วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

หยุดวาทกรรม‘แก้จน’ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On November 27, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

“รัฐบาลจะใช้โอกาสที่มีอยู่เร่งแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยตั้งเป้าคนไทยทุกคนที่ยังมีความยากจนอยู่จะต้องหายจนให้ได้ในปีหน้า ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานั้น ตอนนี้กำลังคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อหาทางออกมาตรการพิเศษมาดูแล โดยเฉพาะการกระจายเม็ดเงินลงไปยังชุมชนมากขึ้น”

คำกล่าวจากการปาฐกถาพิเศษของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในงาน “THAILAND 2018” เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เรียกเสียงฮือฮาและความสนใจได้จากประชาชนทั้งประเทศ

ดร.สมคิดให้เหตุผลว่า ปีหน้าจะเป็นปีแห่งโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง เพราะประเทศใหญ่ๆพยายามเอาตัวเองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาเซียนเพื่อเป็นพันธมิตรมากขึ้น เช่น ประเทศอเมริกา

แนวทางหนึ่งที่รัฐบาลจะนำมาใช้เป็นลำดับแรกๆคือ การปลดล็อกกฎระเบียบเพื่อดึงเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีอยู่กว่า 200,000 ล้านบาท มาใช้ในการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ เช่น การจ้างงานในพื้นที่ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สาธารณสุขชุมชน ดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุในชุมชน

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลทหาร คสช. คิดจะเอาเงิน อปท. ออกมาใช้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจพิเศษที่มีบันดาลได้ทุกสิ่ง

แต่คำถามคือ เมื่อเอาเงินออกมาใช้แล้วจะแก้ปัญหาความยากจนได้จริงหรือไม่ ยั่งยืนหรือไม่

การจ้างงานให้ประชาชนมีรายได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ทำกันมาทุกยุคทุกสมัย

แม้แต่รัฐบาลทหาร คสช. ก็เคยทำมาแล้ว โดยการจัดสรรงบประมาณจ้างงานให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นโครงการที่ออกมาช่วงปลายปี 2557 เพื่อให้เกิดการจ้างงานในหน้าแล้งปี 2558

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่อัดฉีดเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ชนบท เช่น จัดเงินอุดหนุนทุกตำบลแห่งละ 5 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

ย้อนไปก่อนหน้านั้นก็มีโครงการจ้างงานในชนบทเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ที่เด่นชัดที่สุดคือโครงการมิยาซาวาสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ผลคือเศรษฐกิจฟูขึ้นได้ไม่นานแล้วกลับมาฟุบเหมือนเดิม เมื่องบหมดคนในชนบทก็ไม่มีรายได้ ทำให้เกิดคำถามถึงความยั่งยืนจากการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความยากจนหรือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าแนวคิดการสร้างงานในชนบทเพื่อแก้ปัญหาความยากจนนั้นเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง

แต่วิธีการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลดำเนินการมาแล้วหลายโครงการ และการจ้างงานจะสิ้นสุดเมื่องบประมาณหมด

หากดูจากจำนวนประชากรที่มาลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยกับรัฐบาลที่มีกว่า 14 ล้านคน นี่คือโจทย์ใหญ่ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้คนจนลดน้อยลง หรืออย่างน้อยก็ไม่เพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนนั้นมีหลายหน่วยงานทำการศึกษาและเสนอแนวทางไว้ ซึ่งส่วนมากก็คล้ายๆกัน เช่น ส่งเสริมนโยบายการพัฒนาประเทศที่สมดุล ส่งเสริมการเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่คนจนส่วนใหญ่พึ่งพิงได้ การเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนจน พัฒนากระบวนการเรียนรู้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเหมาะสม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมและผู้ด้อยโอกาส การพัฒนาระบบบริการทางสังคมให้เข้าถึงกลุ่มคนจนและผู้ด้อยโอกาส การจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับปัญหาของกลุ่มคนจนและผู้ด้อยโอกาส

ทั้งหมดเป็นทฤษฎีที่ทุกฝ่ายรับรู้ แต่ปัญหาคือการปฏิบัติให้เกิดผล

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีคำเสียดสีเมื่อมือเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศว่าจะทำให้คนจนหมดจากประเทศไทยในปีหน้า เพราะน้อยคนนักที่เชื่อว่าสามารถทำได้จริง

ที่ร้ายไปกว่านั้นยังมีคนมองในมุมการเมืองว่าที่แก้ปัญหาคนยากจนไม่ได้เพราะฝ่ายการเมืองไม่ต้องการให้คนจนหมดประเทศ เพื่อใช้คนจนเหล่านี้เป็นฐานเสียงทางการเมืองในยามเลือกตั้ง

สถาบันการเงินเครดิตสวิสออกรายงานความมั่งคั่งของโลก (Global Wealth Report 2016) เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย คนรวยที่มีสัดส่วนเพียง 1% ของประชากร แต่กลับครอบครองความมั่งคั่งสูงถึง 58% ของระบบเศรษฐกิจ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีข้อมูลว่า คนรวย 0.1% หรือประมาณ 65,000 คน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน มีเงินฝากเท่ากับ 49% ของเงินฝากทั้งระบบ

อ็อกแฟม องค์กรด้านการกุศลของอังกฤษที่เคลื่อนไหวทางสังคม ออกรายงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่าคนมีฐานะของไทยคิดเป็นสัดส่วน 10% ของประชากร มีรายได้มากเป็น 35 เท่าของผู้มีรายได้น้อย และคนรวยเหล่านี้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ

การแก้ปัญหาความยากจนเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของรัฐบาลทุกชุด ซึ่งต่างรับรู้ มองเห็นปัญหา และเข้าใจทฤษฎีที่ใช้ในการแก้ปัญหาดี

สิ่งสำคัญที่สุด การแก้ปัญหาความยากจนต้องแยกออกจากเรื่องทางการเมืองเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

จะได้ไม่ต้องทนฟังวาทกรรมจะทำให้คนจนหมดประเทศซ้ำซากเหมือนที่ผ่านมา


You must be logged in to post a comment Login