วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ขสมก. ชี้ “แคชบ็อกซ์ผิดสเปค”

On December 17, 2017

ขสมก.เตรียมเจรจา “ช ทวี” แก้สัญญาใหม่อี-ทิคเก็ต หั่นเหลือ 800 คัน สั่งของมาแล้วต้องยอมจ่ายเอกชน “ไพรินทร์”ลั่นทุกโครงการต่อจากนี้ ขสมก.ต้องรอบคอบ ควรศึกษาทดลองก่อนเกิดความเสียหาย ด้านคณะกรรมการร่างทีโออาร์.โวยอย่าโยนบาปให้คนอื่น ซัดกลับไล่ให้ไปดูทีโออาร์.ข้อ 4.5 ระบุชัดกล่องแคชบ็อกซ์ต้องนับเหรียญได้ 5 เหรียญต่อวินาที เอกชนและกรรมการตรวจรับต้องยอมรับความจริงเครื่องห่วยไร้ประสิทธิภาพไม่ตรงสเป็กตามทีโออาร์. อย่าหาเหตุล้างมลทินให้ ช ทวี เพื่อหวังผลจัดซื้อรถโดยสารเอ็นจีวี 489 คันแพงที่สุดในโลก 4,400 ล้าน
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ยุติการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box บนรถโดยสารแล้ว หลังจากที่ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งตามสัญญาต้องติดตั้ง 2,600 คัน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการติดตั้งล็อตแรก 800 คัน ดังนั้นจะให้เดินหน้าทำให้เสร็จตามสัญญาไปก่อน ซึ่งหากไม่เสร็จในส่วนนี้จะปรับ ส่วนที่เหลืออีก 1,800 คัน จะเร่งเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา ส่วนบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket)บนรถ 2,600 คัน จะไม่มีการแก้ไข โดยขณะนี้ บ.ช ทวี ได้ติดตั้งครบ 800 คันแล้ว อยู่ระหว่างทดสอบการใช้งาน ส่วนที่เหลือจะต้องติดตั้งให้ครบภายใน เดือนมิ.ย.61
“ผมเข้ามารับหน้าที่ประธานบอร์ด เมื่อทำสัญญาไปนี้แล้ว ถ้าผมมาก่อนจะไม่ให้ทำแน่นอน เพราะทราบว่ามีการทดลองจริง แต่บนรถ 1-2 คันและเป็นรถที่จอด แล้วก็คิดว่าใช้ได้ ซึ่งน้อยไป ควรทดลอง 40-50 คัน และกำหนดพื้นที่ทดลองเวลา 3-6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่า ใช้งานได้จริงไม่มีปัญหาในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา แล้วค่อยประมูล ตอนนี้สั่งให้ทำแค่ 800 คัน เพราะทางเอกชนสั่งของมาแล้ว ส่วนที่เหลือ ยุติ ส่วนเงินจะจ่ายตามจริง เพราะเป็นสัญญาเช่า” นายณัฐชาติ กล่าว
ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขสมก.รายงานว่า การใช้งานของระบบ E-Ticket และเหรียญ (Cash Box)ได้ให้นโยบายไปว่า ก่อนที่จะเปิดประมูลจัดซื้อใดๆ ควรทำพื้นที่ในการทดลองพิเศษ หรือ sandbox ก่อน โดยเชิญผู้สนใจเข้ามาทำโครงการในพื้นที่ทดลองก่อน เพื่อประเมินข้อมูล ซึ่งจะเห็นปัญหาก่อนจากนั้นแก้ไขแล้วค่อยเปิดประมูลจัดซื้อ “ขสมก. มักจัดซื้อจัดจ้าง โดยลืมคำนึงว่า โครงการมักมีข้อจำกัดแบบไทย ๆ ทั้งที่นโยบายดี แต่ไม่ถูกกับบริบทพื้นที่ ดังนั้น อยากให้มีการทดลองก่อนใช้จริง เหมือนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทดลองการใช้จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดในพื้นที่ทดลองของแต่ละธนาคาร เพื่อศึกษาผลดีผลเสีย ก่อนเกิดความเสียหายจะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน”
ทั้งนี้ ขสมก. ได้ทำสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (e-Ticket)กับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน(บ.ช ทวี จำกัด,บ.จัมป์ อัพ จำกัด,บ.เอ็) วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 15 มิ.ย. 60- 15 มิ.ย. 65 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560ในสมัยนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงรักษาการณ์ผู้อำนวนการ ขสมก.
กรรมการร่างทีโออาร์.รายหนึ่ง(ขอสงวนชื่อ)เปิดเผยผู้สื่อข่าวเมื่อบ่ายว่านนี้(17ธ.ค.)ว่า “จริงๆแล้วคณะกรรมการร่างทีโออาร์.กำหนดคุณสมบัติ Cash Box ได้ศึกษาทดลองอย่างละเอียดโดยเฉพาะมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเข้ามาร่วมคณะทำงานด้วยกำหนดคุณสมบัติอย่างรอบคอบครบทุกด้านแล้ว เรื่องนี้มีอะไรซับซ้อนกว่าที่เป็นข่าว ขอให้สื่อมวลชนจับตาเรื่องแคชบ๊อคซ์ให้ดี เพราะกำลังมีขบวนการใช้เป็นข้ออ้างหาเหตุตัดตอนเพื่อให้เอกชนพ้นผิด และมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวพันกับโครงการจัดซื้อรถโดยสาร เอ็นจีวี.489 คันโดยมีเอกชนรายเดียวยื่นเสนอราคาด้วยวิธีพิเศษในราคาที่สูงกว่าราคากลาง 10 เปอร์เซนต์ ทั้งๆที่ราคากลางที่ตั้งไว้ครั้งล่าสุดคือ 4,020 ล้านบาทจริงๆแล้วก็สูงกว่าราคากลางที่เอกชนรายเดียวกันนี้เคยประมูลไว้เมื่อปี 2558 คือ 3,800 ล้านบาทและยิ่งถ้านับจากราคาที่บริษัทเบสทริน กรุ๊ป จำกัดชนะประมูลในปี 2559 คือราคา 3,300 ล้านผ่านมายังไม่ทันข้ามปีราคารถโดยสารเอ็นจีวี.ชนิดเดียวกัน สเป็คเดียวกันเป็นรถจากประเทศจีนเหมือนกันแต่ราคาแตกต่างสูงลิ่วกว่า 1,100 ล้านบาทหาก นับจากราคากลางล่าสุด 4,020 ล้านบาทบวกไป 10 เปอร์เซนต์ก็ประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่เป็นไปไม่ได้แถมวันนี้เงินบาทแข็งก็ยิ่งต้องถูกลงกว่าเดิม”
กรรมการร่างทีโออาร์..กล่าวอีกว่า ทำไมเรื่องอี-ทิคเก็ตกับแคชบ๊อกซ์ ถึงเกี่ยวพันกับการประมูลรถราคาสูงโอเว่อร์กว่า 1,100 ล้านบาท ตนอึดอัดมานานแล้ววันนี้ขอเปิดเผยแบบหมดเปลือกผ่านสื่อมวลชนถึง “ นายไพรินทร์รัฐมนตรีช่วยคมนาคม และนายณัฐชาติประธานบอร์ด ขสมก.ก่อนที่ท่านทั้งสองซึ่งมาจาก ปตท.ด้วยกันจะประสานเสียงกล่าวหา คณะทำงานกำหนดทีโออาร์.ไม่รอบคอบ ไม่ทดลองก่อนจัดซื้อ ไม่ใช่มืออาชีพ สร้างความเสียให้ ขสมก.ขอให้ท่านทั้งสองกลับไปดู ทีโออาร์.ข้อ 4.5 กำหนดคุณสมบัติ Cash Box ไว้ว่า “ความเร็วในการนับเหรียญประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า 5 เหรียญต่อวินาที” ข้อนี้ขอให้ท่านทั้งสองตรวจสอบให้ชัดเจนว่าคณะทำงานผิดพลาดบกพร่องตรงไหน? เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบจะปล่อยผ่านไปไม่ได้เด็ดขาดเพราะถือว่า ขสมก.ได้รับความเสียหาย ต้องมีการสอบสวนเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ….อย่าเงียบหรือบ่ายเบี่ยงหรือตัดตอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้ขายรถบัสโดยสารในราคาแพงที่สุดในโลกต่อไปได้เด็ดขาด
กรรมการกำหนดคุณสมบัติ Cash Box เปิดเผยต่อไปว่า “สรุปคือ มีกลุ่มผลประโยชน์หวังส่วนต่างก้อนมหึมา กำลังใช้ความพยายามหาทางออกให้เอกชน สร้างเรื่องเบี่ยงเบนความสนใจทั้งๆที่เอกชนรายนี้ไม่สามารถส่งมอบงานอี-ทิคเก็ตและแคชบ็อกซ์ได้ทันเวลาแถมยังไม่สามารถใช้งานได้ตามข้อกำหนดเลยแม้แต่ตัวเดียว ง่ายๆก็คือไร้ขีดความสามารถ จึงสร้างเรื่องหาทางลงเพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาเช่าอี-ทิคเก็ตและแคชบ็อกซ์ ซึ่งอาจถึงขั้นยกเลิกสัญญาและอาจขึ้นบัญชีดำซึ่งจะส่งผลต่อขบวนการจัดซื้อรถเอ็นจีวี 489 คันมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท จึงหาเหตุด้วยการสร้างเรื่องตัดตอนให้เกิดการเจรจาต่อรองให้ลดจำนวนแคชบ๊อกซ์จาก 2,600 คันลงมาเหลือ 800 คันนั้นว่าเป็นความต้องการของ ขสมก.เอง ไม่ใช่ความผิดหรือความบกพร่องของเอกชน ถ้าออกมาแบบนี้ได้ ช ทวี ก็จะไม่ไต้องรับผิดชอบซึ่งเสี่ยงต่อการถูกขึ้นบัญชีดำ แต่ด้วยข้อเท็จจริงแล้วแม้กระทั่ง 800 เครื่องที่จะตรวจรับก็ใช้งานไม่ได้เมื่อตรวจรับไม่ได้ก็ต้องยกเลิกสัญญาอยู่ดี”
กรรมการร่างทีโออาร์.รายเดิมเปิดเผยต่อไปว่า “ขอให้นายไพรินทร์และนายณัฐชาติ ไตร่ตรอง ทีโออาร์.ข้อ 4.5 เรื่องต้องมีคนรับผิดชอบเพราะเป็นสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชน เมื่อ ขสมก.ได้รับความเสียหายต้องมีคนรับผิดชอบ อย่าทำเหมือนเด็กเล่นขายของ โดยเฉพาะข้อกำหนดในทีโออาร์.เอกชนต้องรับทราบและต้องรู้ตัวดีว่า มีขีดความสามารถเพียงพอหรือไม่? คุณสมบัติเครื่องเก็บเงินแคชบ็อกซ์ตามข้อกำหนด ต้องมีประสิทธิภาพสูงสามารถนับเหรียญไทยได้ 5 เหรียญต่อ 1 วินาที ถ้าอุปกรณ์ Cash Box ของ ช ทวี มีประสิทธิภาพสามารถทำงานได้จริงตามทีโออาร์.กำหนด ปัญหาที่ท่านทั้งสองอ้างว่า เครื่องหยอดเหรียญทอนเหรียญช้ามากจะมีปัญหาผู้โดยสารรอคิวส่งผลการจราจรติดขัดจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ที่บอกว่าช้าและไร้ประสิทธิภาพทุกเครื่องก็เป็นเพราะคุณภาพของเครื่องที่เอกชนนำมาติดตั้งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในทีโออาร์.หรือท่านทั้งสองว่าไม่จริง? “การเอื้อประโยชน์ให้เอกชนแบบนี้เข้าข่าย ทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่?”ควรต้องมีคนติดคุกเหมือนคดีแก้สัมปทานมือถือในอดีตหรือไม่?”กรรมการร่างทีโออาร์.กล่าวทิ้งท้าย


You must be logged in to post a comment Login