วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เริ่มฝันหวาน?

On September 4, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

 

ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีมากที่สุดเป็นลำดับ 1 ได้รับงบประมาณมากกว่ากระทรวงหมาดไทยที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน มากกว่ากระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันพัฒนาชาติ เหนือกว่ากระทรวงคมนามคมที่มีหน้าที่พัฒนาระบบขนส่งของประเทศ สูงกว่ากระทรวงสาธารณสุขที่ต้องดูแลสุขภาพคนไทยทั้งชาติ

ไม่ใช่กระทรวงกลาโหมไม่สำคัญ แต่ในยุคปัจจุบันที่โลกแข่งขันกันทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การจัดสรรงบประมาณควรพิจารณาจากความสำคัญจำเป็นไล่เรียงลำดับกันไป แต่อย่างว่าสำคัญจำเป็นในมุมของผู้มีอำนาจกับประชาชนอาจแตกต่างกัน ส่วนอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมุมมองแตกต่างกันคงไม่สามารถบอกได้

เมื่อการจัดสรรงบประมาณเป็นเรื่องของรัฐบาลกับสภา ในยุคที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสภามาจากการแต่งตั้งของผู้นำรัฐบาล ประชาชนจึงได้แต่มองดู

เรื่องของการจัดสรรงบประมาณก็ว่ากันไป แต่เรื่องที่อยากพูดถึงมากกว่าเรื่องการจัดสรรงบประมาณคือสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม

ประเด็นแรกหลังการหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้จะคาดกันว่าน่าจะเก็บตัวเงียบจนถึงวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาคดีรับจำนำข้าวอีกครั้งในวันที่ 27 กันยายน แต่ความน่าสนใจจะพุ่งตรงไปที่การสืบหาตัวคนพาหนี

เป็นที่รู้กันว่าหลังการหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทุกสายมองไปที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง และต่างพูดกันว่าเป็นทางออกแบบวินวินด้วยกันทั้งสองฝ่าย อดีตนายกฯไม่ต้องติดคุก รัฐบาลทหาร คสช.ไม่ต้องเผชิญหน้ากับมวลชนสนับสนุนที่อาจสร้างปัญหาบานปลาย

แต่เพื่อลดความไม่วางใจของมวลชนสนับสนุนจึงน่าจะได้เห็นรายการจับแพะบูชายัญ ที่ขณะนี้เป้าถูกชี้ไปที่ฝั่งตำรวจ เมื่อเป้าถูกชี้ไปที่ตำรวจจะทำให้เกิดน้ำหนักความน่าเชื่อมากขึ้นทันที เพราะมวลชนอีกฝ่ายมีความเชื่ออยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่าตำรวจส่วนใหญ่เป็นตำรวจมะเขือเทศ

ความเป็นไปได้อีกกรณีหนึ่งคือไม่ต้องถึงขั้นจับตำรวจมะเขือเทศที่ไหนมาบูชายัญ แค่ชี้เป้าเบนสายตามวลชนให้เลิกมองอย่างสงสัยในกลุ่มอำนาจปัจจุบันแล้วปล่อยให้เรื่องค่อยๆเงียบไปเอง

ความเคลื่อนไหวอีกกรณีหนึ่งที่จับทิศทางได้คือหลังจากที่ศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้องคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกกล่าวหา เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจพิจารณา หากจะฟ้องต้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยต้องตั้งเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้สอบสวนและมีมติชี้มูลความผิดจึงส่งฟ้องได้ แต่ป.ป.ช.ก็มีมติยกคำร้องไปก่อนหน้านี้แล้ว

กรณีนี้แม้ฝ่ายเสื้อแดงจะไม่พอใจและประกาศล่ารายชื่อล้านชื่อเพื่อกดดันป.ป.ช.ให้พิจารณาใหม่ แต่อีกฝ่ายกลับมองว่าทั้ง นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ พ้นมลทินแล้ว เมื่อพ้นมลทินแล้วจะทำให้ นายอภิสิทธิ์ เนื้อหอมในทางการเมืองมากขึ้น โอกาสที่จะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งจึงเปิดกว้างกว่าที่เคย ขณะที่ นายสุเทพ ค่อนข้างแน่ชัดว่าจะกลับสู่การเมืองอีกครั้ง โดยยกเหตุผลต้องการผลักดันการปฏิรูปให้สำเร็จ แต่จะไม่ถึงกับกลืนน้ำลายลงสมัครส.ส. จะเปลี่ยนไปเล่นบทผู้กำกับหลังฉากแทน

นายอภิสิทธิ์ เนื้อหอม นายสุเทพ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นมือประสานงานสิบทิศ เมื่อรวมเข้ากับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะแต่งตั้งกันไว้รออยู่ในสภาก่อนเลือกตั้ง 250 คน ปิดประตูตายที่พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ปัญหาตอนนี้มีข้อเดียวคือจะเลือกดันใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทั้งสองคนมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน

กลุ่มที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์มองว่าหากดันพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีจะเจอแรงเสียดทานมากกว่าทั้งในและนอกสภา อาจทำให้การทำงานไม่ราบรื่น ต่างจาก นายอภิสิทธิ์ ที่เจนเวทีมากกว่า มีภาพเป็นนักการเมืองมีลูกล่อลูกชน รู้เหลี่ยมเท่าทันฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญต่างชาติจะให้การยอมรับได้สนิทใจมากกว่า

ถ้าฟังจากกระแสนี้ นายอภิสิทธิ์ ก็เหลื่อมพล.อ.ประยุทธ์อยู่นิดๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่เวลาที่จะตัดสินใจ รอดูกระแสจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนโหวตเลือกนายกฯในสภาก็ยังทัน

ฟันธงได้อย่างเดียวในตอนนี้คือหลังเลือกตั้งมีแค่ม้าสองตัวที่จะแข่งกันเข้าเส้นชัย


You must be logged in to post a comment Login