วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

เอาตำแหน่งเดิมพัน?/ โดย พระพยอม กัลยาโณ

On October 25, 2017

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

สิ่งที่คาดไม่ถึงมักจะเป็นไปตามเหตุการณ์ของมัน เราคิดว่าเอาอยู่ แต่พอเกิดขึ้นจริงๆก็เอาไม่อยู่ นั่นคือเรื่องน้ำท่วมขณะนี้ที่กำลังท่วมไปแล้ว 17 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อนหลายแสนคน เป็นอีกครั้งที่ถือเป็นบทเรียนของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นปัญหาที่ไม่รู้จักนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาใช้

แม้ปัญหาน้ำท่วมจะเกิดจากธรรมชาติ หรือถูกธรรมชาติหลอก สวิงจากภัยแล้งจนหลอนติดสมอง กลัวจะมีปัญหาหากปล่อยน้ำจากเขื่อน เลยไม่กล้าปล่อยน้ำ เพราะปีก่อนกลัวว่าน้ำจะมามากก็ปล่อยน้ำออกจนขาดแคลนน้ำ ยิ่งปีที่แล้วเกิดปัญหาภัยแล้งอีก ก็ยิ่งกลัวว่าจะขาดแคลนอีก จึงเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด ไม่ระบายออก ทั้งที่ควรระบายออกเพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมา

ก็เห็นใจนะ ทำยังไงได้เมื่อมนุษย์เราถูกธรรมชาติทั้งหลอกทั้งหลอน เลยไม่กล้าที่จะปล่อยน้ำออก เพราะกลัวขาดแคลนน้ำ สุดท้ายก็ต้องเจอน้ำท่วม ไม่รู้ว่าเราจะตื่นจากภาวะถูกหลอกถูกหลอนอย่างไร จะตั้งสติเรื่องของน้ำอย่างไร ระหว่างน้ำท่วมกับน้ำแล้งนั้น อย่างไหนหนักหนากว่ากัน น้ำแล้งยังไงก็ไม่ถึงกับไม่มีน้ำจะกินจะใช้ บ้านเราขาดน้ำอย่างไรก็ยังพออยู่ได้ เอาน้ำจากตรงโน้นตรงนี้มาช่วยบรรเทา ยิ่งสามารถเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเหมือนถังใหญ่ๆ ในที่สูงๆ ก็จะช่วยเหลือได้มาก จะใช้ดินเหนียวดินเหลวก็ได้ทั้งนั้น เราก็จะไม่มีคำว่าขาดแคลนน้ำ ไม่กลัวขาดน้ำ จะมีแต่ปัญหาน้ำท่วมที่เป็นเรื่องของฝน

เหมือนครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เราก็เจอแบบนี้คือไม่ปล่อยน้ำล่วงหน้า คราวนั้นวิพากษ์วิจารณ์ “น้องน้ำ” ริษยาการเมือง เกิดปัญหาหลายพื้นที่ คราวนี้ก็กลัวจน “ขี้หดตดหาย” กลัวจะเกิดความเสียหายต่างๆนานา ถ้าพร่องน้ำไว้ก่อน พอฝนตกลงมาหนัก เขื่อนก็ต้องระบายน้ำ เพราะเห็นแล้วว่าน้ำมาเยอะ แต่ไม่ยอมปล่อยในช่วงแรกๆมาปล่อยในช่วงนี้ที่น้ำเต็มไปหมด มันก็เลยพังราบพนาสูญ ตรงนั้นจม ตรงนี้ล่มก็ว่ากันไป

ภาพขาดแคลนกับท่วม ถ้ายังขืนกลัวก็จะยังเป็นภาพหลอน เดี๋ยวก็สวิงอีก พอปีนี้ท่วม ปีหน้าก็ระบายน้ำปล่อยน้ำกันสุดขีด มันก็ไม่มีความพอดี เพราะกลัวกักเก็บน้ำไว้มากเกินไป ยังไงก็ต้องพยายามหาจุดพอดี บริหารน้ำให้ได้ ต้องตัดความกลัวออกไปซะบ้าง เอาความเป็นจริงมาพิจารณาให้มากที่สุด

อย่างช่วงฝนยังไม่หมดฤดู มันก็ยังมีฝนอยู่ ก็ต้องพร่องน้ำไว้ก่อน คำว่า “พร่องน้ำ” เพื่อรองรับน้ำกับเก็บน้ำไว้ป้องกันขาดแคลน ช่วงที่ควรเก็บก็ต้องช่วงที่ฝนตกหนักคือตอนปลายฤดู แต่เมื่อตอนต้นเราไม่ปล่อยน้ำ ไม่พร่องน้ำ มาปล่อยเอาตอนปลายช่วงที่ฝนตกหนัก มันก็กระอักสิ อย่างที่วัดอาตมาก็กึ่งๆจะจมน้ำแล้ว ต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยสูบออก ตรงไหนเปิดได้ก็เปิด ตรงไหนดูดได้ก็ดูด  น้ำท่วมแค่วันเดียวทำให้มะละกอตายไปหลายต้น

ยิ่งมีข่าวคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ถามกทม.ว่าอุโมงค์ยักษ์เป็นอย่างไร ผู้ว่าฯกทม.ตอบอย่างไร ยังใช้ได้หรือไม่ เพราะคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชะ ก็ยังโอดครวญบ้านน้ำท่วม รถเสียหาย รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น บริหารจัดการน้ำอย่างไร

ก็ขอให้ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องน้ำเชื่ออาตมาเถอะ ขาดน้ำยังมีคนด่าน้อยกว่าน้ำท่วม ท่วมโดนด่ามากกว่า ขาดน้ำมันไม่ถึงกับหมดเนื้อหมดตัวหมดหน้าตัก เพราะน้ำบ้านเรายังไงก็ต้องมีมาใหม่ อาตมาอยากฝากว่า ขอให้คิดให้รอบคอบระหว่างปัญหาขาดน้ำกับน้ำท่วม ประเมินสถานการณ์กันให้ดีๆ ตรวจสอบกันให้รอบคอบ พอเกิดปัญหาขึ้นมามีใครกล้าประกาศว่า “ข้าพเจ้ารับผิดชอบเอาตำแหน่งเดิมพัน” บ้าง ไม่ใช่ลอยตัวกันไปหมด กล้าๆกลัวๆ แล้วในที่สุดเราก็ต้องเจออยู่ในสภาพอย่างนี้ซ้ำซาก ก็หวังว่าการบริหารจัดการนเต่อไปจะดีกว่านี้

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login