วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ยิ่งคลุมเครือยิ่งชัดเจน / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On November 13, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ทิศทางการเมืองนับจากวันนี้ดูเหมือนหลายฝ่ายจะเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ายึดอำนาจการปกครองตั้งแต่กลางปี 2557 และมีกรอบเวลาอยู่ตามโรดแม็พคืนอำนาจให้ประชาชนในช่วงปลายปี 2561 จะยังไม่วางมือจากอำนาจแบบหันหลังให้การเมืองหลังการเลือกตั้ง

นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน เชื่อว่า งานหลายอย่างที่รัฐบาลทหาร คสช. ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาเป็นการช่วงชิงมวลชนจากฟากฝั่งพรรคเพื่อไทย เช่น กรณีการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกว่าบัตรคนจน

นอกจากแย่งชิงมวลชนจากพรรคการเมืองที่มองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังจะแย่งชิงอดีต ส.ส. โดยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาดูดอดีต ส.ส. ออกจากพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่าพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นมาทำภารกิจนี้มีชื่อว่า “พรรคพลังชาติไทย” ไม่ใช่พรรคประชาชนปฏิรูปที่มีการจัดตั้งก่อนหน้านี้ และประกาศแนวทางพรรคชัดเจนว่าสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง

คนที่สนใจการเมืองคงจำกันได้ว่านี่เป็นโมเดลเดียวกับคณะรัฐประหารรุ่นพี่ที่ใช้ชื่อว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการยึดอำนาจเมื่อปี 2534 และตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรค “สามัคคีธรรม” ขึ้นมาดูดอดีต ส.ส. จากพรรคอื่นเข้าสังกัดก่อนปล่อยให้มีการเลือกตั้งเพื่อสนับสนุน “บิ๊กสุ” พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้า คสช. จะเดินตามโมเดลนี้จริงถือว่าน่าสนใจ

แม้จะมีคนเตือนให้ระวังการรวมตัวกันของประชาชนออกมาขับไล่ซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม เพราะประชาชนในประเทศถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจนแล้ว

ต่างจากปี 2535 ที่ประชาชนเป็นมวลชนของพรรคการเมืองและฝ่ายการเมืองก็ยังไม่ได้แบ่งขั้วแบ่งข้างอย่างชัดเจนเหมือนในปัจจุบัน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือมีมวลชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ผูกติดกับพรรคการเมืองสนับสนุนคณะรัฐประหาร และยังมีมวลชนอีกกลุ่มใหญ่ที่เป็นไทยเฉยเพราะเบื่อกับการแก่งแย่งอำนาจทางการเมือง มองเห็นว่าไม่มีฝ่ายไหนดีกว่ากัน

หาก คสช. เลือกเดินทางเดียวกับ รสช. จริง โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบพฤษภาทมิฬถือว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

ถ้าจะมีคนออกมาขับไล่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่มี “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นไปในลักษณะคนเสื้อเหลืองออกมาขับไล่รัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร คนเสื้อแดงขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือมวลชนแตกเป็น 2 ฝ่าย แยกฝั่งสนับสนุนฝ่ายที่ตัวเองชื่นชอบ

นอกจากเรื่องมวลชนแล้ว การปูพื้นฐานทางอำนาจให้แข็งแกร่งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ส่งคนไปฝังตัวอยู่ในองค์กรอำนาจทุกแห่งที่มีอยู่ หากถูกเดินขบวนขับไล่ก็มีทางเลือกเพื่อรักษาอำนาจอยู่หลายทาง ไม่ใช่เพียงการใช้กำลังเข้าปราบปรามเหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ดังมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วกับการจัดการการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

แม้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่ผ่านประสบการณ์ร่วมก่อรัฐประหารมา 3 ครั้ง จะออกมาเตือน “บิ๊กตู่” ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีมา 3-4 ปีน่าจะพอแล้ว ถ้ายังยึดติดอำนาจอยากเป็นนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้งอีกระวังไม่มีแผ่นดินอยู่

แต่อดีตไม่ได้ให้บทเรียนเฉพาะ พล.อ.พัลลภเท่านั้น แต่ยังให้บทเรียนกับคณะรัฐประหารอย่าง คสช. ด้วยเช่นเดียวกัน และได้วางกลยุทธ์แก้ความผิดพลาดของคณะรัฐประหารในอดีตเอาไว้แล้ว

ไม่อย่างนั้นผู้มีอำนาจในปัจจุบันคงไม่ออกอาการแบ่งรับแบ่งสู้กับข่าวการเตรียมตั้งพรรคการเมืองเพื่อดูดอดีต ส.ส. พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ตัดกำลังให้คู่แข่งอ่อนแอแล้วเพิ่มความแข็งแกร่งให้ฝ่ายตัวเอง

แม้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หนึ่งในคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศของ คสช. เตรียมจัดตั้งพรรคพลังชาติไทย

แต่เมื่อผู้สื่อข่าวให้ยืนยันว่า คสช. จะไม่ตั้งพรรคการเมือง คำตอบที่ได้จาก “บิ๊กป้อม” คือ

“ทำไมต้องไปยืนยัน คสช. ไม่ยุ่งกับการเมืองอยู่แล้วยกเว้นมีความจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง หากไม่จำเป็นก็ไม่ตั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง”

คำตอบของ “บิ๊กป้อม” ถือว่าน่าสนใจ และต้องขีดเส้นใต้ที่คำว่า “หากไม่จำเป็นก็ไม่ตั้ง” ซึ่งคนทั่วไปอยากรู้ว่าความจำเป็นในความหมายของ “บิ๊กป้อม” นั้นหมายถึงอะไร

เมื่อหนึ่งในบุคคลที่ถือว่ามีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งใน คสช. ออกมาพูดแบบไม่ปิดโอกาสตั้งพรรคการเมืองแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนหลังจากที่ คสช. ปลดล็อกให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้คือ จะมีการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ตามเงื่อนเวลาของกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำอะไรหลายอย่างก่อนที่จะส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งได้ การตั้งพรรคไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ย้อนไปก่อนหน้านี้หากจำกันได้ก่อนที่จะมีการพูดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองของ คสช. มีการพูดถึงโอกาสในการเข้ามาเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งของ “บิ๊กตู่” ตามที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้เปิดช่องเอาไว้ให้ ซึ่ง “บิ๊กตู่” ก็ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

ความน่าจะเป็นของสถานการณ์การเมืองหลังหมดเวลาโรดแม็พเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจของ คสช. จึงมีแนวทางที่พอมองเห็นได้ 2 ทางคือ ตั้งพรรคสู้ตามกติกาสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯอีกรอบหลังเลือกตั้ง กับไม่ตั้งพรรคให้เปลืองเงินเปลืองแรง

ปล่อยพรรคการเมืองสู้กันไป นั่งรอเทียบเชิญให้เป็นนายกฯคนนอก เพราะถึงอย่างไรก็คงไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้เสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

สุดท้ายแล้วจะเลือกแนวทางไหนก็ขึ้นอยู่กับความ “จำเป็น” ตามที่ “บิ๊กป้อม” ได้กล่าวไว้ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าเลือกทางไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วคือการลากยาวในอำนาจน่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่


You must be logged in to post a comment Login