วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

#ทีมป้า..มาแรง/ โดย ทีมข่าวการเมือง

On February 26, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“วันนี้ผมเป็นห่วงนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ถามว่าการที่ไปเอาหลักการของต่างประเทศเข้ามา และต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ลืมดูไปว่าตอนที่ต่างประเทศเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นมีการบาดเจ็บและสูญเสียไปเท่าไร กี่แสนกี่ล้านคน แล้วเราจะเปลี่ยนแบบเขาหรือ เพราะเราเองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทางที่สงบ ในทางที่ไม่เกิดความขัดแย้งสูญเสีย ผมจึงขอฝากครูอาจารย์ที่ออกไปสนับสนุนด้วย อย่าสอนเด็กเหมือนทุกวันนี้ หลายท่านเองก็ไม่เคยทำงานทำการ จบด้านวิชาการออกมาแล้วก็ไปสอน และขอฝากสื่อด้วยว่าอย่าไปขยายข่าวแบบนี้ให้มากนัก”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ทั้งอ้างสาระสำคัญของศาสนาพุทธคือ สังคมแห่งความปรองดอง สังคมแห่งสันติสุข ไม่ได้สอนให้มาทะเลาะขัดแย้งกัน มีอะไรก็พูดจาหารือกัน นั่นแหละสังคมไทย ใครที่ไม่ได้ทำให้สังคมเป็นแบบนี้ก็แย่ ลุงก็ทำให้พวกเราไม่ได้ ทำให้คนอื่นเรียนหนังสือเก่งแล้วก็ขอให้เป็นคนดีด้วย อดทนหน่อย บ้านเมืองมีปัญหาพอสมควรแล้ว อย่าให้มีอีกเลย

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า เด็กทุกคนเหมือนผ้าขาวที่พับไว้ เป็นผ้าที่บริสุทธิ์ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ผ่านการสั่งสอนจากครอบครัวและครูบาอาจารย์ เพราะฉะนั้นครูอาจารย์ก่อนที่จะสอนอย่างอื่น จะต้องสอนให้เด็กอยู่ในกรอบศาสนา อยู่ในศีลในธรรม อย่าไปสอนเรื่องความขัดแย้งก่อน ไม่เช่นนั้นผ้าขาวจะไม่บริสุทธิ์ เพราะบางครั้งพื้นฐานหลักคิดของเด็กยังมีไม่เพียงพอ ถ้าไปรับหรือสอนแนวคิดแบบต่างประเทศก็จะไปกันใหญ่ทั้งหมด เพราะเด็กคือพลังสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนในทางที่ถูกและดี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังการประชุม ครม. ถึงกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า อย่าให้คนเพียงไม่กี่คนมาชี้นำ เพราะการสำรวจโพลความคิดเห็นร้อยละ 30 ประชาชนไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ หากเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น หลายคนอยากไปเลือกตั้ง แต่หลายคนอยากให้ คสช. อยู่ต่อ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทั้งยืนยันว่าจะไม่มีการคว่ำกฎหมายลูก 2 ฉบับที่กำลังพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนี้เพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไปอย่างที่พูดกันแน่นอน ไม่อยากให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปร่วมการชุมนุม วันหน้าจะเกิดเหตุการณ์บานปลายหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ยืนยันว่าไม่เคยเอาคำสั่ง คสช. มาลงโทษ ถ้าลงโทษก็จับติดคุก 2 ปีแล้ว

จุดประเด็นท่อน้ำเลี้ยง

เห็นได้ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์มองนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว “อยากเลือกตั้ง” กับภาคประชาชนขณะนี้เหมือนเด็กไร้เดียงสา ไม่มีความคิดความอ่านเพียงพอ ซึ่งย้อนแย้งกับรัฐธรรมนูญที่ถือว่าผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีวุฒิภาวะทางการเมืองและมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปได้

จึงไม่แปลกที่ฝ่ายความมั่นคงจะแถลงว่ากำลังตรวจสอบว่ามี “ท่อน้ำเลี้ยง” หรือการสนับสนุนจากผู้ไม่หวังดีกับรัฐบาลหรือไม่ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวและท่อน้ำเลี้ยงอาจมีมากกว่า 3 กลุ่ม

ส่วนการเคลื่อนไหวครบ 4 ปีวันที่ 22 พฤษภาคมนั้น พล.อ.ประวิตรเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดความวุ่นวาย เพราะคนไทยรู้อยู่แล้วว่า คสช. ทำทุกอย่างให้เกิดความสงบ แต่ที่ไม่สงบเพราะสื่อถาม ตอนนี้ไม่มีอะไร ทุกอย่างสงบดี ประชาชนอยู่ดีกินดี

ส่วนกรณีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รณรงค์รวบรวมรายชื่อ 7 ล้านคนทั่วโลก เพื่อคัดค้านรัฐบาล คสช. ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย ซึ่งต่างประเทศทำอะไรไม่ได้ เรากำหนดกฎหมายขึ้นมา เราก็ต้องใช้กฎหมายของเรา

ผบ.ทบ. ชี้อยู่นานคนก็เบื่อ

ที่น่าสนใจคือ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กลับยอมรับว่าคนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้งกว่า 50-60% เป็นเรื่องปรกติ เป็นธรรมชาติของคน พออยู่นานก็รู้สึกเบื่อ อยากหาสิ่งที่ดีกว่า แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร เรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปรกติ แต่ยืนยันว่า กอ.รมน. ไม่ได้ลงพื้นที่ทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าอยากเลือกตั้งหรือไม่อยากเลือกตั้ง

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงกลุ่มอยากเลือกตั้งว่า ถ้าเคลื่อนไหวเพราะความเดือดร้อนจากผลกระทบในโครงการรัฐหรือปัญหาปากท้องก็พิจารณาเป็นประเด็น แต่ถ้าเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มอยากเลือกตั้ง คสช. ขอทำความเข้าใจว่ากำลังดำเนินการไปสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว เพียงแต่รายละเอียดการปฏิบัติต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง คสช. ต้องการให้ช่วงรอยต่อที่จะได้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคใดๆเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อได้ คสช. ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา อะไรก็ตามที่จะทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย คสช. คงไม่ปล่อยปละละเลยเด็ดขาด

มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการที่ยึดมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งประชาธิปไตย ออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่กังวลที่นักศึกษาและประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยว่า วางอยู่บนความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการที่มีต่อทั้งนักศึกษาและสังคม ซึ่งเป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยและเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นการยึดหลักการต่างประเทศที่ไม่มีรากฐานทางการเมืองและกฎหมาย ความสูญเสียจะเกิดขึ้นก็แต่เฉพาะผู้มีอำนาจรัฐหรือ คสช. ปฏิเสธว่าประเทศนี้ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกระดาษที่ไร้ความหมาย การที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องเพื่ออนาคตของพวกเขาและคนร่วมสังคมจึงอยู่ในครรลองของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา

การที่นักวิชาการชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่สังคมไทยในปัจจุบันกำลังประสบอยู่คืออะไร ยึดโยงอยู่กับบริบท เงื่อนไข และปัจจัยไหน ทางออกที่ถูกที่ควรคืออะไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่ปล่อยให้ความรู้ความเข้าใจอยู่นิ่งอย่างเฉื่อยชา หากแต่พาเข้าไปสู่สาธารณะหรือว่าใจกลางของปัญหา เป็นการทำให้วิชาการมีความเกี่ยวพันกับการแก้ปัญหาสังคมยิ่งขึ้นในการที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งสนับสนุนหรือออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องความถูกต้องและประชาธิปไตย

คนส. เรียนกลับไปยังหัวหน้า คสช. ให้ทบทวนความเข้าใจที่ท่านมีต่อนักศึกษาและนักวิชาการเสียใหม่ เพื่อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่พวกเราดำเนินการมามิได้ผิดเพี้ยนไปจากปรัชญาและวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อสังคมแต่อย่างใด เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน

เรียกร้องสิทธิที่ถูกพรากไป

นายรังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาชิกกลุ่มและเครือข่ายพันธมิตรมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ความรู้ประชาชนมาโดยตลอดเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้ง และสะท้อนให้เห็นว่า คสช. มีปัญหา ทั้งผ่านสื่อและยื่นหนังสือร้องเรียนองค์กรรัฐ แต่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ จึงเชื่อว่าไม่มีหนทางอื่นที่ประชาชนสามารถยุติการสืบทอดอำนาจ คสช. ได้ นอกจากประชาชนและภาคส่วนอื่นๆจะออกมาแสดงพลังทวงสิทธิคืนมา ซึ่งการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่ม DRG และกลุ่ม Start Up People จุดยืนคือเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ที่ถูกพรากไป และส่งสัญญาณว่า คสช. ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้คือ ต้องจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ เปิดทางให้ประชาชนได้ใช้อำนาจของตนเองในการกำหนดทิศทางอนาคตประเทศและเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย

ส่วนเรื่องท่อน้ำเลี้ยง นายรังสิมันต์ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึก” ว่า คสช. ประกาศว่าจะตรวจสอบพวกตนมาเกือบ 4 ปีแล้ว แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ไม่เคยเจอ ถ้าเจอคงไม่ปล่อยเอาไว้แน่ๆ เพราะท่อน้ำเลี้ยงของตนคือครอบครัวที่บ้าน มองว่าข้อกล่าวหาแบบนี้เป็นเรื่องของการดิสเครดิตมากกว่า ในทางกลับกันถ้าเปรียบเทียบพวกตนกับ คสช. จะพบว่าเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ฐานะทางการเงินของตนไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ยังเป็นนายรังสิมันต์ โรม คนเดิมที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต้านรัฐประหาร ขณะที่ คสช. กลับรวยมากขึ้นๆ จึงขอถามกลับว่าใครกันแน่ที่มีท่อน้ำเลี้ยง

Roadmap คนอยากเลือกตั้ง

นายรังสิมันต์เห็นว่า รัฐบาล คสช. อยู่ในอำนาจมาครบเทอมปีที่ 4 แล้วในปี 2561 ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องเลือกผู้นำคนใหม่หรือไม่ ทั้งขณะนี้มีประชาชนเพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งจำนวนกว่า 6 ล้านคนที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ กลุ่ม DRG และ Start Up People จึงยืนยันจะมีการจัดชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ประกาศ Roadmap คนอยากเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยวันที่ 18 กุมภาพันธ์ จัดกิจกรรม “ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้ง” ณ ลานย่าโม นครราชสีมา

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จัดกิจกรรม “ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ : 3-2-1 ถึงเวลาเปลี่ยน” หน้าหอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.

วันที่ 10 มีนาคม จัดกิจกรรมใหญ่ในช่วงเย็น (จะแจ้งสถานที่ให้ทราบ)

วันที่ 24 มีนาคม จัดกิจกรรมในช่วงเย็น (จะแจ้งสถานที่ให้ทราบ)

เดือนเมษายนพักเติมพลังเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อศึกใหญ่เดือนพฤษภาคม ครบรอบ 4 ปี คสช. จัดกิจกรรมวันเสาร์ที่ 5 และ 12 พฤษภาคม วันเสาร์ที่ 19 ต่อเนื่องจนถึงวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 4 วัน 3 คืน ปักหลักอยู่จนกว่าประชาชนจะได้อำนาจในการกำหนดอนาคตของประเทศกลับคืนมา

ไม่มีฝ่ายไม่มีสี

ที่สำคัญนายรังสิมันต์ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ไม่ได้แบ่งตามแนวคิดทางการเมือง แต่เป็นการต่อสู้เพื่ออนาคตของประเทศ ยินดีต้อนรับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง เสื้อทุกสี เชิญชวนนักการเมืองเข้ามาร่วมแสดงพลัง ไม่ว่าจะเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายกรณ์ จาติกวณิช ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แม้แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาร่วมทวงอำนาจคืนให้กับประชาชน “เพราะหากอยู่ข้างประชาชน เราก็คือเพื่อนกัน”

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” แกนนำกลุ่ม Start Up People และประชาธิปไตยศึกษา กล่าวเสริมว่า “เราเห็นทุกคนเป็นมนุษย์ เราเคารพทุกจุดยืน ความคิดของทุกสีเสื้อ”

ทำลายกำแพงสี

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ยกประเด็นที่มีผู้เสนอให้เลิกใช้คำว่า “สลิ่ม” เนื่องจากเป็นคำทิ่มแทงทำให้ฝ่ายประชาชนด้วยกันเกิดความแตกแยก ทั้งที่ตอนแรกไม่ได้มีความหมายเชิงเหยียดหยาม เพียงแค่ย่อคำให้สั้นกระชับ ทำให้เข้าใจได้ว่ามาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อหลากสีที่ทนไม่ไหวกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงปี 2553 ต่อมาคำว่าสลิ่มเกินเลยกลายเป็นคำด่าเชิงดูถูกว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม แต่ใช้ชีวิตทุนนิยม ไม่มีหลักการ

นายสมบัติเล่าถึงครั้งไปเรียนที่สถาบันพระปกเกล้า 4 ส. รุ่นที่ 6 ร่วมกับนายวีระ สมความคิด นายแทนคุณ จิตต์อิสระ นายศิริชัย ไม้งาม ปีกเหลือง ร่วมกับปีกแดง เช่น นางพะยาว์ อัคฮาด นายวิภูแถลง พัฒนภูไท เมื่อไปเรียนกันจริงๆกลับมีความเห็นร่วมกันในหลายเรื่อง เลยมีสมมุติฐานว่าประชาชนขัดแย้งกันเพียงส่วนน้อย มีเรื่องจำนวนมากเห็นร่วมกัน แต่ถูกแบ่งแยกแล้วปกครองไปแล้ว ยกตัวอย่างนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เอ็นจีโอแกนนำพันธมิตรฯเชียงใหม่ ขึ้นโปรไฟล์เฟซบุ๊คว่าอยากเลือกตั้ง โดนถล่มเละว่าก่อนหน้าขัดขวางการเลือกตั้งแต่กลับอยากให้เลือกตั้งเหมือนเป็นการฟอกขาว ซึ่งตนเห็นว่ามีสิทธิแสดงความเห็น ส่วนพวกวิจารณ์ก็มีสิทธิเช่นกัน แต่เรื่องคนตายบางครั้งต้องละไว้บ้าง

“กระแสความเกลียดชังทำให้ประชาชนแบ่งแยก ไม่ใช่การละเลยพูดถึงปัญหา ยังสนับสนุนความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ ให้มาดีเบต โต้เถียงกัน วันที่ 10 กุมภาพันธ์อยู่ที่ร้านศรแดง พี่วีระชวนผมกินน้ำส้ม ผมกับพี่วีระตกผลึกแล้ว อยากเห็นการจับมือกันของประชาชน ถ้าคิดอ่านหลอมรวมกันอย่างไรได้บ้าง อะไรเห็นต่างมาถกเถียงกันอย่างมีอารยะ”

นายสมบัติกล่าวถึงมือปืนป๊อปคอร์นว่า “ผมเคยอยู่ในคุก พูดคุยกับมือปืนป๊อปคอร์น พูดคุยกับเขา ทำไมถึงไปอยู่ในม็อบ ผมว่าไม่ต่างกัน ฝั่งเสื้อแดงมีชายชุดดำ ฝ่าย กปปส. มีป๊อปคอร์นและพรรคพวก สถานะชายชุดดำกับป๊อปคอร์นเหมือนกัน ถ้าคุณยินดีกับชายชุดดำ อีกฝ่ายเขาก็ยินดีที่จะมีป๊อปคอร์น ผมคิดว่าประชาชนไม่ต่างกันมาก คล้ายๆกัน เหมือนกันพอสมควร”

นายสมบัติกล่าวว่า การเลยเถิดสถานการณ์สำคัญมาก เป็นการทำลายกำแพงให้ประชาชนมาคุยกัน การคุยกันหรือรับฟังเปิดกว้าง แม้คิดต่างกันกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามทันที แม้กระทั่งฝ่ายเดียวกันยังคิดไม่เหมือนกัน แต่เราไม่ควรผลักกัน คนสีเดียวกันยังคิดไม่เหมือนกันเลยในบางเรื่องบางประเด็น

อย่างไรก็ตาม มีฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลิกใช้คำว่า “สลิ่ม” โดยเฉพาะการออกมาโพสต์ไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ของ “ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค ซึ่งบ่นผ่านเฟซบุ๊ค (20 กุมภาพันธ์) ตอนหนึ่งว่า ไม่ได้ต่อต้านการเลือกตั้ง แต่เบื่อคนอยากเลือกตั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งอะไร หรือมีเป้าหมายว่าจะเลือกใครอยู่แล้วแบบเดิมๆ แต่ก็ไม่อยากให้รัฐบาลเผด็จการที่มีบุญคุณในช่วงที่มาดับไฟบ้านเมืองมายึดถือบุญคุณกับประเทศชาตินานไปกว่านี้

“…ฉันรำคาญพวกเรียกร้องการเลือกตั้งในตอนนี้ มันวุ่นวายไง…แต่ฉันอยากให้จ้องไปที่โรดแม็พที่เขาสัญญาไว้ เขาบอกไว้ว่าจะเลือกตั้งช่วงนั้นนี้ เพราะเขาสัญญาไว้แล้ว ก็รอบ้างได้ไหม เอาเหอะ อย่าเคลื่อนไหวนักเลย…ถ้าเขาไม่ทำตามสัญญาค่อยเคลื่อนไหว…แล้วฉันจะไม่ว่าอะไรเลย…ถ้าปี 2562 มันยังไม่มีอะไรเป็นตามสัญญาโรดแม็พ ฉันจะเป็นประชาชนคนหนึ่งที่จะเรียกร้องการเลือกตั้ง ถึงไม่รู้ว่าแม่งจะเลือกใครก็เถอะ…

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Kasian Tejapira (20 กุมภาพันธ์) สั้นๆว่า “ขอบ่นมั่งนะ…ฉันคลื่นไส้พวกเรียกร้องปฏิรูปประชาธิปไตยภายใต้ระบอบเผด็จการ”

ส่วนนายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Pipob Udomittipong (19 กุมภาพันธ์) ว่า “ไม่ให้เรียก #สลิ่ม จะให้เรียกอะไร? “พวกแพ้แล้วพาล” “ขี้ข้าประชาธิปัตย์” “พวกเกลียดผีทักษิณ” “พวกหลงตัวเอง” “พวกกษัตริย์นิยมล้นเกิน” “ปลวก” “แมงสาป” “sore losers” “พวกแพ้เลือกตั้งตลอดกาล” “โง่แล้วอวดฉลาด”?”..ผมว่า “สลิ่ม” นี่ให้เกียรติมากสุดแล้วล่ะ ด้วยความเคารพ”

สร้างความขัดแย้ง “ต่อตั๋วอำนาจ”

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการใช้คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และมาตรา 116 ดำเนินคดีกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า เป็นเครื่องมือเล่นงานประชาชน แสดงถึงความไม่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว โดยเฉพาะมาตรา 116 ถือเป็นการใช้กฎหมายที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นมาเอง การใช้กฎหมายดำเนินคดีกับคนเห็นต่าง 3 กลุ่มคือ กลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย กลุ่มคนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และกลุ่มคนที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน รู้สึกเป็นห่วงบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมากกว่าภาพพจน์ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย

คุณหญิงสุดารัตน์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้กำลังเกิดภาวะการ “ต่อตั๋วอำนาจ” พยายามสร้างข่าวความขัดแย้งด้วยการเชื่อมโยงไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้ง ดร.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่ง ดร.ทักษิณเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีนักประชาธิปไตย ต้องการให้ประเทศชาติเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย

“เราเริ่มเห็นโครงร่างการสร้างเรื่องสร้างนิยายที่จะเดินไปสู่การต่อตั๋วอำนาจอยู่แล้ว เราก็ต้องตระหนักรู้ ถึงแม้เราไม่มีอำนาจ แต่ต้องให้บ้านเมืองอยู่อย่างปรกติตามระบบให้ได้” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวและแนะ พล.อ.ประยุทธ์ที่ประกาศเป็นนักการเมืองแล้วก็ต้องเป็นด้วยหัวใจ ฟังเสียงประชาชน และเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่ใช้อำนาจไปข่มเหงประชาชน

ทวงคืนอนาคตจากเผด็จการ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารของไทยซัมมิทกรุ๊ป เจ้าของฉายา “ไพร่หมื่นล้าน” กล่าวถึงบ้านเมืองวันนี้ว่า ปัญหาคือไม่มีเวทีสำหรับทุกคน คนที่คิดแบบเดียวกับ คสช. เท่านั้นที่มีพื้นที่ในการพูด คนที่คิดต่างอยู่ที่ไหนต้องไปรายงานตัวที่ สน. นั้นนี้ตลอดเวลา โดยระบอบ คสช. จะอยู่กับเราตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังใช้อยู่ คสช. ไม่ได้แก้ปัญหา ความสงบสุขเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้นเอง

ฉะนั้นผู้รักในสิทธิเสรีภาพต้องยืนหยัดเพื่อสร้างค่านิยมประชาธิปไตย คนหนุ่มสาวต้องมีพื้นที่ยืนทางการเมืองในเวทีเลือกตั้งเพื่อเรียกร้องอนาคตที่สูญเสียไปจากความขัดแย้งในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา “เราไม่สามารถยืนอยู่เฉยๆแล้วเฝ้าดูสังคมไทยล่มสลายไปต่อหน้าต่อตาได้อีกต่อไป”

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul (20 กุมภาพันธ์) ว่า มีโอกาสไปทำงานและสนทนาแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปี พบว่าตัวเองแก่จริงๆ ภาษา ชุดคำพูด วิธีคิดต่างจากคนรุ่นตนไปแล้ว สนทนากว่า 30 คน ประมาณ 3 ชั่วโมง โดยฟังเป็นส่วนใหญ่และฟังด้วยความตื่นเต้น คิด บันทึกตามตลอด ไม่มีอาการง่วงนอนหรือเบื่อเลย ไม่เหมือนเวลาประชุมในระบบราชการที่อยากจะเอางานอย่างอื่นทำไปด้วย เพราะไม่ค่อยได้สาระอะไร

คนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ดีๆเยอะและรู้ปัญหาในเรื่องที่เขาคลุกคลีอยู่ พวกเขาสะท้อนออกมาได้ชัดเจนว่าประเทศไทยขาดอะไร ทำไมถึงไปได้ไม่ถึงไหน แต่ละคนสามารถพูดเรื่องการศึกษา เยาวชน สาธารณสุข LGBT เทคโนโลยี ศิลปะ วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำ เกษตร ฯลฯ จนอดย้อนมองตนเองไม่ได้ว่า ตอนตนอายุรุ่นๆยังไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าเที่ยว ดื่ม เรียนให้ได้คะแนนดีๆ ไปเรียนต่อต่างประเทศ

คนอายุ 18-25 ปีเป็น “รุ่น” ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งในช่วงหลายปีนี้ แต่กลับต้องมารับผลพวงของ “ทศวรรษที่สูญหาย” นี้ พวกเขาต้องมาแบกรับภาระจากการปกครองของเผด็จการทหารและสิ่งต่างๆที่เผด็จการทหารและชาวคณะผู้ชราทิ้งไว้ให้

สภาพการณ์เช่นนี้ไม่เป็นธรรมต่อพวกเขาเลย คนชราพวกนี้นอกจากไร้ความสามารถในการส่งมอบสังคมที่ดีให้กับคนรุ่นถัดๆไป พวกเขากลับมอบกองภาระอันเป็นปมปัญหาหยั่งรากลึกให้แทน คนชราที่มีความคิดติดอยู่ในยุคสงครามเย็น ไล่ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ โลกใหม่ๆไม่ทัน คนชราที่เล่นไลน์เป็นแค่ส่งรูปดอกไม้ ยิ้มแย้มสวัสดียามเช้า คนชราที่ล้าสมัยแต่คิดว่าตนเองทันสมัยและต้องการส่งมอบยุคสมัยในแบบพวกเขาให้แก่คนรุ่นใหม่ คนชราเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรมแม้แต่น้อยที่จะกำหนดอนาคตประเทศ

สิ่งที่ประทับใจมากเวลาสนทนากับคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้คือ พลังอินเนอร์จากภายใน ความมุ่งมั่นตั้งใจและพร้อมที่จะลงมือทำต่อสู้ไปด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้นไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลา อดทน มุ่งมั่น แต่การใช้เวลาไม่ได้หมายความว่ารอเวลาอย่างเดียวโดยไม่ลงมือทำ

“ผมเชื่อว่ายังมีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดดีๆและมุ่งมั่นตั้งใจอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ทำการเมืองแบบใหม่ให้ประเทศนี้อีกมาก “การเมือง” เป็นเรื่องของเรา หากเราไม่ทำคนอื่นก็จะเข้ามาทำ หากเราต้องการให้การเมืองเป็นแบบใดเราต้องลงมือทำเอง

ประเทศไทยจะเป็นแบบนี้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว เราต้องไม่ส่งมอบสังคมแบบ “ทศวรรษที่สูญหาย” ให้กับคนรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นถัดๆไป ต้องร่วมทวงคืนอนาคตของเรากลับมาจากเผด็จการทหารและชาวคณะผู้ชรา”

#ทีมป้า..มาแรง

สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มคนหน้าเดิมๆไม่กี่คนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารอย่างที่ “ทั่นผู้นำ” และพวกพ้องพยายามตอกย้ำ หรือสร้างภาพการต่อสู้ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งยิ่งพูดก็ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของ “ทั่นผู้นำ” และ คสช. ว่าไม่ได้สร้างความปรองดองเลย แต่กลับพยายามจะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด

การเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย “พิมพ์ไทยนิยม” และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า คสช. จะไม่ “สืบทอดอำนาจ” แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นคือ การพยายามใช้วิธีแบบเดิมๆ คือการแบ่งแยกแล้วปกครอง อ้างการปรองดอง (ชั่วคราว) ซึ่งวันนี้ยุทธศาสตร์การสร้างความปรองดองก็ยังเป็นแค่วาทกรรม ทั้งใช้อำนาจ คสช. อย่างต่อเนื่องแม้แต่กับประชาชนและนักศึกษาที่ออกมาทวงถามการเลือกตั้ง ซึ่ง “ทั่นผู้นำ” ให้สัญญาเอง แต่กลับเลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนประชาคมโลกก็ไม่เชื่อถือ

ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกสี จึงพร้อมจะร่วมกันต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจของประชาชนกลับคืน แม้จะต่างความคิดต่างอุดมการณ์แต่ก็พร้อมจะ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี” เพราะอึดอัดใจกับการอ้างสารพัดเหตุผลเพื่ออยู่ในอำนาจของ “ทั่นผู้นำ” และพวกพ้อง ขณะที่การแก้ปัญหาบ้านเมืองเกือบทุกด้านล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความปรองดองที่กลายเป็นความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชน การปฏิรูปประเทศ 11 ด้านที่เป็นวาทกรรม ปัญหาเศรษฐกิจที่ดีเฉพาะกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม ขณะที่คนส่วนใหญ่และเกษตรกรยิ่งจนลง

เกือบ 4 ปีภายใต้ คสช. ถูกเปรียบเหมือนกรณี “ป้าใช้ขวานทุบรถกระบะ” ที่มีคนนำรถมาจอดไว้หน้าบ้านบริเวณซอยศรีนครินทร์ 55 ใกล้สวนสาธารณะสวนหลวง ร.9 ทั้งที่มีป้ายติดอยู่อย่างชัดเจน เพราะมีการเปิดตลาดขนาบข้างทั้งซ้ายขวาและอยู่ในชุมชนรอบบริเวณถึง 5 แห่ง โดย 3 แห่งไม่ได้ขออนุญาต ส่วนอีก 2 แห่งมีใบอนุญาตประกอบการพาณิชย์แต่ไม่ได้ขออนุญาตทำตลาด ทั้งหน้าบ้านยังมีการนำป้ายขนาดใหญ่ระบุคำพิพากษาของศาลว่า หมู่บ้านขอจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ย่านการค้าหรือทำตลาด และมีป้ายห้ามขนถ่ายสินค้า จอดรถกีดขวางประตูบ้านไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมีการฟ้องศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้อำนวยการเขตประเวศ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. อื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าของตลาดนัด 2 รายหยุดดำเนินการ แต่ กทม. ก็ยังปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดตลาดนัดข้างบ้านป้าจนทุกวันนี้ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวมาตลอด หลังเกิดเหตุ “ป้าใช้ขวานทุบรถกระบะ” ศาลปกครองสูงสุด (19 กุมภาพันธ์) ได้มีคำสั่งให้ กทม. ปิดตลาดนัดดังกล่าว เพราะมีเหตุผลเพียงพอว่าสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน

ตลาดนัดข้างบ้านป้าที่เปิดในชุมชนอย่างผิดกฎหมายและไม่สนใจความเดือดร้อนของชาวบ้านในชุมชนเลย ถูกสังคมออนไลน์ลุกขึ้นมาสนับสนุน #ทีมป้า กันอย่างมืดฟ้ามัวดิน

ทำให้นึกถึงรัฐบาล คสช. ที่อยู่มายาวนานเกือบ 4 ปี แต่ปัญหาต่างๆก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ประชาสัมพันธ์กรอกหูประชาชนทุกวัน ยิ่งนานวัน นานจนเสียงเพลงที่เสนาะหู “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน..” กลายเป็นเพลงที่กลับมาทิ่มแทง “ใจเพชร” ของคณะนายพล “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประชาชนหลากหลายสีจึงเริ่มเบื่อหน่ายและต้องการให้อำนาจประชาชนคืนมา เพราะเวลานานเกินไปแล้ว

มีผู้ใช้เฟซบุ๊Akawutt Ake Auttagorn โพสต์ถึง คสช. ได้อย่างกินใจ “คนอยากเลือกตั้ง” ว่า

“นี่หนูก็คิดว่าเป็นประเทศร้าง เห็นมีช่องว่างพอดีเลยถอยรถถังเข้าไปจอด กะจะขอเวลาจอดไม่นาน แป๊บเดียว ใส่เกียร์ 44 ไว้เพราะจะไม่มีใครมาขยับรถหนูได้ ความจริงได้ยินเสียงประชาชนตะโกนเรียกร้องแล้ว แต่เผอิญยังช็อปปิ้งไม่เสร็จ!”…

ท่านคิดว่าพวกท่านจอดขวางประตูแห่งประชาธิปไตยมานานพอหรือยัง?

อย่าให้เดือดร้อนไปมากกว่านี้ ระวังทนไม่ไหว #ทีมป้าน้าอาอาจต้องออกมาร่วมกับหลานๆหยิบขวานทุบรถถังกันอย่างพร้อมเพรียง!!??


You must be logged in to post a comment Login