยากเปลี่ยนแปลงต้องมีความหวัง” สัมภาษณ์- เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On March 5, 2018

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อถ้าปี 2562 ยังไม่มีการเลือกตั้ง เงื่อนไขจะสุกงอมมากจนถึงขั้นมีการรวมตัวของประชาชนครั้งใหญ่ก็ได้ ยอมรับวันนี้การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นไปได้ยากเพราะยังมีความคิดที่แตกต่างกัน ทำอย่างไรจะให้ประชาชนหรือนิสิตนักศึกษารู้สึกอยากเข้าร่วม

++++++++++

เข้าสู่ปีที่ 4 แล้วสถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้ดีไปกว่าปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมาเลย ผมคิดว่าแย่ลงด้วย เราเห็นการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น เห็นสิ่งที่คิดว่า คสช. ดูดี บริสุทธิ์ เป็นผู้กล้า แต่แท้จริงแล้วขี้ขลาด หวงตำแหน่งหวงเก้าอี้ และรักพวกพ้องมากกว่ารักประชาชนชัดขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ตอนนี้เหมือนหน้าไหว้หลังหลอก ประชาชนที่เคยตั้งความหวังไว้รู้สึกแย่ รู้สึกสิ้นหวัง ทรัพยากรต่างๆของประเทศก็ถูกผลาญไปเรื่อยๆ เราจะติดหนี้อีกมากมายที่จะเป็นปัญหาให้กับลูกหลานในอนาคต

ผมคิดว่าขณะนี้ประชาชนเบื่อรัฐบาลชุดนี้แล้ว แต่พูดอะไรไปก็ไม่กลับมา อย่างน้อยเขาน่าจะฟังประชาชนบ้าง เกรงใจประชาชนบ้าง เขาไม่เกรงใจประชาชนแล้วยังซ้ำเติมประชาชนที่คิดต่างอีก แม้กระทั่งประชาชนที่เป็นพวกเดียวกับเขาก็ทนไม่ได้

หากสถานการณ์เป็นอย่างนี้อาจจะนำไปสู่สังคมที่สิ้นหวัง หากเราทนแบบนี้ไปเรื่อยๆก็ทำให้คนมองโลกในแง่ร้าย จะมีคนบางกลุ่มเริ่มคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่ไปยึดติดขั้วว่านี่เป็นเสื้อเหลือง กปปส. หรือเสื้อแดง เราต้องจับมือกัน จะมีคนคิดแบบนี้มากขึ้น

ปี 2561 ไม่มีเลือกตั้ง

การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆเป็นแทคติกเพื่อต้องการรักษาอำนาจ ทำอย่างไรเพื่อให้อำนาจอยู่ได้นานที่สุด ถ้ามองในแง่ดี มองอย่างเข้าใจ คสช. เขามีอุดมการณ์ของเขา อยากให้ประเทศเป็นแบบที่เขาปกครอง ซึ่งเขาคิดว่ามันดีที่สุดแล้ว วิธีคิดแบบทหารคิดว่าแบบนี้ดีที่สุด ผมไม่ค่อยแปลกใจ ผมมองว่าปี 2562 อาจยังไม่มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ผมไม่กล้าฟันธงว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร

การต่อสู้เพื่อให้มีการเลือกตั้ง อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้เราได้จินตนาการอะไรใหม่ๆ ถึงขบวนการเรายังไม่พร้อมแต่เราก็อยากเสี่ยง เพราะเราอยากได้อะไรใหม่ๆที่ให้พ้นจาก คสช. มันอาจจะดีขึ้น ตอนนี้ก็เหมือนการเดิมพัน เพราะเชื่อว่ามันน่าจะดีขึ้น

หากรัฐบาล คสช. เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆก็ส่งผลกระทบเยอะแน่ ขนาดการจัดอันดับทางวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆก็ร่วงลงมาเยอะจากการที่เราเป็นเผด็จการ ถ้าเป็นประชาธิปไตยเราก็จะสามารถถกเถียงอะไรที่มันเปิดกว้างและสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ก็จะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ไม่ใช่ถูกจำกัดอย่างนี้

ผมคิดว่าวันนี้เราเดินตามหลังประเทศอื่นๆไปหลายก้าวแล้ว มันจะทำลายอนาคตลูกหลาน อาจไม่ใช่รุ่นผม แต่เป็นรุ่นหลังๆที่ตามมาอีกเยอะมาก เฉพาะเรื่องหนี้สินที่เยอะมาก ไม่รู้ว่าจะชดใช้ไปอีกกี่รัฐบาล

การทวงสัญญาของประชาชน

ภาคประชาชนมีหลายกลุ่ม บางกลุ่มก็ยังไม่กล้าออกมา บางกลุ่มเขากล้าเพราะอยากจะเสี่ยง ซึ่งมีจำนวนมากที่อยากจะเสี่ยง เพราะเขาอยากได้รัฐบาลที่ดีกว่า ที่สำคัญเขาอยากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบใดก็ได้ มันมีหลายกลุ่มตอนนี้ อย่าลืมว่าเมื่อปี 2557 ก็มีหลายกลุ่มที่ไม่อยากได้นักการเมือง เขาบอกว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไป เขาจะได้นักการเมืองอย่างที่เขาอยากได้หรือเปล่า เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เขาอยากให้มีเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีบางกลุ่มที่ยังไม่พร้อมก็เก็บตัวเอาไว้ก่อน หรือกลุ่มที่ไม่สนใจเลยก็มี ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเลือกตั้งจะไม่มีคนเข้าร่วมมากมายเหมือนสมัย 14 ตุลาคมแน่นอน เพราะปัจจุบันมีอุดมการณ์หลายชุดมาก ความเป็นเอกภาพตอนนี้มันน้อยลง คนที่ออกมาแต่ละคนก็ไม่มั่นใจตัวเองเท่าไรนักว่าจะได้อะไร จะได้ประชาธิปไตยหรือเปล่า ได้รัฐธรรมนูญ คสช. แล้วจะออกมาเคลื่อนไหวทำไม เลือกตั้งแล้วมีพรรคการเมืองในระบบแบบ คสช. จะเลือกไปทำไม คือเขาไม่รู้ว่าถูกผิดอย่างไร

การเคลื่อนไหวของคนอยากให้เลือกตั้งครั้งนี้จึงลำบาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย เราต้องสร้างแนวร่วมชั่วคราวเพื่อให้เกิดความคิดที่สร้างสรรค์ ผมยังหวังว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะ คสช. ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งจะแย่ เนื่องจากความรู้สึกของคนวันนี้แย่ลงมาก บางคนคิดว่าเป็นเผด็จการ 1-2 ปีไม่เป็นไร แต่ถ้า 5-6 ปี หรือ 10 ปี เขาคงไม่ยินดีที่จะอยู่ภายใต้ระบบแบบนี้แน่นอน คสช. เขาก็รู้ ดังนั้น ถ้าปี 2562 ยังไม่มีการเลือกตั้งอีก เงื่อนไขมันจะสุกงอมมากจนถึงขั้นมีการรวมตัวของประชาชนครั้งใหญ่ก็ได้

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเป็นอย่างไร

ผมไม่ได้รู้จักกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เป็นการส่วนตัว อาจรู้จักแกนนำบางคน แต่ก็รู้จักในฐานะเพื่อน เขาจะทำอะไร จะเคลื่อนไหวอย่างไร ผมไม่รู้ แต่สิ่งที่ผมรู้คือกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยหรือกลุ่มอื่นๆต้องปรับขบวนครั้งใหญ่เหมือนกัน เพราะคนที่อยากร่วมมีมากขึ้น เขาจะรองรับคนจำนวนมากได้อย่างไร ทำให้คนที่เคยอยู่ต่างสีกัน ต่างความคิดกัน มาจับมือกันได้อย่างไร ถือเป็นโจทย์ใหญ่มาก โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้การขับเคลื่อนมีพลัง ผมคิดว่าการขับเคลื่อนของภาคประชาชนยังมีโอกาส เพียงแต่ตอนนี้ต้องค่อยๆทำ บางคนอาจตั้งไว้สูง สำหรับผมตั้งไว้แค่ 20% เท่านั้น เพราะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาขบวนการประชาธิปไตยต้องเข้าใจว่าเราอยู่ภายใต้บริบททหาร อะไรๆก็ทำยาก และการจัดตั้งก็ยังไม่ดีพอ มันไม่ต่อเนื่อง ไม่มีอะไรที่ได้เรียนรู้กันจริงๆ บางทีอาจเร็วไป บางทีก็ช้าไป ตรงนี้ต้องอาศัยกระบวนการคิดให้มากขึ้นว่าเราจะทำอย่างไร ต้องใช้เวลา ต้องทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เราต้องเรียนรู้ว่าจะโต้ตอบด้วยสันติวิธีอย่างไร ด้วยความรัก ความปรารถนาดี หรือจะโต้ตอบ

คสช. เขาออกมาโต้เราว่าเป็นพวกขายชาติ รับเงิน มีท่อน้ำเลี้ยง เราจะตอบโต้อย่างไรแล้วมันไม่เกิดความเกลียดชัง เราต้องคิด ที่ผ่านมาเราก็เหนื่อย คนทำงานก็น้อย จะดึงคนอื่นให้มาร่วมกับเราได้อย่างไร บางอย่างเราก็จำเป็นต้องทำเอง เพราะอย่างไรประชาธิปไตยก็ต้องเกิดขึ้นแน่ สมมุติพรุ่งนี้ คสช. ประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนก็ไม่ใช่ว่าประเทศนี้จะเดินต่อไปได้ดีนะ เพราะก่อนหน้านี้เราก็มีความขัดแย้งและความแตกหักระหว่างคน 2 กลุ่ม ตอนนี้ควรถือเป็นโอกาสที่เราจะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม ไม่ใช่ย้อนกลับไปที่เดิม ไม่ให้ทหารออกมาอีก บางคนเคยบอกว่าปี 2535 รัฐประหารจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ปี 2549 และปี 2557 ก็เกิดอีก มันไม่จริงหรอกหากเราไม่รู้จักปกป้องประชาธิปไตย เราต้องจินตนาการให้มันพ้นจากการเมืองแบบเดิมๆให้ได้

การใช้กฎหมายของ คสช.

ถ้าพูดจริงๆในแง่ยุทธศาสตร์ เราต้องรู้ว่าเราจะตั้งรับเขาอย่างไร ผมทำอะไรมาเยอะเหมือนกัน คสช. บางทีก็มาปิดมาห้าม เราต้องประมวลข้อมูลว่าครั้งต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าปัญหาตอนนี้มาจากเราตื่นเต้นเกินไป ตื่นเต้นในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก คิดว่ารัฐบาลคงดีขึ้น รัฐบาลคงไม่จับคนอีก ทั้งที่รู้ว่าไม่จริง เราจึงต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี ถ้า คสช. ทำแบบนี้ เราจะทำแบบไหน โต้ตอบได้ทันท่วงที แต่นั่นเป็นแค่เรื่องธรรมดา เพราะประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้เข้าร่วม สิ่งที่ควรคิดขณะนี้คือ ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนหรือนิสิตนักศึกษารู้สึกอยากเข้าร่วม ผมว่ามันต่างกับเหตุการณ์ 14 ตุลามาก เพราะเงื่อนไขและบริบทมันต่างกัน แต่ละยุคก็มีความคิดความอ่านที่ต่างกัน เราจะเอาเงื่อนไขอะไรมาเป็นเกณฑ์ เราต้องเรียนรู้ยุทธวิธีใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายขบวนการประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

การเคลื่อนไหวจะจุดติดหรือไม่

ผมไม่แน่ใจว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยหรือภาคประชาชนจะจุดติดหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ได้รับการสนับสนุนจากคนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สาเหตุเพราะการชูประเด็นที่คนไทยทั้งชาติยอมรับได้คือ เราไม่ต้องการคอร์รัปชัน ไม่ต้องการรัฐบาลที่ไม่พูดความจริง เราอยากได้รัฐบาลใหม่ แต่ก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะดีหรือไม่ เรามีบทเรียนทางประวัติศาสตร์เยอะมาก บางทีได้อย่างก็เสียอีกอย่าง เป็นอย่างนี้มาตลอด การเคลื่อนไหวอะไรจึงต้องพยายามดูผลลัพธ์ด้วย ดูกำลังตัวเอง และดูว่าเราต้องการอะไร ซึ่งผมมองว่าเรายังทำกันน้อยไป

การประกาศเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนพวกนี้จะพูดโดยไม่ระวังอยู่แล้ว เขาเป็นคนพูดจาแบบนี้อยู่แล้ว เป็นลักษณะบ้าอำนาจ ถือเป็นเรื่องปรกติ พอมีอำนาจมากๆก็เสพติดจนลืมตัว โดยเฉพาะคนยิ่งท้าทายด้วย เขาก็จะพูดแบบนี้ คิดว่าจะควบคุมอะไรก็ได้ แต่พูดแบบนี้ยิ่งเสีย ยิ่งทำให้หมดความน่าเชื่อถือ นั่นแหละอุดมการณ์ของเขาที่เราต้องเข้าใจด้วย

มองบทบาท พล.อ.ประยุทธ์อย่างไร

ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์หมดเรี่ยวแรงไปมาก เขาคงเห็นความไม่ยั่งยืน รู้ว่าจะอยู่แบบนี้ตลอดไปคงไม่ได้ ผมว่าที่เขาน่าจะเสียใจที่สุดตอนนี้คือว่าลงจากตำแหน่งแล้วจะไปไหนต่อ จะมีที่ยืนในสังคมต่อไปอย่างไร ไม่เหมือนตอนทำรัฐประหารตอนแรกๆ แต่เมื่อเสพติดอำนาจก็รู้ดีว่าจะแก้ไขทุกอย่างให้เป็นไปตามที่คิดไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็คงคิดแล้ว จะเห็นว่าช่วงหลังๆหน้าตา พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยมีอำนาจเท่าไร การพูดก็ลดลงเยอะ การวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ทนไม่ค่อยได้ มันกระทบจิตใจเขาเหลือเกิน

ผมคิดว่าเขาก็ปลงแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตที่เหลืออยู่รอด บางคนยอมรับได้ บางคนก็ยังแสดงความบ้าอำนาจต่อไป อย่างที่บอกว่าตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะอยู่จนชิน คนเราเมื่อมีชื่อเสียง มีคนยกย่องมาก เขาก็ต้องรู้บทเรียนด้วย อย่างครั้ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นอย่างไร ทำไมเขาจะไม่รู้ เขารู้ เขาแย่กว่า พล.อ.สุจินดาเสียอีก เพราะสมัย พล.อ.สุจินดาคนยังรู้น้อย แต่ปัจจุบันคนรู้จากอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ นี่คือความทุกข์ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่นั้น ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ แต่จะอยู่ในอำนาจนานคงยาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีวาทศิลป์ในการพูด พูดนี่ผิด พูดนั่นผิด ไม่มีบุคลิกทางการเมืองพอที่จะเป็นผู้นำ ถ้าเป็นนายกฯคนนอกก็คงอยู่ได้ไม่นาน ยิ่งมีฝ่ายค้าน พล.อ.ประยุทธ์จะยิ่งอยู่ลำบาก ดังนั้น ถ้าฉลาดพอก็ไม่น่าจะมา ยกเว้นว่าอยากมีอำนาจต่อ

แนวโน้มอนาคตประเทศไทย

อนาคตลำบากมืดมน คสช. ก็ลำบาก ประเทศจะดีขึ้นแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นโอกาสให้เราทุกคนได้สร้างชาติกันใหม่พร้อมๆกัน ซึ่งทางออกของประเทศจะต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง แต่ตอนนี้เรายังไม่มีพลังพอ เราต้องร่วมกันทำงาน ไม่ใช่การพูดดังๆในการทำให้มันยั่งยืน ผมอยากฝากเพื่อนนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ผมสรรเสริญการต่อสู้ของทุกคนที่เสียสละเพื่อประชาธิปไตย ถ้าช่วยอะไรได้ก็จะช่วยเต็มที่ เพราะถ้าเราไม่ปกป้อง รัฐบาล คสช. ก็จะเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนไป เราต้องช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างกัน ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความยุติธรรม เพื่อประเทศไทยของเรา

ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำงานเคลื่อนไหวในแนวทางอื่นๆด้วย จะมีผู้นำไม่กี่คนเป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่น ทุกคนต้องเป็นผู้นำ ทุกคนอยากเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีความหวัง ความฝัน ตอนนี้เราอย่าไปโยนให้กับผู้นำคนใดคนหนึ่ง อย่าไปคาดหวังอะไรที่สูงไป ทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยเหลือกัน การเปลี่ยนแปลงมีหลายวิธี ไม่ใช่วิธีนี้วิธีเดียว ต้องมองการณ์ไกลให้มากขึ้น


You must be logged in to post a comment Login