วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เมื่อข้อสะโพกเสื่อม / โดย รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช

On December 25, 2017

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช

ข้อสะโพกเป็นข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขา ทำหน้าที่งอเหยียดในเวลานั่ง เดิน ยืน หรือนอน และรับน้ำหนักในทุกอิริยาบถของร่างกาย

เมื่อข้อสะโพกผ่านการใช้งานเป็นเวลานาน หรือเกิดพยาธิสภาพจากสาเหตุอื่น มักทำให้เกิดการสึกหรอของผิวข้อหรือการทรุดตัวของหัวกระดูกต้นขา ปัญหาข้อสะโพกเสื่อมที่พบในคนไทยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงในส่วนของกระดูกต้นขา การได้รับยาสเตียรอยด์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมเป็นจำนวนมาก และบางรายอาจเกิดจากอุบัติเหตุ หรือข้อเสื่อมตามสภาพจากการใช้งานมาก

วิธีการรักษาข้อสะโพกเสื่อม ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อ การให้ยา การใช้อุปกรณ์ประคองการเดิน การส่องกล้องล้างข้อสะโพก การผ่าตัดเปลี่ยนแนวแกนกระดูก หรือขั้นสุดท้ายคือ “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม”

ปัจจุบันวิทยาการการผ่าตัดมีความก้าวหน้าไปมาก ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้นำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิด MIS THA (Minimally Invasive Total Hip Arthroplasty) มารักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2546 ข้อดีของการผ่าตัด MIS THA คือ สามารถลดอาการชอกช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณข้อสะโพกในระหว่างการผ่าตัด ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว เจ็บปวดน้อย โดยพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน (จากเดิม 7-10 วัน) ซ้ำรอบแผลผ่าตัดยังสั้นและสวยกว่าวิธีเดิม

เทคนิคการผ่าตัด MIS THA มีหลายวิธีคือ 1.Mini anterior approach คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก โดยมีบาดแผลเข้าทางด้านหน้าของข้อสะโพก ขนาดของแผลประมาณ 8-10 ซม. อย่างไรก็ตาม วิธีนี้หลังผ่าตัดจะมีปัญหาการเดินกะเผลกชั่วคราว 2.Mini posterior approach คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก โดยมีบาดแผลเข้าทางด้านหลังสะโพก ขนาดของแผลประมาณ 4-8 ซม. เป็นวิธีที่ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ยังมีการผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อบางส่วน หลังผ่าตัดอาจมีปัญหาข้อสะโพกเคลื่อนหลุดได้ร้อยละ 2-4

3.Nano hip surgery (anterosuperior) มีศัลยแพทย์บางกลุ่มดัดแปลงการผ่าตัดโดยพยายามไม่ผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อทางด้านหน้าและบนของข้อสะโพก และเรียกการผ่าตัดชนิดนี้ใหม่ว่าเป็น Nano technology มีบาดแผลประมาณ 4-7 ซม. แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อมากหรือตัวใหญ่และอ้วนมากได้ 4.Two incisions MIS THA คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยไม่ผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อ มีแผลผ่าตัด 2 แผล แผลแรกขนาด 4-6 ซม. เข้าทางด้านหน้าเพื่อเปลี่ยนเบ้าข้อสะโพกเทียม และอีกแผลหนึ่งขนาด 4-6 ซม. เพื่อใส่ก้านข้อสะโพกเทียมกระดูกต้นขา วิธีนี้เคยเป็นวิธีที่มีการประชาสัมพันธ์อย่างมากเมื่อ 3 ปีก่อน ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น กระดูกต้นขาแตกสูงถึงร้อยละ 30

5.Anterolateral MIS THA คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยการไม่ผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อทางด้านหน้า มีบาดแผลขนาดประมาณ 6 ซม. เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวเร็ว แต่วิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคและความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์เป็นอย่างสูง เพราะพื้นที่ในการทำงานเล็ก ทำให้ผ่าตัดยาก

ทุกวิธีที่กล่าวมานี้ผู้ป่วยสามารถลุก ยืน เดิน ได้ภายใน 1 วันหลังผ่าตัด สามารถออกกำลังกาย ว่ายน้ำ หรือทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ขับรถ ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม ขนาดของบาดแผลไม่ใช่หัวใจของความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การผ่าตัด MIS THA ทุกวิธีมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดสูง ฉะนั้นต้องคัดเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสมกับการรักษา รวมทั้งความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์เฉพาะทางด้วย ซึ่งขณะนี้ทีมศัลยแพทย์กระดูกและข้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์นำวิถีช่วยในการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม หลังจากได้มีการใช้เทคโนโลยีนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูงในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเมื่อปี 2548 รวมทั้งเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวข้อสะโพกเทียมเพื่อเก็บรักษากระดูกบริเวณรอบข้อสะโพก (Articular surface replacement) ให้สามารถใช้งานได้ยืนยาวต่อไป

 


You must be logged in to post a comment Login