วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

10ล้านรูดปรื๊ด

On September 26, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

บัตรคนจนที่จะเปิดให้รูดใช้กันได้ 1 ต.ค.นี้ มีคนตั้งคำถามว่าการติดตั้งเครื่องรูดบัตรที่มีมูลค่าเครื่องละกว่า 20,000 บาท จะใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าหรือไม่ เพราะแม้จะมีคนถือบัตรกว่า 10 ล้าน แต่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ร้านที่ติดเครื่องจะมีคนมารูดใช้เดือนละกี่ครั้ง ที่สำคัญของใช้ย่อมมีวันเสีย ต้องซ่อม ต้องซื้อใหม่ทดแทน จึงเริ่มมีคนมองอย่างสงสัยว่ามีใครได้ประโยชน์อะไรจากการติดเครื่องรูดบัตรนี้หรือไม่ เพราะขณะที่ภาคธุรกิจมุ่งไปที่ระบบ e-pay ใช้จ่ายผ่านแอป แต่รัฐที่ประกาศเดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ยังติดเครื่องรูดบัตร รูดปรื๊ด รูดปรื๊ด

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือที่เรียกกันว่าบัตรคนจนที่เริ่มแจกจ่ายให้ผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามกำหนด เพื่อนำไปใช้ช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพที่จะเริ่มใช้แทนเงินสดได้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป มีความน่าสนใจหลายประเด็น

ความน่าสนใจประเด็นแรกคือมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้สิทธิรับบัตรคนจนทั่วประเทศมากกว่า 10 ล้านคน ขณะนี้การแจกบัตรดำเนินการได้แล้วร้อยละ 15 ของจำนวนผู้มีสิทธิ หรือประมาณ 1,5000,000 คน ส่วนที่เหลือจะทยอยได้รับจนครบภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ทันใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม

ประเด็นที่สองคือเมื่อเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นการใช้บัตรก็จำเป็นต้องมีเครื่องรูดบัตร

ตามเป้าหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งใจจะติดตั้งเครื่องรูดบัตรให้ได้ 10,000 เครื่อง ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เมื่อถึงวันที่ 1ตุลาคม ผู้ที่มีบัตรจะได้นำมารูดซื้อสินค้าและบริหารต่างๆตามเงื่อนไขการใช้บัตรที่กำหนดได้ เพราะถ้าไม่มีเครื่องรูด แม้จะถือบัตรอยู่ในมือก็ไม่มีความหมาย

ตามข่าวขณะนี้รถไฟและรถบขส.ติดเครื่องรูดบัตรครบแล้ว พร้อมให้บริการรูปแบบใหม่ได้ทันทีตามกำหนด ส่วนรถเมล์จะติดตั้งได้ 200 คันในเดือนตุลาคม และจะทยอยให้ครบ 800 คัน ในเดือนพฤศจิกายน เวลาจะขึ้นรถเมล์หากอยากนั่งฟรีก็ต้องรอคันที่มีเครื่องรูดบัตร

ส่วนการซื้อของกินของใช้ในร้านธงฟ้า พื้นที่ไหนยังไม่มีเครื่องรูดบัตรก็ต้องใช้เงินสดซื้อกันไปก่อนโดยกระทรวงพาณิชย์จะไปจัดมหกรรมสินค้าลดราคาเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เช่นเดียวกับการจะซื้อปุ๋ย ก๊าซหุงต้ม หากร้านยังไม่มีเครื่องรูดบัตรก็ต้องจ่ายเงินสดกันไปก่อน

รากฐานของโครงการนี้หากจำกันได้เป็นการต่อยอดมาจากโครงการรถเมล์ รถไฟฟรีเพื่อประชาชน ที่เริ่มต้นในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็สานต่อโครงการเรื่อยมา แต่เปลี่ยนชื่อเป็นรถเมล์ รถไฟฟรีจากภาษีประชาชน

นอกจากนั่งรถเมล์ รถไฟฟรีแล้ว ยังมีการแจกคูปองส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม และการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 50 หน่วย เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

เมื่อรัฐบาลทหารคสช.เข้ามาถือครองอำนาจเห็นว่าโครงการนี้เป็นภาระงบประมาณและเป็นการช่วยไม่ตรงจุด เนื่องจากทุกคนสามารถนั่งรถเมล์รถไฟฟรีได้ คนรวยที่มีบ้านสองสามหลัง หลังไหนไม่ค่อยได้ไปอยู่ก็ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า หากใช้ไม่ถึงเกณฑ์

รัฐบาลทหารคสช.จึงเปลี่ยนมาเป็นการเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ใช้แทนเงินสด ใครที่ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับบัตรนี้ ต่อไปต้องเสียค่าบริการทุกอย่างตามปรกติ เพื่อลดภาระงบประมาณแบบเหมาจ่าย และช่วยคนให้ตรงกลุ่มมากขึ้น

ก็เป็นหลักการที่ดี

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ใช้งบประมาณดำเนินการอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการออกบัตรและการติดตั้งเครื่องรูดบัตร

นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค Paisal Puechmongkol มีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า

อะไรกันนักหนากับเครื่องรูดบัตร

ไม่กี่เดือนก่อนออกกฎบังคับนิติบุคคลทั่วประเทศให้มีเครื่องรูดบัตรอย่างน้อย 1 เครื่อง เครื่องละราว 20,000 บาท ทั่วประเทศมี 500,000 กว่านิติบุคคล ต้องจ่ายกันเท่าไหร่ ตอนนี้จัดหาเครื่องรูดบัตรให้ร้านธงฟ้า-ประชารัฐอีกแล้ว ข่าวว่า 5,000 เครื่อง ใครขายเครื่องรูดบัตรคงรวยกันเละ ใครนำเข้ามาขายหนอ แต่มันใช้ไม่ได้ จะมีใครกี่คนใช้บัตรรูดตอนนี้ นั่นมัน 0.4 ตอนนี้เขาใช้ e-pay ใช้แอปกันทั้งนั้น แม้เด็กซื้ออาหารในโรงเรียนก็ใช้ ขอทานเมืองจีนเขาใช้กันแล้ว นั่งรถราม้าช้างก็ใช้ ไม่ต้องเสียเงินใช้เครื่องรูดบัตร

เผลอไม่ได้ ระวังจะถูกเขาว่าขี้โกงอีกเรื่องนะครับ

นี่ขนาดคนในรัฐบาลเองยังตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ว่าจะมีใครได้ผลประโยชน์อะไรจากการติดตั้งเครื่องรูดบัตรนี้หรือไม่

เรื่องนี้นอกจากประเด็นใครจะได้ผลประโยชน์อะไรจากการติดตั้งเครื่องรูดบัตรหรือไม่แล้ว ยังน่าสนใจตรงที่เครื่องรูดบัตรที่ติดตั้งจะได้ใช้งานอย่างคุ้มค่าเต็มที่หรือไม่ด้วย

แม้จะมีประชาชนกว่า 10 ล้านคนที่ถือบัตรคนจน แต่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ร้านที่ติดเครื่องรูดบัตรเดือนหนึ่งจะมีคนมารูดใช้สักกี่ครั้ง ที่สำคัญของใช้ย่อมมีวันเสีย ต้องใช้งบซ่อม หรือซื้อใหม่ทดแทนอีก

โอ้…สังคมไร้เงินสดมันดีอย่างนี้นี่เอง


You must be logged in to post a comment Login