วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

“ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชน” สัมภาษณ์- ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On February 5, 2018

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

 “ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต คณะทำงานสำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้เกือบ 4 ปีสถานการณ์โดยรวมไม่มีอะไรดีขึ้น กรณี “นาฬิกาหรู” จะพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันว่าจะเลือกปฏิบัติหรือไม่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดพื้นที่เสรีภาพแก่ประชาชนและสื่อมวลชนในการคิด ตัดสินใจเรื่องอนาคตของประเทศ

++++++++++

การบริหารประเทศของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากที่ได้พูดคุยกับประชาชนทั่วไปจะเห็นว่าเศรษฐกิจไม่เป็นที่พอใจ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนได้ ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถสร้างความอยู่ดีกินดีและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้น่าจะเชื่อมโยงกับโครงสร้างระบอบการปกครองที่ไม่เป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงทำให้ 1.ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก 2.ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้ และ 3.ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหมด ทำให้ประเทศดูไม่มีอนาคต ไม่มีความหวังในทุกภาคส่วน การแก้ปัญหาต่างๆไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ได้ตอบโจทย์และไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ลักษณะการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. เป็นลักษณะผู้มีอำนาจคิดและตัดสินใจกันในกลุ่มตัวเอง จากนั้นนำมาสั่งให้ประชาชนทำ ไม่มีลักษณะการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย โครงการต่างๆ นโยบายที่ออกมา การใช้งบประมาณของรัฐบาล ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้แก้ปัญหาของประชาชนอย่างตรงจุด แต่ยังมีลักษณะการใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่าในหลายเรื่อง ทำให้น่าสงสัยว่ามีการเอื้อประโยชน์หรือแสวงหาความนิยมให้ใครหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องว่าจะมีการจัดตั้งพรรคทหารที่ คสช. สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง มีพรรคการเมืองใหม่แสดงตัวชัดเจน รัฐบาลเองก็ไม่ได้ปฏิเสธอย่างจริงจัง ไม่ได้ทำให้ประชาชนเชื่อ แล้วยังมีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไปพบปะกลุ่มการเมืองต่างๆ ไม่ต่างกับในอดีตที่มีการไปคุยเพื่อล็อบบี้เรื่องต่างๆ

พฤติกรรมที่แสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต่างกับกลุ่มการเมืองในอดีต จนน่าสงสัยว่าการใช้งบประมาณโครงการต่างๆนั้นหวังผลทางการเมืองอะไรหรือไม่ ฝ่ายค้านก็ไม่มีด้วย ไม่มีกลไกอะไรจะเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจการตัดสินใจทางนโยบายให้มีความโปร่งใส ขณะที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศยังต้องรัดเข็มขัด นักลงทุนอยู่ในสภาพที่ไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าใช้จ่าย ธุรกิจหลายประเภทต้องปิดตัว เงินภาษีของประชาชนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมหรือไม่ พัฒนาอย่างยั่งยืนหรือไม่ เพราะเป็นลักษณะการเอาเงินไปแจกแล้วก็หมดไป ประชาชนก็เอาไปใช้ ไม่ได้มีการต่อยอดที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารประเทศผิดทางหรือไม่ ใช้เงินผิดทางหรือไม่ ขจัดปัญหาความยากจนอย่างแท้จริงหรือไม่

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศและเหมือนปัญหาวัวพันหลัก ยังไม่นับเรื่องที่ คสช. ประกาศหลังยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยว่า จะสร้างความปรองดองโดยเร็ว จะปฏิรูปประเทศ แต่ที่ผ่านมายังมองไม่เห็นความจริงใจที่จะสร้างความปรองดองอย่างเป็นรูปธรรมเลย เพราะสิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำมันเพิ่มความขัดแย้ง เติมเชื้อไฟความขัดแย้งมากกว่า ที่เห็นว่าไม่มีการออกมาประท้วง ไม่มีม็อบ เป็นความสงบที่เป็นภาพลวงตา ปัญหายังถูกหมกอยู่ใต้พรม ที่ไม่มีใครออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ได้แปลว่าเขาเห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่อาจหวาดกลัวผู้มีอำนาจมากกว่าว่าจะใช้มาตรา 44 หรือให้ทหารมาเอาตัวไปปรับทัศนคติ คุมคามทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ และฝ่ายตรงข้าม ใช้ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

อย่างกรณีดิฉันที่เป็น 1 ในจำนวนคนที่โดนกระทำ เพื่อส่งสัญญาณถึงคนอื่นๆในสังคมให้หวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็น บางคนไม่พูดความจริงให้รัฐบาล คสช. ฟัง แต่พูดเอาใจรัฐบาล รัฐบาลจึงไม่ทราบปัญหา ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ทำให้การแก้ปัญหาหลงทางไปเรื่อยๆ

เรื่องนาฬิกาหรู

เรื่องนี้ชัดเจนและสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล คสช. อยู่ที่การตัดสินใจและพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลที่อ้างเสมอว่าเข้ามาปราบปรามคอร์รัปชัน ประชาชนจึงจับตามองว่ารัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 กับข้าราชการที่ท่านสงสัย หรือแม้แต่นักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องสงสัยว่ามัวหมองหรือพัวพันการคอร์รัปชัน ท่านก็ใช้มาตรา 44 ปลดคนเหล่านั้นออกจากตำแหน่งหรือพักงาน แต่กรณีนาฬิกาหรู 20 กว่าเรือน ทั้งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์มากมายและมีหลักฐานปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความคิดต่างกันหรือเคยสนับสนุนก็ยังมองเห็นตรงกันว่าไม่ชอบมาพากล

ประชาชนอยากรู้ข้อเท็จจริงและท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร จะใช้มาตรฐานเดียวกับที่เคยฟันนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ ที่ผ่านมานี้ทำเหมือนให้ความสำคัญจริงจังกับการปราบคอร์รัปชัน ทำให้มีคำถามว่าเรื่องนี้เลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานหรือเปล่า รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าแม้จะเป็นพวกเดียวกัน ท่านก็จะยืนอยู่บนหลักการความถูกต้อง กล้าทำความจริงให้ปรากฏให้สังคมได้เห็น

ตรงนี้เป็นบทพิสูจน์สำคัญ อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เอาเป็นเอาตายเฉพาะนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้าเป็นพวกตัวเองก็ขอให้สังคมลดราวาศอกหรือไม่ดำเนินการใดๆที่จะพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏ มันก็กระทบต่อศรัทธาที่ประชาชนมีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และทำให้กองหนุนที่ตอนนี้เหลือน้อยลงไปอยู่แล้วยิ่งหดหายไปอีกที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าให้ทุกฝ่ายหยุดพูดเรื่องนาฬิกาหรู อ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร ไม่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน

ดิฉันคิดว่าใครทำยังไงก็ต้องได้อย่างนั้น ประชาชนสมัยใหม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เขาแสวงหาข้อเท็จจริงได้มากขึ้น ไม่ได้ฟังแค่การชี้แจงของรัฐบาลฝ่ายเดียวแล้วจะเชื่อตามนั้น ประชาชนมีการพัฒนาทางการเมืองมากขึ้น บ้านเมืองเคยอยู่ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานมาแล้ว ทำให้ประชาชนมีความแข็งแรงทางความคิด ยิ่งยุคนี้จะทำอะไรตบตาประชาชนทำได้ยาก จึงอยู่ที่สามัญสำนึกของผู้มีอำนาจ เมื่อมีอำนาจในมือแล้วใช้อำนาจไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่ ปกป้องพวกพ้องหรือไม่อย่างไร ประชาชนมีความคิดความอ่าน มีวิจารณญาณที่จะตัดสินได้

ดิฉันคิดว่าเรื่องนาฬิกาหรูทางที่ดีที่สุดหาก พล.อ.ประวิตรทำให้ถูกต้องก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำผิดแล้วมาแก้ไขภายหลังไม่ได้ เรื่องแบบนี้ต้องระงับยับยั้งจิตใจตัวเองตั้งแต่แรก ไม่ทำสิ่งที่ทุจริต ทุจริตก็คือทุจริต โกงไม่ว่าจะ 5 บาท 10 บาท จะทำในนามของใครหรือใครทำแทนก็คือการโกง คิดจะมาทำงานการเมือง ทำงานเพื่อส่วนรวม ก็ควรทำให้ตัวเองสะอาดตั้งแต่แรก ไม่มีผลประโยชน์อะไรให้มัวหมอง

การเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปอีก

ที่ไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561 ไม่รู้ว่ามีการวางแผนไว้แล้วหรือไม่ เพราะเราไม่รู้เลยว่าเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง ไหนจะเรื่องกระแสสังคม การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และปฏิกิริยาของสังคมกับเรื่องต่างๆ ทุกเรื่องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ดิฉันไม่มั่นใจว่าในอนาคตรัฐบาล คสช. จะยังสามารถผูกขาดเรื่องทิศทางของประเทศได้อย่างที่ผ่านมาหรือไม่ หลังจากเลื่อนการเลือกตั้งปี 2561 ออกไปอีก ต้องติดตามดูว่าหลังจากนี้จะมีปัจจัยอะไรแทรกซ้อนเข้ามา ทั้งการเมือง ปัจจัยภายนอก หรือสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ตรงนี้เราตอบไม่ได้ ต้องจับตาดู ปีนี้เป็นปีที่ทุกคนต้องมองการเมืองแบบตาไม่กะพริบ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ สถานการณ์หลังจากนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่ชาติมหาอำนาจออกมาให้รัฐบาลไทยรักษาสัจจะ จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ก็ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลที่ก่อนหน้านี้ทึกทักว่าต่างชาติเห็นดีเห็นงามกับการเลื่อนเลือกตั้ง อย่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะรับผิดชอบอย่างไร ประเทศไทยเสียเกียรติภูมิบนเวทีโลกขนาดนี้ การที่บุคคลสำคัญในรัฐบาลพูดจาแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ทำลายความน่าเชื่อถือของคนไทยทั้งประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ควรแสดงความรับผิดชอบที่ทำให้ประเทศไทยขายหน้าบนเวทีโลก ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในภูมิภาค เพราะมีรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย

ดิฉันขอยืนยันคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งหรือสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. เพราะการคิดเองอยู่ฝ่ายเดียวของผู้มีอำนาจเรื่องการกำหนดวันเวลาการเลือกตั้ง ควรถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดพื้นที่เสรีภาพแก่ประชาชนและสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ ให้เขามีส่วนร่วมในการคิด การตัดสินใจเรื่องอนาคตของประเทศ ส่วนกรอบเวลาการเลือกตั้งก็ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ถกเถียงด้วย ไม่ใช่รัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คิดกันเองแล้วมาบอกให้ประชาชนทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่ให้ประชาชนเป็นฝ่ายรอผู้มีอำนาจเป็นคนกำหนด

ดิฉันอยากให้มีผู้อำนาจฟังเสียงของประชาชนได้แล้ว ไม่ว่าจะเมื่อไรวันหนึ่งก็ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นบรรยากาศก่อนจะถึงวันนั้นเวลานั้น ประชาชนต้องมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ให้เขาได้อภิปรายโต้เถียง แม้จะมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่ก็ต้องให้พื้นที่ประชาชนตั้งแต่บัดนี้ ให้สังคมได้มีการเคลื่อนไหวและพัฒนาทางความคิด เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ ประชาชนก็จะยิ่งมีความแข็งแรงทางความคิดและมีข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ถ้าหากบ้านเมืองยังอยู่ภายใต้บรรยากาศเผด็จการทางความคิด ประชาชนหวาดกลัวที่จะพูดหรือคิดต่างจากผู้มีอำนาจ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าต่อให้มีการเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งจะมีคุณภาพอย่างแท้จริง การเลือกตั้งจะมีความเป็นอิสระ มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ดังนั้น รัฐบาล คสช. ต้องสร้างบรรยากาศให้กับสังคมในการแสดงความคิดเห็นและโต้เถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีเสรีภาพ ปราศจากการแทรกแซง ไม่มีการดำเนินคดีจากอำนาจรัฐ ถ้าคุณไม่มีบรรยากาศเหล่านี้ คุณก็ไม่มีทางที่จะทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมและมีคุณภาพได้

เรื่องนายกฯคนนอก

ใครอยากจะเป็นอะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าประชาชนต้องการอย่างไร เขาต้องการคุณหรือไม่ ไม่มีใครห้ามได้ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหรืออยากจะสืบทอดอำนาจ แต่ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการอย่างนั้นมั้ย  ถ้าประชาชนบอกว่าต้องการ อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ไปอีก 50 ปีหรือ 100 ปี พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นได้ ที่สำคัญคือถ้าอยากจะเป็นก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนที่คิดต่างได้ร่วมกันตัดสินใจอย่างอิสระว่าเขาจะเอาหรือไม่เอาคุณ

ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในอนาคตไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือคุณกล้ายอมรับมั้ยกับวิธีการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกคนที่จะเป็นผู้นำประเทศได้อย่างเป็นอิสระ ถ้าคุณยอมรับมติมหาชนได้ และถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศไว้วางใจให้คุณอยู่ต่อ ใครก็ห้ามคุณเป็นไม่ได้ แต่เบื้องต้นคุณต้องผ่านวิธีการก้าวสู่อำนาจแบบที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับก่อน ไม่ใช่ยัดเยียดตัวเองมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชน ปัญหาอยู่ตรงนี้ ถ้าคุณอยากเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องกล้าให้ประชาชนตัดสินว่าเขาจะเอาหรือไม่

ดิฉันขอย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องไม่ยัดเยียดตัวเองให้ประชาชนโดยที่ประชาชนไม่ยอมรับ ต้องเข้าสู่อำนาจอย่างสง่างาม มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าหากคุณผ่านกระบวนการเหล่านี้มาก็เป็นได้ โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนล่าสุดบอกว่าเขาอยากได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก ซึ่งดิฉันคิดว่าหัวใจมันอยู่ตรงนี้มากกว่า


You must be logged in to post a comment Login