วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

ลูกฆ่าแม่ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On January 1, 2018

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 3 ไปแล้ว มีความน่าสนใจหลายประเด็น

ประเด็นแรกคือ มาตรา 37/1 ที่เพิ่มอำนาจพิเศษให้ ป.ป.ช. ล้วงข้อมูลส่วนตัวเชิงลึกของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเข้าข่ายทุจริตและร่ำรวยผิดปรกติ ทั้งการดักฟังโทรศัพท์ เจาะอีเมล์ และตรวจสอบแชตไลน์

ประเด็นนี้มีเสียงคัดค้านค่อนข้างมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจเป็นเครื่องมือใช้ทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งในที่สุดคณะกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณา พ.ร.ป.ป.ป.ช. ยอมตัดอำนาจนี้ออกไป

ประเด็นต่อมาคือ ผู้ที่เข้าข่ายต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้บุคคล 8 กลุ่มต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทั้งของตัวเอง ภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในกรณีของภรรยาให้รวมถึงผู้ที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย

ส่วนผู้ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินได้ขยายจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปยังผู้ดำรงตำแหน่งอื่นด้วย เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

ส่วนประเด็นที่เป็นไฮไลท์สำคัญคือ การที่ สนช. ลงมติเห็นชอบการปรับแก้ร่างกฎหมายเพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี

เป็นการแก้ร่างกฎหมายที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างมา โดยกำหนดให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ ส่วนคนที่ขาดคุณสมบัติให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อสรรหาคนใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาทำงานแทน

ถือเป็นการแก้ร่างกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

พล.อ.นคร สุขประเสริฐ อนุกรรมการยกร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ชี้ประเด็นที่ทำให้การแก้ร่างกฎหมายเพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติอยู่ต่อจนครบวาระสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญว่ามีอยู่ 2 ประเด็น ประกอบด้วย การเขียนกฎหมายให้ยกเว้นคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. และการเติมข้อความให้ยกเว้นลักษณะต้องห้าม

“นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่สภาออกกฎยกเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้คนเหล่านั้นดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แม้แต่ใน พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ได้ยกเว้นลักษณะต้องห้าม ปัญหานี้ก็คือการเขียนกฎหมายแบบเอาลูกไปฆ่าแม่ เอา พ.ร.ป. ไปยกเว้นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ สุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง”

หากพิจารณาแนวทางซึ่งเป็นหลักการในการยกร่างกฎหมายลูกของ กรธ. ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน จะเห็นว่ามีหลักการชัดเจนที่จะให้กรรมการองค์กรอิสระที่อยู่ในตำแหน่งตามกฎหมายเดิมต้องพ้นจากตำแหน่งหากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากหน้าที่

ที่หนักที่สุดคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อสรรหาใหม่ทั้งหมด แม้แต่คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยอ้างว่า “เป็นกรณีพิเศษ”

คำถามคือ ทำไมคณะกรรมาธิการของ สนช. ต้องแก้หลักการเพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ สนช. แก้หลักการกฎหมายเพื่อให้กรรมการองค์กรอิสระอยู่ในตำแหน่งต่อแบบเลือกปฏิบัติ

ก่อนหน้านี้มีการแก้ไขให้ยกเว้นคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนที่ยังไม่หมดวาระอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 คนที่หมดวาระแล้วแต่อยู่รักษาการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก

คำถามคือ ทำไมต้องเป็นกรรมการ ป.ป.ช. กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป

ในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังพอเข้าใจได้ เมื่อมีข้ออ้างว่าให้ตุลาการ 5 คนที่หมดวาระแล้วอยู่ต่อเพื่อให้ตัวแทนฝ่ายการเมืองได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาตุลาการใหม่เพื่อความสง่างาม

แต่กรรมการ ป.ป.ช. อาจเป็นเรื่องเข้าใจยาก

เมื่อดูรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ที่จะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

1.รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.

2.รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.

ส่วนคุณสมบัติต้องห้ามคือ เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง ในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา

เมื่อนำข้อกำหนดเหล่านี้มาเทียบเคียงกับคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช.ปัจจุบัน มีหลายคนที่ต้องพ้นตำแหน่ง เช่น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งข้าราชการการเมืองไม่ถึง 10 ปี เพราะเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเมื่อปี 2557

นอกจากนี้ยังมีกรรมการ ป.ป.ช. ที่เคยเป็นหัวหน้าส่วนราชการหรืออธิบดีมาไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ ประกอบด้วย นายปรีชา เลิศกมลมาศ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง นายณรงค์ รัฐอมฤต น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์

ขณะที่นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557 จึงเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญที่ห้ามผู้เคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระอื่นมาก่อน

ส่วนผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนประกอบด้วย นางสุวณา สุวรรณจูฑะ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร

ทั้งนี้ หลังจาก สนช. ลงมติเห็นชอบวาระ 3 แล้ว ต้องส่งร่างกลับคืนให้ กรธ. และกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาว่าจะมีคำโต้แย้งหรือไม่ หากมีต้องส่งคำโต้แย้งกลับมาภายใน 10 วัน เพื่อให้ สนช. ลงมติอีกครั้งว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับคำโต้แย้ง

ระยะเวลา 10 วันจากนี้จึงเป็นช่วงวัดใจ กรธ. ว่าจะยืนยันในหลักการที่จะให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อทำการสรรหาใหม่หรือไม่

หรือจะยอมให้ร่างกฎหมายลูกฆ่าหลักการในกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญ


You must be logged in to post a comment Login