วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ต้องให้บทเรียนรัฐประหาร สัมภาษณ์- ธิดา ถาวรเศรษฐโดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On January 22, 2018

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชี้ “พล.อ.ประยุทธ์” เรียนรู้จากคณะรัฐประหารในอดีตจึงไม่เคยบอกว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ กว่า 3 ปีออกกฎหมายกว่า 300 ฉบับ เพื่อควบคุมอำนาจและกำหนดบทลงโทษเอง ประชาชนต้องเรียนรู้และให้บทเรียนผู้ทำรัฐประหาร

+++++

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นคณะรัฐประหารที่มีการนำบทเรียนการรัฐประหารที่ผ่านมา โดยพยายามแก้ข้อผิดพลาดรัฐประหารชุดก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี คณะรัฐประหารชุดนี้ไม่ได้มีเจตจำนงเฉพาะตัวผู้ทำรัฐประหารอย่างเดียว แต่พ่วงเจตจำนงฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับอำนาจนิยมมาทั้งหมด ต่างกับในอดีตซึ่งบางครั้งมีความขัดแย้งของฝ่ายทหารด้วยกันเอง ในอดีตมีตัวหนุนช่วยคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเย็นที่เกิดขึ้นมายาวนาน ทำให้ฝ่ายอำนาจนิยมและอำนาจเผด็จการทหารมีความชอบธรรม อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ นั่นประการหนึ่ง

ประการที่สอง ประชาชนไทยส่วนใหญ่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมาก จึงทำให้ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์มายุคจอมพลถนอม กิตติขจร สามารถอยู่ในอำนาจได้ยาวนาน แต่อยู่นานเกินไปจึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ดังที่เราทราบกัน แล้วก็เกิดรัฐประหารและกบฏหลายรูปแบบตามมา

พล.อ.ประยุทธ์เขาก็เรียนรู้ เราจะเห็นว่าเขาไม่เคยบอกเลยว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะไม่ต้องการให้เกิดซ้ำรอยอย่าง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ประกาศ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ซึ่งเป็นประโยคที่ทำให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรงตามมา พล.อ.ประยุทธ์ใช้คำว่า ไม่ปิดหนทางเขาต้องเปิดทางเอาไว้ เพราะเขาเรียนรู้จากอดีต นอกจากนี้ยังเอายุทธศาสตร์ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาผนวกกับเป้าหมายของ คสช. อีกด้วย เราจึงเห็นว่ามีการวางแผนอย่างรัดกุม รัฐประหารครั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เทียบไม่ได้เลยที่รัฐประหารแล้วส่งมอบอำนาจให้คนอื่น จบเลย ทำให้ต้องทำรัฐประหารอีกรอบ

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าไม่ต้องการให้มีการทำรัฐประหารอีก แปลว่ารัฐประหารครั้งนี้จะต้องบรรลุเป้าหมายอย่างเบ็ดเสร็จ เราจึงต้องมองพื้นฐานและภูมิหลังที่ คสช. ปฏิบัติทุกอย่างไปตามแผนที่วางไว้ คำว่า “ไม่เสียของ” หมายถึงคุณทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยต้องไม่ได้กลับมามีอำนาจอีกต่อไป แม้พรรคเพื่อไทยยังไม่ตาย แต่อำนาจต้องอยู่กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมให้ได้นานที่สุด เขาจึงวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี หรือเขียนรัฐธรรมนูญแบบของ คสช.

แม้กระทั่งกฎหมายก็ออกมา 300 กว่าฉบับ จากปี 2475-2557 มีกฎหมายออกมาแล้วประมาณกว่า 400 ฉบับ แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเขาออกได้ยังไงกว่า 300 ฉบับ กลายเป็นว่า คสช. เป็นผู้เขียนกติกา เขียนบทลงโทษ เป็นผู้คุมกติกา คุมการลงโทษ นี่คือบทที่เขาเขียนไว้ จะเป็นตัวแสดงที่มีอำนาจเอง คือเขียนเพื่อตัวเอง และตัวเองเป็นผู้เล่นเอง เราจึงเห็นว่า คสช. ไม่ได้ตลกแบบไม่รู้เรื่องนะ ไม่ใช่พูดเปลี่ยนไปเป็นวันๆ ความจริงเขามีเป้าหมาย มียุทธศาสตร์ มียุทธวิธี อย่างที่พูดเรื่องพรรคทหาร ที่ผ่านมาไม่ได้ผลเขาจึงไม่ทำ แต่โจทย์ครั้งนี้เขาจะวางยังไง เพราะประชาชนเติบโตมากแล้ว แม้คุณจะพยายามควบคุมยังไง แต่เทคโนโลยีและประสบการณ์ ดิฉันคิดว่าไม่ได้เป็นไปตามแบบที่ คสช. คิดแน่นอน เขาจึงคิดว่าจะทำยังไงให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ให้มากที่สุด เขาไม่ได้รู้จักประชาชนจริงๆ ประชาชนแสดงอย่างหนึ่ง ทหารก็อย่างหนึ่ง นักการเมืองก็อย่างหนึ่ง มันเป็นการแสดงทั้งหมด แต่ลึกๆแล้วทหารก็ไม่บอกอะไรจริงๆออกมาเหมือนนักการเมืองและประชาชน

มันอยู่ที่ว่าเข้าใจและรู้สภาพความเป็นจริงของแต่ละฝ่ายให้ได้มากที่สุดแล้วเล่นเกมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ทีนี้เกมการควบคุมประชาชนและอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดดิฉันเชื่อว่าจะไม่สำเร็จ เพราะมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง สิ่งที่เขาเขียน ที่เขาทำ โอเคที่ผ่านมาประชาชนบางส่วนมีหัวใจให้ ประชาชนให้เวลาเขาพอสมควรระดับหนึ่ง เวลาของประชาชนมีมาก แต่เวลาของเขามีน้อย ประชาชนจึงให้เวลาเขาระดับหนึ่ง เขาพยายามอยู่ให้นานทั้งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แม้ คสช. มีบทเรียนอย่างไร แต่สิ่งที่เขายังเข้าใจไม่เพียงพอคือประชาชน การจะควบคุมประชาชน เขาประกาศนำประเทศสู่ยุค 4.0 อะไรต่างๆ มันควบคุมประชาชนไม่ได้ อย่างคุณแอบซื้อนาฬิกาหรูมา ถ้ายุคก่อนใครจะรู้ว่ามีกี่เรือน แต่ยุคนี้ตรวจสอบได้หมด แม้กระทั่งคำพูดที่คุณย้ำตั้ง 9 ครั้งว่าไม่ใช่นักการเมือง

ดิฉันจึงบอกว่ามันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การพยายามที่จะอยู่ในอำนาจให้นานด้วยวิธีต่างๆอาจได้ผลชั่วคราว ประชาชนมีเวลาที่จะเรียนรู้ และประชาชนจะให้เวลาระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดมันก็พังและอยู่ไม่ได้ถ้าเราไม่มีความเชื่อมั่นในประชาชน ประชาชนจะรู้สึกว่าถูกกระทำอย่างที่โงหัวไม่ขึ้น แต่ดิฉันไม่เชื่ออย่างนั้น คิดว่าประชาชนมีความชาญฉลาดพอที่จะรักษาประเทศนี้ การไม่ให้มีความวุ่นวาย ต้องการความสงบมาแลกกับการยึดอำนาจนั้น มันมากเกินไปที่เขาจะยอมรับได้

ที่สำคัญคือในฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันก็มีการแตกแยกกันแล้ว ซึ่งดิฉันก็มองมาตั้งนานแล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องการให้ทหารเป็นเครื่องมือแล้วมอบอำนาจให้ฝ่ายพลเรือนและพรรคการเมือง แม้แต่แม่น้ำ 5 สายเช่นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังมีความคิดบางอย่างที่แตกต่างไป ร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมากจึงถูกแก้ไขโดยมาตรา 44 หรือต้องมีบทเฉพาะกาล เขาต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ตอนจอมพลถนอมอยู่ระยะแรกๆก็โอเค แต่พอจะอยู่นานขึ้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่เห็นด้วย เหมือนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่นงาน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่าอยู่เกิน 8 ปีรับไม่ได้แล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายพลเรือน และพรรคการเมือง ก็ไม่ต้องการที่ทหารต่อท่ออำนาจยาว ต้องการให้ส่งคืนอำนาจให้พลเรือน แต่ถ้าเรามองในแง่บวก ทหารอาจจะมองว่าหากบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ก็ต้องทำรัฐประหารเรื่อยๆ จึงทำเองดีกว่า เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าจะบริหารประเทศได้ พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาตั้ง 70 กว่าปีแล้วก็พ่ายแพ้เป็นส่วนใหญ่ ทหารเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำให้ประชาชนชอบได้ และจะประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับหนึ่ง จึงย้อนรอยระบอบทักษิณ เอาคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาทำ

“พล.อ.ประยุทธ์” รับเป็นนักการเมือง

คสช. คิดว่าเขาสามารถแข่งกับพรรคเพื่อไทยได้ มาถึงจุดนี้แล้วเขาคงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องเปิดตัวเพื่อตอบโต้เรื่องพรรคทหาร หรือต้องการจะบอกว่ารัฐบาลตอนนี้ไม่ใช่ทหารแล้ว ไม่ใช่นายกฯทหาร เป็นฝ่ายการเมืองแล้ว แต่เขาพูดโดยที่ไม่ได้คิดว่าก่อนหน้านี้เคยพูดยังไง วันนั้นพูดอย่างหนึ่ง พอมาตอนนี้ออกมาอีกอย่างหนึ่ง หมายความว่าเขาเดินหน้าสู่การเมืองโดยมี คสช. และเครือข่ายเตรียมตั้งพรรคการเมืองแล้ว จะมีนอมินีหรือไม่ก็ตาม เพราะเชื่อมั่นว่ามีคนยอมรับมากพอ แต่อย่างที่ พล.อ.เปรมพูดเรื่องกองหนุนลดลง คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันก็ไม่เอา ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมพลเรือนและพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยที่คุณอยู่นานเกินไป คุณยึดอำนาจแล้วก็ควรไปได้แล้ว ให้พวกผมทำ แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าคุณทำมาตลอดแล้วมันก็เจ๊งทุกที แล้วพวกผมก็ต้องมาทำรัฐประหารทุกที อันนี้เป็นความคิดของดิฉันนะ ทหารเขาเลยทำเองเลย

ดิฉันเคยพูดว่าถ้าดิฉันเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรจะเป็นพรรคที่เก่งอย่างพรรคคอนเซอร์เวทีฟของอังกฤษมันถึงจะสู้ได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาไหน เป็นอนุรักษ์นิยมที่ไร้ความสามารถ ดีแต่ท้าตีท้าต่อยและกวักมือเรียกคนอื่นมา พอเขาอยู่นานก็โวยวายให้เขาออกไป การเมืองเราจึงย้อนกลับมาเหมือนเดิม ความจริงมันไม่ใช่ ฝ่ายประชาชนและฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยกระดับความคิดด้วยกันทั้งคู่ มันจึงอยู่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะทำอะไรให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแค่ไหน

ในความคิดของดิฉันมองว่าทหารเขามีสิทธิจะทำ เขาอาจเชื่อว่าได้เสียงเยอะก็ได้ แต่ดิฉันคิดว่าคนจำนวนมากคงไม่คิดอย่างนั้น คุณไม่รู้ส่วนลึกของประชาชนว่ามีวิธีคิดยังไง เขาผ่านการเรียนรู้อะไรมาบ้าง แม้กระทั่งแกนนำหรือพรรคการเมืองเองก็ยังต้องเข้าใจให้ตลอดรอดฝั่ง ทหารเข้าใจอะไร สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ต้องก้าวไปข้างหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนต้องขับเคลื่อนไปได้ ถ้าไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน มีแต่ประโยชน์ของหมู่คณะก็ไปไม่ได้ ประชาชนจะขัดขวาง ถ้าถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมการขับเคลื่อนต่างๆก็จะเกิดขึ้นเอง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร เมื่อไร

ใครจะนึกว่า พล.อ.ประวิตร (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) จะมาตกน้ำตายด้วยนาฬิกาข้อมือ ก่อนหน้านี้ก็ถูกนินทาเรื่องอื่นเยอะมาก เช่น เรื่องรถไฟ เรื่องเรือดำน้ำ อย่างที่บอกที่ดูเหมือนว่าเขาฉลาดนั้น ดิฉันกลับมองว่าไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้บอกเองว่าที่คุณทำเป็นยังไง การเลือกตั้งอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้

สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ดิฉันยังเชื่อว่าการเลือกตั้งอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ อาจชิมลางด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ถ้า คสช.  เชื่อมั่นว่าเสียงเขาดีก็เป็นไปได้ที่จะให้มีการเลือกตั้ง อาจช้าไปสัก 3 เดือนคือต้นปี 2562 ก็ยังดี แต่ถ้าเลื่อนไปอีก 2 หรือ 3 ปี เพราะเขาไม่ต้องการให้เสียของ เขายังไม่ยอมลงจากอำนาจ ก็จะเกิดสถานการณ์แบบใหม่ โดยฝ่ายพลเรือนอนุรักษ์นิยมจะยอมมั้ย แม้กระทั่งพวกเดียวกันจะยอมมั้ย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ไหลลื่นไปตามฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่เขาคงไม่ได้คิดเองคนเดียว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีหลายปัจจัย มีทั้งที่เป็นพลเรือน เป็นทหาร และฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ควบคุมได้ทั้งทหารและพลเรือน ขอย้ำว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัวเพื่อปูทาง ไม่ว่าจะมีเลือกตั้งระยะใกล้หรือไกลก็ตาม เพราะเขาต้องดูทิศทางกระแสของประชาชนทั้งโพลและการเลือกตั้งท้องถิ่น พูดง่ายๆว่าเขาพยายามเปิดทุกประตูเพื่อเลือกประตูที่ดีที่สุด ถ้าดูท่าไม่ดีก็อยู่ประตูเดิม คืออยู่กันไปอย่างนี้ไปก่อน

เป้าหมายของ คสช. คือไม่ต้องการให้เสียของ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังครองอำนาจได้ เพราะเขาไม่ค่อยเชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ตรงนี้ต้องดูว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยอมอยู่ภายใต้อำนาจเขาหรือเปล่าหากได้ไม่ถึง 100 เสียง แต่ถ้าได้ประมาณ 200 เสียง พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยอมแน่ เขาก็ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีก๊อกสองให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมโหวตเลือกนายกฯ เมื่อหว่านล้อมแล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมในก๊อกแรก อ้างว่าเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จึงยังไม่แน่นอนว่าจะยอมรับนายกฯคนนอกหรือไม่ ถ้ายอมรับเขาก็เสีย ทั้งหมดเป็นการแสดงละครทั้งนั้นเพื่อให้กองเชียร์ยังเชียร์มากที่สุด แต่ลึกๆจะเป็นยังไง ประชาชนคิดอย่างไร คุณจะรู้ก็ตอนเขาหย่อนบัตรเลือกตั้ง

คสช. เสี่ยงทั้งขึ้นทั้งล่อง

คุณจะรู้ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จริงๆก็ต่อเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ส่วน คสช. เขาไปทางไหนก็ได้ ไม่ต้องถูกด่าว่าเสียสัตย์เพื่อชาติ สถานการณ์ทางการเมืองจะออกแนวไหน ถ้าดูสถานการณ์ไม่ดี คสช. ก็จะอยู่อย่างนี้ไปยาวแม้เสี่ยงเหมือนกัน คสช. ก็ต้องเลือกว่าจะเสี่ยงแบบไหน เสี่ยงแบบเป็นรัฐบาลเลือกตั้งหรือเสี่ยงอยู่ยาวแบบนี้ แต่การอยู่ยาวก็ต้องเผชิญปัญหาทั้งขึ้นทั้งล่อง

พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสเป็นนายกฯคนนอกสูง แต่ถ้า 2 พรรคใหญ่คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงรวมกันกว่า 70% รวมพรรคเล็กยังไงก็ไม่พอ มาเป็นนายกฯคนนอก คุณก็ไปไม่รอด นายกฯคนนอกจะไปได้อย่างเดียวคือพรรคประชาธิปัตย์ต้องร่วมมือด้วย จะทำอย่างไรให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือด้วย ก็ต้องทุบให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงไม่มาก พรรคคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ มาแย่งคะแนนเสียงไปส่วนหนึ่ง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ 30% บวกอีก 30% จากพรรคเล็กๆก็โอเค

ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ 40% พรรคประชาธิปัตย์ได้ 30% รวมกันถึงจะตั้งรัฐบาลได้ นายกฯคนนอกจึงต้องทุบให้พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงไม่มาก ยุทธการสร้างความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องเดินต่อไป ซึ่งคุณสุเทพน่าจะทำได้ดี เพราะทุบพรรคเพื่อไทยให้แตกแยกไม่ได้

ประชาชนต้องใช้ช่วงเวลานี้ยกระดับการเรียนรู้ให้มาก ไม่ควรให้เกิดการรัฐประหารอีกต่อไป เราต้องให้บทเรียนกับผู้ทำรัฐประหาร แม้จะทำรัฐประหารชาญฉลาดอย่างไรก็ไม่ควรให้เกิดขี้นอีก พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าไม่ต้องการให้มีรัฐประหารอีก เขาจึงเอาแม่ทัพนายกองมาควบคุมในวุฒิสภา เขาไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหาร ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอยู่ภายใต้ความยินยอมของกองทัพ ส่วนประชาชนหากไม่ต้องการการรัฐประหารก็ต้องให้ฝ่ายทำรัฐประหารได้รับบทเรียนด้วย


You must be logged in to post a comment Login