วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

กลุ่มเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี / โดย นพ.ทวี รัตนชูเอก

On November 26, 2017

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.ทวี รัตนชูเอก

นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆ เกิดขี้นอย่างเงียบๆโดยไม่รู้ตัว พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยร้อยละ 5-10 ของประชากร

มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่ว พบมากใน 4 กลุ่มเสี่ยงคือ 1.พบมากในเพศหญิง (Female) มากกว่าเพศชายประมาณ 2-3 เท่า 2.พบมากในวัย 40 ปีขึ้นไป (Forty) หรือวัยกลางคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ 3.พบมากในคนอ้วน (Fatty) การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงทำให้มีโคเลสเตอรอลสะสมในถุงน้ำดีมากเกินไป และ 4.พบมากในผู้ที่มีอาการจุกแน่นบ่อยๆหลังรับประทานอาหารไขมันสูง (Fat Intolerance) และมีอาการปวดท้องบ่อยๆหลังรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียก็สามารถเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน

นิ่วในถุงน้ำดีหากไม่รีบรักษาจะทำให้นิ่วตกไปอยู่ในท่อน้ำดีกลายเป็นนิ่วในท่อน้ำดี ซึ่งมีความยุ่งยากในการรักษาและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต โดยมีสาเหตุมาจากการตกตะกอนของโคเลสเตอรอล เกลือแร่ และโปรตีนที่ไม่สมดุลในน้ำดี

อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดีคือ จุกแน่นบริเวณชายโครงขวาและลิ้นปี่ ลักษณะการจุกแน่นนี้ให้พึงระวังไว้ก่อนว่าไม่ใช่โรคกระเพาะอาหาร แต่อาจเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี เพราะตับและถุงน้ำดีอยู่ใต้ชายโครงขวา ส่วนใหญ่จะเกิดหลังจากรับประทานอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง และอาจมีอาการเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ดีขึ้นด้วยการรับประทานยาลดกรด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้โดยการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจไปตรวจ เพราะมีความเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงไปซื้อยาลดกรดหรือยารักษาโรคกระเพาะอาหารมารับประทานเอง เมื่อไปพบแพทย์ก็มีอาการอักเสบและรุนแรงมากจนก้อนนิ่วตกไปในท่อน้ำดีแล้ว ซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น รวมถึงสูญเสียเงินทองในการรักษามากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัยทำงานที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว

ดังนั้น ผู้ป่วยต้องรู้จักสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง และเฝ้าระวังอาการอย่างระมัดระวัง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนอย่างสม่ำเสมอแม้จะไม่มีอาการก็ตาม

การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมาก จากการผ่าตัดใหญ่ในอดีตที่จะต้องเปิดแผลหน้าท้องใต้ชายโครงขวาประมาณ 1 คืบ แล้วตัดถุงน้ำดีออกไป ใช้เวลาพักฟื้นนาน 7-10 วัน มาเป็นการผ่าตัดส่องกล้องที่มีความสะดวก และแผลเล็กจนแทบมองไม่เห็น ใช้เวลาพักฟื้น 2-3 วันก็สามารถกลับไปทำงานได้แล้ว

นอกจากนี้ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะตรวจตับด้วยว่ามีการทำงานที่ผิดปรกติหรือไม่ เนื่องจากแพทย์สงสัยว่าผู้ที่มารักษานิ่วในถุงน้ำดีอาจมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย จะได้ทำการผ่าตัดออกภายในครั้งเดียว ซึ่งพบว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีจะมีนิ่วในท่อน้ำดีด้วย

สำหรับการดูแลตัวเองหลังการรักษา ควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารที่มีไขมัน 3-4 สัปดาห์ ลดการทำกิจกรรมที่หักโหมทางร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และงดการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดต่างๆ เพราะเมื่อไม่มีถุงน้ำดีแล้วจะส่งผลให้ระบบการย่อยไขมันบกพร่องลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีมีห้องผ่าตัดและส่องกล้องเพียงห้องเดียว และสามารถรองรับผู้ป่วยได้ในจำนวนจำกัดเพียง 1,000 รายต่อปี นอกจากผู้ป่วยในแล้วยังมีผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกด้วย ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดต้องรอคิวนานประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งบางคนไม่สามารถรอได้ โดยทางโรงพยาบาลจะพิจารณาว่าผู้ป่วยคนไหนด่วนก็จะเร่งรักษาก่อน

ในอนาคตเมื่อตึกใหม่สร้างเสร็จและมีอุปกรณ์ครบถ้วนจะมีห้องผ่าตัดและส่องกล้อง 8 ห้อง สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น การประสานงานจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็สามารถทำได้เร็วขึ้น จาก 1 สัปดาห์ อาจลดเวลาลงเหลือ 1-2 วันผู้ป่วยก็สามารถรับการรักษาได้แล้ว

ทั้งนี้ ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมแบ่งปันน้ำใจสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี ประเภทบัญชี ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 051-2-16322-1 สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2354-8138 ต่อ 3217-9


You must be logged in to post a comment Login