วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

นวนิยาย‘เฝ้ารอคอยฤดูดอกปีบบาน’ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On December 25, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

ข้อเขียนชิ้นนี้นำมาจากบทความที่เขียนโดย ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก เพื่อใช้เป็นคำนำเสนอแก่นวนิยายเรื่อง “เฝ้ารอคอยฤดูดอกปีบบาน” ซึ่งเป็นผลงานของเรืองยศ จันทรคีรี เป็นนวนิยายแนวการเมืองอิงประวัติศาสตร์สงครามการต่อสู้ในลาว เพื่อปลดแอกประชาชาติให้พ้นจากจักรวรรดิอเมริกา รวมทั้งเป็นการปลดแอกทางชนชั้นของลาวไปในตัวด้วย

ความจริงต้องยอมรับว่าวรรณกรรมมีอำนาจอยู่ในตัวเองอันเป็นมิติพิเศษ วรรณกรรมทางการเมืองของไทยอย่างนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” บทประพันธ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ เป็นงานเขียนที่มาพร้อมกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือคุณค่าทางวรรณกรรมของนวนิยายเรื่องปีศาจ

ความหมายของปีศาจในเชิงสัญลักษณ์คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่หลอกหลอนอารมณ์และความรู้สึกของฝ่ายพวกหัวเก่าอนุรักษ์นิยม นอกจากนั้นยังมีวรรณกรรรมทางการเมืองอีกหลายเรื่องที่ทรงคุณค่า แม้จะไม่มีเรื่องใดเทียบเท่าปีศาจก็ตาม ผลงานที่ควรกล่าวถึงในความทรงจำเช่น “แลไปข้างหน้า” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ผู้ต่อสู้และยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย งานเขียนของ “รพีพร” หรือสุวัฒน์ วรดิลก ได้แก่ “พิราบแดง” และ “ลูกทาส”

หากจะกล่าวถึงอำนาจของวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่และถือเป็นต้นตำรับเพชรน้ำเอกคงไม่มีวรรณกรรมเรื่องใดอีกแล้วที่จะเกินไปกว่า “สงครามและสันติภาพ” ผลงานของ “ลีโอ ตอลสตอย” ซึ่งมีอิทธิพลถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมและประวัติศาสตร์ของรัสเซียอย่างถาวร สั่นคลอนราชวงศ์โรมานอฟจนล่มสลายและพ่ายแพ้ต่อพลังอำนาจของประชาชน ส่งผลให้พรรคบอลเชวิคยึดปัจจัยการผลิตและทรัพย์สินต่างๆมาเป็นของรัฐภายใต้การปกครองระบอบสังคมนิยม

อำนาจของวรรณกรรมระดับโลกที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และยุคสมัยยังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถนำมาเป็นบทเรียนได้ เช่น วรรณกรรมจีนเรื่อง “บ้าน” หรือ “เจีย” ในภาษาจีน งานเขียนของ “ปายิน” ที่เปรียบประเทศจีนเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ภายใต้อำนาจและการปกครองของซูสีไทเฮาแห่งราชวงศ์แมนจูและเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนก่อนที่ ดร.ซุน ยัดเซ็น จะเข้ายึดอำนาจการปกครองและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โดยการนำของเหมา เจ๋อตุง ในที่สุด

วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์อีกเรื่องที่ถือเป็นเพชรน้ำเอกเช่นกันคือ “เหยื่ออธรรม” หรือ “ตรวนชีวิต” ชื่อในภาษาฝรั่งเศสคือ “Les Misérables” ผลงานของ “วิกตอร์ อูโก” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแปลออกเป็นภาษาไทยโดยชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่ Les Misérables ก็ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยที่จบบริบูรณ์

ในคำนำเสนอของนวนิยายเรื่อง “เฝ้ารอคอยฤดูดอกปีบบาน” โดย ดร.ณัฐวุธนั้น ตั้งข้อสังเกตว่านอกจากเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นงานเขียนประเภทโศกนาฏกรรมความรักระหว่างสงครามการกู้ชาติของลาว การปลดแอกเพื่อเอกราชและขับไล่จักรวรดินิยมอเมริกา ซึ่งอิงปรัชญาทางประวัติศาสตร์ของปราชญ์ “Arnold Toynbee” ที่ชี้ให้เห็นการครอบงำด้านวัฒนธรรมและปัญหาจิตสำนึกในสังคมไทย    นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยที่เป็น mode of asiatic production มีการครอบงำในโครงสร้างส่วนบนอย่างที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสรุปว่าเงื่อนไขประการเดียวเท่านั้นที่ทำให้มีการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคือ  collapse ที่แปลว่า “การทำลายตัวเองและกระทำโดยตัวเอง” เพราะการล่มสลายของ civilization นั้น Arnold Toynbee ชี้ว่าไม่มีใครสามารถทำลายได้นอกจากการฆ่าตัวเองเท่านั้น ซึ่งมี 3 วิธีคือ 1.เกิดจากการถอนตัวของกลุ่มอำนาจภายหลังการ challenge and respond หรือการย้อนกลับไปสู่ที่เดิม เช่น การล่มสลายของอารยธรรมโรมันและอารยธรรรรมมายา การ collapse ประการต่อมาคือ มีฝ่ายที่เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจที่เหนือกว่าจึงใช้วิธีการครอบอีกฝ่าย และที่น่ากลัวมากที่สุดคือ ความพินาศวอดวายที่จะเกิดขึ้นของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงใยมากต่อบ้านเมือง

ในทรรศนะของ Arnold Toynbee แท้จริงประชาชนพึงมีความต้องการเรียกร้องง่ายๆไม่กี่อย่างเท่านั้น ได้แก่ ความหวังในชีวิต อาหาร และอิสรภาพ สามารถตอบสนองได้ดีเฉพาะภายใต้การปกครองของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยคือสังคมพุทธ จึงน่าจะใช้วิถีทางของพุทธในการแก้ไขปัญหา โดยการใช้สติและปัญญาในวิถีของพุทธคือ ดำเนินไปในทางสายกลางที่ไม่สุดโต่ง ซึ่ง Arnold Toynbee แม้ไม่ใช่ชาวพุทธแต่ยังเลือกการใช้ความคิดแบบพุทธในการมองปัญหา

ประการแรกคือ ต้องยอมรับกฎของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทุกสรรพสิ่ง และไม่ควรไปในขั้นสุดโต่งไปทางหนึ่งทางใด การดำเนินทางสายกลางน่าจะเหมาะสมมากที่สุด

ดร.ณัฐวุธมีความเห็นว่า นวนิยาย “เฝ้ารอคอยฤดูดอกปีบบาน” จะเป็นเพชรน้ำเอกอีกเม็ดที่ทรงคุณค่าในวงการวรรณกรรมไทย และเป็นดั่งเสียงร้องเตือนให้กับพญาอินทรีว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยหากว่าเราขาดซึ่งสติและปัญญาที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองต้องดำเนินไปโดยเงื่อนไขของการ collapse ที่อาจเกิดได้ในหลายลักษณะ

นิยาย “เฝ้ารอคอยฤดูดอกปีบบาน” จะเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียช่วงกลางปี 2561 ก่อนจะรวมเล่มตีพิมพ์ในช่วงหลังจากนั้น


You must be logged in to post a comment Login