วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

ต่างคนต่างอยู่ / โดย พระพยอม กัลยาโณ

On January 10, 2018

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

ถือเป็นเรื่องปรกติที่ผู้ใช้แรงงานจะเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ตามที่ขอ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ขึ้นปีใหม่แต่ละปีจึงมีการเรียกร้องหรือทวงถาม ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและภาคี 3 ฝ่ายคือรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างด้วยว่าจะขึ้นหรือไม่ ถ้าขึ้นจะขึ้นเท่าไร แต่ 3-4 ปีแล้วที่ยังไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเศรษฐกิจแบบนี้ธุรกิจรายย่อยเจ๊งกันไม่น้อย ถ้าเจ้าของธุรกิจปรับขึ้นค่าจ้างไม่ได้ก็ต้องปลดคนออก มันก็ลำบากใจทุกฝ่าย บริษัทไหนได้กำไรก็ให้โบนัสกันไป

อย่างอาตมาไม่ขึ้นค่าแรงมา 10 ปีแล้ว แต่ให้โบนัสปีละ 2-3 ครั้ง มีโบนัสใหญ่สำหรับใครที่อยู่มานานและจริงใจ จัดเงินไว้สัก 10 ล้านบาทให้คนงานที่อยู่มา 17-18 ปี ได้คนละล้านบาทไป 7-9 คน นอกจากนั้นก็เฉลี่ยไป 200,000-500,000 บาท ให้เป็นกำลังใจ ถ้าเขาบริหารเงินดีก็จะอยู่รอดในชีวิต ถ้างี่เง่าไปกินเที่ยวเล่นจนเงินหมด นิสัยแบบนี้ก็ไม่ควรจะเลี้ยงไว้

การรู้จักบริหารเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนประเทศไทยเวลานี้ ค่าแรงกับเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน ค่าครองชีพแต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน นายจ้างกับลูกจ้างจึงต้องมีใจให้กันและกัน รัฐบาลก็ต้องคอยสนับสนุน จะใช้มาตรการภาษีก็ว่ากันไป ให้นายจ้างจ่ายมากจ่ายน้อยตามคุณภาพประสิทธิภาพการทำงาน  เพราะต้องยอมรับว่าเงินแค่ 300 บาทต่อวันขณะนี้ก็แทบอยู่ไม่รอดแล้ว แต่ถ้าคนที่ขี้เกียจและเกเรแม้แต่ 100 บาทก็ไม่คุ้ม

ให้รดน้ำต้นไม้ 5 วัน หยุด 4 วัน ต้นไม้ตายหมด คนพวกนี้รับผิดชอบต่ำ ขี้เกียจ หยุดงานบ่อย จะให้ค่าแรงเท่ากันหมดได้ยังไง ถ้าเป็นบริษัทก็ต้องดูกันที่งานแต่ละฝ่าย อย่างเย็บเสื้อผ้าต้องได้ 15 ตัวต่อวัน  นายจ้างได้ 50 บาท ลูกจ้างได้ 30 บาท ถ้าเย็บได้ 10 ตัว นายจ้างก็ขาดทุนกำไร ลูกจ้างก็ได้เงินน้อย  อย่างนี้เห็นชัดว่านายจ้างกับลูกจ้างต้องร่วมกันทำงาน ถ้านายจ้างขาดทุนกำไรหรือได้น้อยลงเรื่อยๆก็จ้างลูกจ้างไม่ได้

การขึ้นค่าแรงจึงต้องอยู่ที่ความพอดีและพอใจของทุกฝ่ายด้วย ฝ่ายเรียกร้องก็ต้องให้ได้มากที่สุดดีที่สุด แต่ก็ต้องคำนึงถึงผู้จ้างด้วยว่าจะรับไหวมั้ย ไปรอดไม่รอด เรื่องค่าจ้างแรงงานจึงขอให้ฉลาดและดูสถานการณ์ด้วย อย่าให้ต้องพังกันไปทุกฝ่าย อาตมาเชื่อว่าถ้าลูกจ้างดี นายจ้างดี จะขึ้นค่าแรง  50-100 บาทก็ยังได้ นายจ้างขึ้นให้เองก็ได้ ที่วัดอาตมาไม่ขึ้นทีละ 10-20 บาท ถ้าเป็นหัวหน้าบริหารงานได้ ทำรายได้ให้มูลนิธิวัด ก็ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น เรื่องค่าแรงจึงอย่าบอกว่าคนเหมือนกันต้องเท่ากันเหมือนกฎหมาย เพราะแม้แต่กฎหมายบางทียังตีความไม่ตรงกัน จนน่าเบื่อ น่าเอือมระอา ตีความกฎหมายตุกติกก็มีมากมาย บอกให้เราไปร้องทุกข์ พอไปกลับบอกว่าไม่ได้ ไม่ถูกหรือผิดไปเลยก็มี

โดยเฉพาะคนจนที่จะเข้าใจเข้าถึงกฎหมายจริงๆนั้นยาก ความเป็นธรรมจากกฎหมายจึงมักอยู่กับคนที่ร่ำรวย เพราะรู้ที่จะใช้ช่องว่างของกฎหมายให้ประโยชน์กับตัวเองอย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องค่าแรงจึงไม่มีคำว่าต้องได้มากแค่ไหนจึงจะพอ แต่ต้องขึ้นอยู่กับงานและนายจ้างกับลูกจ้างด้วย ต่างคนต่างอยู่ได้ นายจ้างก็อยู่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ได้ ถ้านายจ้างก็ต้องพูดดีกับลูกจ้าง ให้รู้ความจริงก็จะอยู่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่ายแน่นอน

เจริญพร

 


You must be logged in to post a comment Login