วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พรรคทางเลือกใหม่

On March 5, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเปิดรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองที่เต็มไปด้วยความคึกคัก แม้จะมีพรรคการเมืองเกิดใหม่จำนวนมาก แต่จะมีพรรคทางเลือกใหม่ให้ประชาชนจริงๆไม่ 2-3 พรรค ในยุคที่ประชาชนถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายชัดเจน ใครอยากเป็นพรรคทางเลือกใหม่ต้องออกนโยบายให้ถูกใจประชาชนในฝั่งที่มองไว้เป็นเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่นพรรค กปปส. พรรคของกลุ่มนิติราษฎร์ แม้ยังไม่แถลงนโยบายแต่ภาพของพรรคชัดเจนแล้ว ถ้าออกนโยบายดีๆโดนๆ จะยิ่งช่วยผลักดันให้ภาพของพรรคโดดเด่น และถ้าเด่นมากพอก็สามารถขึ้นมาเป็นพรรคทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนทั้งสองฝ่ายได้ส่วนพรรคแทงกั๊กทั้งหลายจะเป็นได้แค่พรรคไม้ประดับรอให้พรรคใหญ่กวักมือไปร่วมรัฐบาลเท่านั้น

คึกคักกว่าที่คาดสำหรับการเปิดจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นวันแรกที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีผู้มาแจ้งความจำนงค์ขอจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองมากถึง 41 พรรค

ชื่อพรรคก็หลากหลาย เช่น พรรคไทยเอกภาพ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคชาติพันธุ์ไทย พรรคกรีน พรรคประชานิยม พรรคของประชาชน พรรคคนสร้างชาติ พรรคสยามไทยแลนด์ พรรคพลังชาติไทย พรรคพัฒนาไทย พรรคเครือข่ายประชาชนชาวไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาไท พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคประชาชาติ พรรคไทยศรีวิไลย์

นอกจากนี้ยังมีพรรคชื่อแปลกๆ อย่าง พรรคเห็นแก่ตัว

ขั้นตอนหลังจากนี้ กกต.จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร คุณสมบัติของสมาชิกพรรค โดยขั้นตอนนี้กกต.จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน พรรคไหนผ่านการรับรองให้จัดตั้งได้ จะต้องไปหาผู้ร่วมก่อตั้งพรรคให้ได้ 500 คนเป็นอย่างต่ำ รวบรวมเงินทุนก้อนแรกให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ภายใน 180 วัน

ส่วนการประชุมเตรียมจัดตั้งพรรคต้องยื่นขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน เพื่อไม่ให้ขัดต่อคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง โดยในใบที่ยื่นขออนุญาต จะต้องระบุประเภทกิจกรรม วันเวลา สถานที่ จำนวนผู้เข้าร่วมโดยประมาณ ผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมในแต่ละครั้งให้ชัดเจน

ในความหลากหลายของกลุ่มคนที่มายื่นจับจองชื่อพรรคการเมืองยังมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือการแย่งกันประกาศสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสองหลังการเลือกตั้ง

การประกาศเช่นนี้ถือเป็นนโยบายในการหาเสียงอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตามแม้จะเปิดให้จับจองชื่อพรรคการเมืองแล้ว และบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก แต่ก็เป็นความคึกคักที่มีกรอบบังคับอยู่ เนื่องจาก คสช.ยังไม่ได้ปลดล็อกทางการเมือง การจะเคลื่อนไหวทำอะไรต้องยื่นขออนุญาตจากคสช.ก่อน โดยคสช.จะพิจารณาเป็นกรณีไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่คล่องตัวอยู่พอสมควร

“ผมตอบไม่ถูกว่า พรรคการเมืองที่จดทะเบียนใหม่จะสามารถเคลื่อนไหวได้มากน้อยแค่ไหน แต่ให้ถือหลักว่า ถ้าจะทำอะไรให้แจ้ง คสช.ไว้ก่อน”

เป็นคำเตือนจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้การยื่นขอจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่มีกรอบเวลากำหนดสามารถยื่นได้ตลอดเวลาซึ่งก็น่าจะมีคนมายื่นจดทะเบียนกับกกต.เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามแม้จะมีพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่การแข่งขันกันในสนามเลือกตั้งคงมีไม่กี่พรรค

พรรคที่จะได้รับการเลือกตั้งมีส.ส.ในสภาน่าจะอยู่ที่ 10 พรรคบวกลบเล็กน้อย

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น (ถ้าไม่เลื่อนอีก) น่าจะเป็นการแข่งขันของการเมืองสองขั้วซ้ายกับขวาไม่มีกลางๆ

ใครที่คิดว่าแทงกั๊กออกนโยบายเป็นโซ่ข้อกลางมาแก้ความขัดแย้ง มาสร้างความปรองดองอย่าคิดว่าจะแจ้งเกิดในสนามเลือกตั้งได้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในชาติต้องการความปรองดอง ต้องการหลุดพ้นจากความขัดแย้ง

ในสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยตอนนี้ประชาชนได้ถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนแล้ว ปัจจัยในการการตัดสินใจลงคะแนนจะไม่ดูที่นโยบายเป็นหลัก แต่จะใช้วิธีดูหน้าผู้สมัครแทนว่าสังกัดพรรคการเมืองไหน มีแนวคิด จุดยืนทางการเมืองอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา

พรรคใหม่ถ้าคิดจะแจ้งเกิดต้องมีนโยบายเด่นชัดว่าเทไปเข้ากับข้างไหน จึงมีสิทธิชิงเก้าอี้ส.ส.ได้

ยกตัวอย่างเช่นพรรค กปปส. พรรคของกลุ่มนิติราษฎร์ แม้ยังไม่แถลงนโยบายแต่ภาพของพรรคชัดเจนแล้วว่าอยู่ในตำแหน่งไหนอย่างไร

ถ้าออกนโยบายดีๆโดนๆ จะยิ่งช่วยผลักดันให้ภาพของพรรคโดดเด่นมากยิ่งขึ้น และถ้าเด่นมากพอก็สามารถขึ้นมาเป็นพรรคทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนทั้งสองฝ่ายได้

ส่วนพรรคแทงกั๊กทั้งหลายจะเป็นได้แค่พรรคไม้ประดับรอให้พรรคใหญ่กวักมือไปร่วมรัฐบาลเพื่อใช้เสียงส.ส.ช่วยค้ำบัลลังค์เท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login