วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

On October 11, 2017

เว็บไซต์ประชาสัมภาษณ์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน เมื่อคนหาเช้ากินค่ำอย่างป้าขาว (ยัง) ไม่ผิด แล้วทำไมต้องติดคุก ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมและชวนทุกคนร่วมกันเปลี่ยนแปลง

สักสองสามสัปดาห์ก่อน หลายคนน่าจะได้เห็นคลิปตัวหนึ่ง ‘ป้าขาวไม่ผิด’ บอกเล่ากระบวนการยุติธรรมที่ผลักคนจนเข้าคุกเพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัว มาพร้อมกับการณรงค์รวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change ‘เปลี่ยนระบบเงินประกันต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจนอีกต่อไป’

คนประมาณ 66,000 คนที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่ามีความผิด ต้องติดคุก เพียงเพราะไม่มีหลักทรัพย์หรือเงินมาประกันตัว ลองนึกดูว่าหากท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาไม่มีความผิด สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องสูญเสียไปในโลกหลังกำแพง ใครจะชดใช้ได้เพียงพอ

“คนตั้ง 66,000 คนที่ประกันตัวไม่ได้ ไม่ใช่เพราะศาลไม่ให้ประกัน แต่เพราะเขาไม่มีเงิน เนื่องจากศาลกำหนดหลักประกันเป็นเงิน ในคดีที่มีโทษอย่างสูงถึงประหารชีวิตก็ต้องมี 8 แสนบาทเป็นอย่างต่ำ ในคดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตก็ต้องมี 6 แสนบาท ผลลัพธ์ของวิธีการแบบนี้คืออะไร มันก็คือกระบวนการยุติธรรมในแบบที่คนมีเงินก็ไม่ต้องติดคุก ส่วนคนที่ไม่มีเงิน ถ้ากู้ยืมใครไม่ได้ ก็ต้องติดคุก” ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน กล่าว

เราจะทำให้ถ้อยคำประชดประชันทำนองว่า คุกมีไว้ขังคนจนหรือเศรษฐีนอนบ้าน ขอทานนอนคุก เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยหนักหนาพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่กระบวนการยุติธรรมจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในส่วนนี้อีก เรื่องนี้ไม่ง่าย จะเป็นความตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดการใช้เงินเป็นหลักประกันนั้นฝังอยู่ในแนวทางปฏิบัติของสถาบันตุลาการมาเนิ่นนาน ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะรื้อถอน แต่ความยากไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนิ่งเฉย

ไม่กฎหมายฉบับใดบอกว่า ต้องใช้เงินประกันตัว

เป็นที่รับรู้กันดีว่า จำเลยยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาว่ามีความผิด อันเป็นหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แล้วเหตุใดจึงยังมีคน 66,000 คนต้องติดคุกทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด อีกทั้งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่มีจุดใดเลยระบุว่าจำเลยต้องใช้ ‘เงิน’ ในการประกันตัว นี่คือคำถามใหญ่ที่ปริญญาชูขึ้น

“เรื่องนี้เป็นปัญหามากในประเทศไทย แต่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจึงมีเครือข่ายนี้ขึ้นมา เพราะถ้าดูตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่ได้เขียนว่าต้องใช้เงิน เขียนเพียงว่าในคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูง จำคุก 5 ปีขึ้นไป ศาลจะให้มีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ แล้วคดีที่มีโทษต่ำกว่า 5 ปีก็เช่นกัน จะไม่มีหลักประกันก็ได้ สรุปคือถ้าพูดอย่างง่ายที่สุด คดีอาญาโทษจำคุกกี่ปีก็แล้วแต่ ศาลจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ แล้วหลักประกัน ถ้าจะมีก็ไม่ได้เขียนตรงไหนเลยว่าต้องเป็นตัวเงิน

“เราจึงเห็นว่าควรต้องมีการรณรงค์ เพื่อเชิญชวนให้สังคมตระหนักแล้วหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาความยุติธรรมที่เป็นความเหลื่อมล้ำอย่างยิ่งในประเทศไทย คนที่ยังไม่ผิดก็ไม่ควรติดคุกจนกว่าศาลพิพากษา ถ้าหากว่ากลัวเขาหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานก็สามารถมีวิธีประกันด้วยแบบอื่น เพราะถ้าใช้เงินเมื่อไหร่ มันหมายถึงความเหลื่อมล้ำทันที ไม่ต้องพูดถึงอาชีพใหม่ที่เป็นนายหน้าค้าประกันหรือการไปกู้เงินนอกระบบด้วยอัตราแพงๆ”

กระบวนการยุติธรรมที่ตราชั่งข้างหนึ่งมีจำนวนเงินวางอยู่และอีกข้างคืออิสรภาพจากการได้รับการประกันตัว ย่อมเป็นกระบวนการยุติธรรมที่วางอยู่บนความยากดีมีจนและความเหลื่อมล้ำ คนมั่งมีซื้อหาอิสรภาพ คนจนถูกพรากอิสรภาพ

หากพินิจพิเคราะห์ว่า การวางหลักประกันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหลบหนี ประเด็นนี้ก็มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์หลายต่อหลายครั้งแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ยิ่งผู้ที่สามารถประกันตัวได้ด้วยหลักประกันราคาสูง หากคิดหนีย่อมสะดวกกว่าคนจนด้วยซ้ำ ปริญญาก็ตั้งคำถามอีกว่า

“แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าความยุติธรรมได้อย่างไร

“วิธีการใช้เงินเป็นหลักประกันมันง่ายที่สุด เอาเงินมาวางไว้ ถ้าหนีไป ก็ริบเงิน และเชื่อว่าเงินมีความสำคัญต่อคน ถ้าวางเงินสูงขนาดนั้นก็คงไม่หนี แต่วิธีคิดแบบนี้มีปัญหา 2 อย่างคือกฎหมายไม่ได้เขียนไว้เลยว่าต้องใช้เงินและถ้าใช้เงินเมื่อไหร่ มันเหลื่อมล้ำทันที ย้ำอีกทีว่าคนที่มีเงินจริงๆ แล้วคิดจะหนี เขาจ่ายเงินเพื่อจะหนีครับ เมื่อเข้ามั่นใจว่าเขาจะแพ้คดี”

ปรับเปลี่ยนวิธีการประกัน

“หลายท่านฟังแล้วอาจคิดว่า ถ้าไม่มีหลักประกันเป็นเงิน พวกที่ทำผิดกฎหมายคงออกมาเพ่นพ่าน ต้องย้ำอีกครั้งว่าไม่ได้ให้เลิกการมีหลักประกัน แต่ให้เปลี่ยนวิธีการจากเงินเป็นแบบอื่น เพราะใช้เงินแล้วแก้ปัญหาไม่ได้

“หลักเกณฑ์ทั่วไปคือดูว่าจะหนีหรือไม่ แม้กระทั่งการใช้กำไลข้อเท้าติดตามตัวก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการนำมาขัง ถ้าบอกว่าการใช้กำไลข้อเท้าเป็นการละเมิดสิทธิ แล้วการนำไปขังอย่างไหนละเมิดหนักกว่า แต่กำไลข้อเท้าก็ไม่ได้แก้ปัญหาร้อยเปอร์เซ็นต์ คนคิดจะหนีก็ตัดทิ้ง ตัดยากหน่อย แต่มันจะได้ผลกับผู้ต้องหาหรือจำเลยส่วนใหญ่ นี่เป็นตัวอย่างว่ามีวิธีการมากมายแทนการใช้เงิน”

ปริญญากล่าวต่อว่า ในทางปฏิบัติเริ่มมีผู้พิพากษาบางคนก็ใช้วิธีการให้ประกันโดยไม่ใช่เงินแล้ว แต่ใช้วิธีการอื่นๆ โดยดูจากปัจจัยต่างๆ เป็นองค์ประกอบ

“ในอเมริกามีหลักอยู่ว่าควรให้ประกันหรือไม่ คือดูว่าจะหนีหรือเปล่า เพราะถ้าจะหนี ถึงประกันด้วยเงินก็หนี ที่อเมริกามีวิธีการดูหลายอย่าง จากการวิจัยและเก็บข้อมูล คนที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีฐานะ หน้าที่การงาน แนวโน้มส่วนใหญ่คือไม่หนี คนที่มีภาระครอบครัวก็ไม่หนี ดังนั้น สิ่งที่เป็นประเด็นว่ากลัวหนี ก็ต้องพูดอีกครั้งว่าเงินไม่ได้ช่วย เพราะถ้าคนจะหนีก็หนี ก็ควรเปลี่ยนเป็นหลักประกันอย่างอื่น

“คนที่ยังไม่ผิดก็ไม่ควรติดคุกจนกว่าศาลพิพากษา ถ้าหากว่ากลัวเขาหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานก็สามารถมีวิธีประกันด้วยแบบอื่น เพราะถ้าใช้เงินเมื่อไหร่ มันหมายถึงความเหลื่อมล้ำทันที”

“ผมไม่ได้บอกว่าไม่ต้องมีเลย แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตก็ตาม เพียงแต่เปลี่ยนเป็นวิธีอื่นที่ไม่ใช่เงิน เรื่องนี้ผมคิดว่าผู้พิพากษาจำนวนมากอยากทำ แต่เนื่องจากวิธีการปฏิบัติที่ผ่านมา ศาลส่วนใหญ่ยังไม่ให้ทำ ทำให้สังคมต้องสนับสนุนผู้พิพากษาที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้”

ยี่ต๊อก

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการให้ประกันตัว ส่วนหนึ่งแฝงฝังอยู่ในสถาบันตุลาการเอง มันเกิดจากแบบปฏิบัติที่ถูกกำหนดขึ้นในหมู่ผู้พิพากษาหรือที่เรียกว่า ยี่ต๊อก

“ยี่ต๊อกคืออะไร เช่น โทษปรับ 5 หมื่นบาท ไม่เกิน 1 แสนบาท ยี่ต๊อกก็อาจจะอยู่ตรงกลาง 7 หมื่นหรือ 7.5 หมื่น ยี่ต๊อกเป็นระเบียบภายใน ถ้าโทษจำคุก 3 ปีถึง 15 ปี ก็ติดจริงสัก 5 ปี แต่ยี่ต๊อกหรือระเบียบภายในแบบนี้ทำให้เกิดปัญหา ด้านหนึ่ง ศาลก็ง่ายขึ้นไม่ต้องใช้ดุลพินิจ แต่ในด้านกลับกัน การที่กฎหมายเขียนเป็นช่วงเวลาหรือช่วงเงินเอาไว้ก็เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมในแต่ละกรณี

ปริญญาเล่าว่า ผู้พิพากษาหลายคนที่เปลี่ยนวิธีการวางหลักประกันก็เพราะพบความจริงว่า เมื่อยี่ต๊อกกำหนดวงเงินประกันด้วยวงเงินสูงๆ แต่จำเลยไม่สามารถหาเงินมาประกันตัวได้ทำให้ต้องติดคุก ปรากฏกว่า 1 ปีผ่านไป ศาลพิพากษายกฟ้อง แต่นั่นคือ 1 ปีที่ชีวิตของเขาหายไป เป็น 1 ปีที่ลูกของเขาต้องออกจากโรงเรียน

การมียี่ต๊อกจึงเท่ากับตัดทอนอำนาจในการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา ยิ่งเมื่อเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนด้วยแล้ว ผู้พิพากษายิ่งไม่กล้าใช้ดุลพินิจออกนอกลู่นอกรอยของยี่ต๊อก

“จริงๆ แล้วในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้แบ่งประเภทว่าข้อหาแบบไหนประกันได้หรือไม่ได้ มีแค่ต้องพิจารณาเรื่องหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือทำผิดซ้ำเท่านั้น นี่จึงเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่ข้อกฎหมายเลย ว่าคดีในข้อหาใดควรได้รับการประกันหรือไม่ แต่ศาลก็กลัวความผิด กลัวจะต้องรับผิด หรือถูกมองว่าผิดไปด้วยถ้าให้ประกันตัว แต่อย่าลืมว่าหลักการของรัฐธรรมนูญคืออะไร

“แล้วเรื่องยี่ต๊อกในคดีที่ละเอียดอ่อนก็มีปัญหา เช่น โทษจำคุก 3 ปีสูงสุดไม่เกิน 15 ปี ในบางมาตรา  ยี่ต๊อกระหว่าง 3-15 ปีคือ 5 ปี ถ้าทำผิด 4 กรรมก็ 20 ปี ทั้งที่ศาลสามารถใช้ดุลพินิจเป็นโทษขั้นต่ำ 3 ปีได้ แต่ท่านก็ไม่กล้าเพราะยี่ต๊อก ยี่ต๊อกก็เป็นอันตราย ด้านหนึ่งศาลต้องการให้เกิดมาตรฐาน แต่อีกด้านหนึ่งทำให้ดุลพินิจในการลงโทษขั้นต่ำหายไป”

กฎหมายมีปัญหา วิธีปฏิบัติยิ่งมีปัญหา

ปริญญาอธิบายต่อไปถึงปัญหาในถ้อยคำกฎหมายไทยที่ยังไม่ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใช้คำว่า การปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งไม่สอดรับกันกับหลักการของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติภายหลัง

“คำว่า ปล่อยตัวชั่วคราว แปลว่าอะไรครับ แปลว่าจับมาคือผิด แต่ถ้ามีหลักประกันระหว่างพิจารณาก็จะปล่อยให้ชั่วคราว แปลว่าหลักการคือจับมาถือว่าผิดไว้ก่อน รัฐธรรมนูญมาทีหลัง วางหลักว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ปัจจุบันอยู่ที่มาตรา 29 วรรค 2 แต่ตัวกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังเป็นแบบเดิมอยู่ ยังใช้คำว่าปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ได้ใช้คำว่าประกันตัวนะครับ เอาเข้าจริงๆ แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย แต่นี่มันยากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เราก็เริ่มต้นด้วยวิธีนี้ก่อน จากที่ใช้เงินก็ไม่ควรใช้เงินอีกต่อไป

“ผมกำลังบอกว่า มาตรา 110 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีปัญหา แต่วิธีปฏิบัติของเรายิ่งมีปัญหาหนักกว่ากฎหมาย เพราะขนาดกฎหมายมีปัญหาแล้ว ก็ไม่ได้เขียนว่าต้องใช้เงิน เราไปปฏิบัติด้วยการใช้เงินก็ยิ่งหนักหรือแย่กว่ากฎหมายเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ต้องแก้วิธีปฏิบัติก่อน แล้วกฎหมายก็จะปรับตาม

“วิธีปฏิบัติของศาลควรต้องปฏิรูปหรือไม่ เรื่องนี้ผู้พิพากษาแต่ละคนสามารถทำได้เลย เพราะตามกฎหมาย ผู้พิพากษามีดุลพินิจ เพียงแต่ในระเบียบปฏิบัติที่เป็นคำแนะนำ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าทำผิดไปจากคำแนะนำหรือยี่ต๊อก ซึ่งผมว่าสังคมช่วยได้”

ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

“เราบอกว่าโทษปรับ ถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ต้องติดคุก ทำไมไม่กลับกัน ถ้าโทษจำคุกไม่สูงเกินไปก็เปลี่ยนให้เขามาทำงานให้รัฐหรือบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมภายใต้การควบคุม รัฐก็ไม่ต้องเป็นภาระ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำได้แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเริ่มทำหรือยัง”

หากได้รายชื่อประมาณ 66,000 คนเท่ากับจำนวนคนที่ต้องติดอยู่ในคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว ปริญญาและเครือข่ายจะนำรายชื่อให้กับคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป

“เรื่องนี้เป็นการทำงานของฝ่ายตุลาการ ซึ่งท่านก็มีดุลพินิจ มีอัตวินิจฉัย ภายใต้อำนาจของท่านตามกฎหมาย เราก็ทำในแง่ให้สังคมสนับสนุนผู้พิพากษาที่อยากจะลองเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยลงในกระบวนการยุติธรรม ส่วนกับคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เราก็หวังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เช่นยี่ต๊อกเลิกได้หรือไม่ การกำหนดหลักประกันเป็นตัวเงินจะมีทางเลือกอื่นๆ ขึ้นมาขนานกันได้หรือไม่ หรือเลิกไปเลิกได้หรือไม่ ต้องไปดูกันต่อ”

ปริญญาย้ำกับประชาไทว่า นี่ไม่ใช่การบอกว่าไม่ควรมีหลักประกัน แต่หลักประกันไม่ควรเป็นตัวเงิน เพราะเมื่อใดที่ใช้เงิน ความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นทันที

ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน


You must be logged in to post a comment Login