วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

น้ำ(ร้อน)การเมือง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On October 9, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้ และมีผลกระทบต่อรัฐบาลทหาร คสช. โดยตรง เพราะจะมีการเรียกเก็บค่าใช้น้ำสาธารณะจากเกษตรกร

เมื่อน้ำในคูคลองหนองบึงสาธารณะที่เคยใช้ปลูกพืชผลทางการเกษตรมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายต้องมาเสียค่าใช้น้ำให้ภาครัฐจึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากเป็นธรรมดา และเมื่อกระทบต่อเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมากและมีรายได้น้อยจึงกระทบต่อเครดิตของรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย

การเก็บภาษีน้ำจึงเป็นเรื่องร้อนที่รัฐบาลต้องรีบออกมาแก้เพื่อไม่ให้เป็นประเด็นทางการเมือง

ตามคำชี้แจงของนายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ สรุปได้ดังนี้

1.ประเทศไทยอยู่ในวิกฤตขาดน้ำรุนแรง เพราะมีปริมาณน้ำใช้เฉลี่ย 3,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อคนต่อปีเท่านั้น ซึ่งตามเกณฑ์ของยูเนสโกต้องมีปริมาณน้ำใช้ต่อคนต่อปีไม่ต่ำกว่า 5,000 ลบ.ม. จึงจะถือว่าไม่อยู่ในภาวะขาดแคลน

2.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำออกมาเพื่อบริหารจัดการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาการแย่งชิงน้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน 119 ล้านไร่ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ปลายน้ำไม่มีน้ำใช้ทำการเกษตร เพราะถูกรายใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ต้นน้ำสูบน้ำไปใช้จนหมด

3.ร่าง พ.ร.บ. กำหนดการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภทคือ

3.1 ใช้นํ้าเพื่อการดำรงชีพ ไม่ต้องเสียค่าใช้นํ้า

3.2 ใช้นํ้าเพื่อการพาณิชย์ ด้านการเกษตร เช่น ข้าว 50-1,000 ไร่ อ้อย 50-1,000 ไร่ ไม้ผลยืนต้น 25-200 ไร่ พืชผัก ไม้ประดับ 20-200 ไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น โค 20-200 ตัว ไก่ 5,000-20,000 ตัว เป็ด 1,000-50,000 ตัว สุกร 30-1,000 ตัว เลี้ยงสัตว์น้ำ 10-15 ไร่ เก็บค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม สถานที่พักผ่อน ร้านอาหาร เก็บค่าน้ำ 1-3 บาทต่อ ลบ.ม. ธุรกิจสนามกอล์ฟ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาสัมปทาน เก็บค่าน้ำไม่เกิน 3 บาทต่อ ลบ.ม.

3.3 ใช้น้ำสำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ และกิจการอื่นๆที่ใช้น้ำในปริมาณมากตามมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เก็บค่าน้ำไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อ ลบ.ม.

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายมาตรา 47 มีข้อยกเว้นว่า หากมีผลผลิตไม่ดีหรือขาดทุนสามารถรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำสะท้อนปัญหาไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อยกเว้นการเก็บค่าน้ำในส่วนนี้

หลักเกณฑ์การจัดสรรน้ำดังกล่าวจะจัดสรรให้ผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ก่อน ตามด้วยประเภทที่ 2 และ 3 เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วผู้ใช้น้ำทั้ง 3 ประเภทต้องขึ้นทะเบียนการใช้น้ำตามจริง โดยจะจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้กำดับดูแลและจัดสรรการใช้น้ำ

มีการประเมินว่าการจัดเก็บค่าใช้น้ำครั้งนี้จะทำให้รัฐมีรายได้เข้าคลังเพิ่มประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี

การจัดเก็บค่าใช้น้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ในพื้นที่เขตชลประทานก็มีการเรียกเก็บค่าใช้น้ำในอัตราไร่ละ 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ส่วนการใช้น้ำบาดาลมีการจัดเก็บในอัตรา 8.50 บาทต่อ ลบ.ม. และค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลอีก 8.50 บาทต่อ ลบ.ม. รวมเป็น 17 บาทต่อ ลบ.ม. แต่ปัจจุบันลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลเหลือ 4.50 บาทต่อ ลบ.ม.

เดิมคาดกันว่าร่าง พ.ร.บ. นี้จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนตุลาคม แต่เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากทำให้ สนช. ขอยืดระยะเวลาพิจารณาร่างกฎหมายออกไปอีก 90 วัน ซึ่งจะได้เห็นร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกปรับแก้ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

หาก สนช. มีมติเห็นชอบและผ่านขั้นตอนการทูลเกล้าฯประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าใช้น้ำอีกประมาณ 6 เดือน

ดังนั้น กว่าจะมีการเก็บค่าใช้น้ำตามกฎหมายนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณปลายปี 2561

ทั้งนี้ เมื่อดูตามรูปการณ์แล้วคาดว่าการที่คณะกรรมาธิการ สนช. ขอขยายเวลาพิจารณาร่างกฎหมายออกไปอีก 90 วัน ก็เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมที่กำลังเป็นประเด็นร้อนจนอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร คสช.

เป็นการซื้อเวลาเพื่อลดเสียงวิจารณ์ เพื่อดูทิศทางลม และประเมินแรงต้านใหม่

เมื่อประเมินแล้วอาจเห็นการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการจัดเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย อาจมีการขยายเพดานจำนวนพื้นที่และการใช้น้ำให้กว้างขึ้น หรือกำหนดรายละเอียดการจัดเก็บใหม่ให้เสียค่าใช้น้ำน้อยลง

อย่างไรก็ตาม แม้ประเด็นการคัดค้านจะมุ่งไปที่เกษตรกรรายย่อย แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมกับประชาชนทั่วไปคือ การเพิ่มขึ้นของค่าสินค้าและบริการ ในเมื่อผู้ผลิต ผู้ให้บริการมีต้นทุนเพิ่มจากค่าใช้น้ำก็อาจมีการปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

สรุปความน่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำจะถูกตราเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างแน่นอน แต่จะมีการปรับแก้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ป้องกันไม่ให้นำไปใช้โจมตีทางการเมืองจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร คสช. ส่วนจะปรับแก้อย่างไรต้องติดตามกันต่อไป

ปลายปีหน้าเตรียมเสียค่าใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติกันได้ หากไม่ต้องการเสียก็ต้องจัดทำแหล่งเก็บน้ำเอาไว้ใช้เอง


You must be logged in to post a comment Login