วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

กบในกะลาแลนด์! / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On August 31, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

มีท่านผู้อ่านหลังไมค์มาเป็นจำนวนมากอยากให้อธิบายทฤษฎี “ต้มกบ” หรือ “กบต้ม” ว่าเป็นยังไงและเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ทำไมถึงมีนักเศรษฐศาสตร์ กูรู นักวิชาการ และคนทั่วไป หยิบยกมาใช้กันบ่อยเหลือเกิน ฉบับที่แล้วผมพูดถึงทฤษฎีนี้เช่นกัน จึงขอเล่าเรื่อง “ต้มกบ” ให้ฟังก่อนดีกว่า

ทฤษฎี “ต้มกบ” เป็นทฤษฎีที่พูดถึงเรื่องความเคยชินของมนุษย์ โดยเชื่อว่าการที่คนเราคิดอะไรบ่อยๆโดยขาดความยั้งคิด ความคิดที่ปราศจากเหตุผลเหล่านั้นอาจพัฒนาไปสู่การกระทำ เมื่อการกระทำดังกล่าวถูกกระทำบ่อยๆจะกลายเป็นนิสัย นิสัยเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นโดยขาดความระมัดระวังชั่งใจ ในที่สุดจะก่อให้เกิด “บุคลิก” และ “บุคลิก” ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นตัวชี้วัดและปัจจัยที่กำหนดชะตากรรมของคนคนนั้น

แรกเริ่มเดิมทีทฤษฎีนี้เป็นของนักวิชาการชาวไอริชชื่อ Tichyand Sherman โดยปี ค.ศ. 1993 เขาได้เสนอแนวคิดทางทฤษฎีด้วยการทดลองนำกบมาต้มในอ่างน้ำ 2 อ่าง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปฏิกิริยาการตอบสนองของกบ โดยแต่ละอ่างจะมีความแตกต่างอยู่ที่อุณหภูมิของน้ำ อ่างใบแรกบรรจุน้ำที่มีอุณหภูมิร้อนจัด ส่วนอ่างใบที่ 2 บรรจุน้ำที่มีอุณหภูมิอุ่นสบาย หลังจากนำกบมาใส่ก็ค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นจนน้ำเดือดพล่าน

โจทย์มีอยู่ว่า ถ้านำกบมา 2 ตัว ตัวแรกโยนลงไปในอ่างน้ำเดือด ส่วนตัวที่ 2 โยนลงไปในอ่างน้ำอุ่นแล้วค่อยๆอุ่นให้เดือด กบตัวไหนจะตายก่อนหรือกบตัวไหนจะรอดชีวิต เล่ามาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงเริ่มเดากันบ้างแล้วว่า กบตัวไหนจะตาย หรือกบตัวไหนจะรอด หรืออาจจะรอดทั้งคู่ หรือตายทั้งคู่ก็เป็นไปได้

ไม่ต้องเสียเวลาทาย มาดูผลการทดลองกันเลยดีกว่า ผลปรากฏว่ากบตัวแรกที่โยนลงไปในอ่างน้ำเดือดรอดชีวิต เพราะพอตัวมันสัมผัสอุณหภูมิที่ร้อนจัด มันก็ไม่อยู่ให้ถูกต้ม รีบกระโดดหนีออกมาจากอ่างทันที แต่กบที่กลายเป็น “กบต้ม” ในเวลาต่อมาคือ “กบตัวที่ 2” เพราะเมื่อโยนลงไปในอ่างน้ำอุ่นมันก็รู้สึกผ่อนคลายและนอนแช่น้ำอย่างสบายใจ แม้อุณหภูมิของน้ำจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ เจ้ากบตัวนี้ก็ไม่ยอมกระโดดออกมา นอนแช่อยู่กระทั่งน้ำเดือดจนตายในที่สุด

การทดลองนี้สอนให้รู้ว่า แม้กบจะมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดเหมือนกัน แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมเริ่มต้นที่ต่างกัน การตัดสินใจในการเอาตัวรอดก็อาจแตกต่างกัน ทั้งๆที่นาทีสุดท้ายที่กบ 2 ตัวนี้ต้องเจอก็คือน้ำเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเหมือนกันเปี๊ยบ แต่กบตัวแรกสัมผัสกับอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากในทันทีจึงไม่ลังเลที่จะกระโดดหนีออกมาอย่างรวดเร็ว

ขณะที่กบตัวที่ 2 แม้จะมีสัญชาตญาณเอาตัวรอดไม่แตกต่างกับกบตัวแรก แต่ถูกปล่อยแช่ในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิค่อยๆปรับตัวร้อนขึ้นทีละน้อยๆ ทำให้เกิดสภาพที่เคยชินและไม่สามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันทีทันใด ในที่สุดเมื่อน้ำเดือด กบตัวนี้ก็หมดแรง ไม่สามารถโดดหนีออกมาจากอ่างได้เหมือนกับกบตัวแรกและกลายเป็นกบต้มไปในที่สุด

จากข้อเท็จจริงในทางทฤษฎีนี้จึงมีการหยิบยกเหตุการณ์ของกบตัวที่ 2 มาเตือนใจมนุษย์ เพื่อให้มีความระมัดระวังและรู้จักปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆให้รวดเร็วและทันเวลาก่อนที่จะกลายเป็นกบต้ม เพราะบ่อยครั้งที่มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะเฉื่อยชาต่อการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยและละเลยที่จะปรับตัวหรือแก้ไข จนในที่สุดเมื่อมองข้ามสัญญาณเตือนเหล่านี้ สุดท้ายสิ่งที่อยู่รอบตัวก็จะกลายเป็นน้ำเดือดลวกตัวเองตายในที่สุด เพราะฉะนั้นจงอย่าตายใจกับความเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นเพียงแค่สิ่งเล็กน้อยเท่านั้น

ยกตัวอย่างเรื่อง “อ่างเก็บน้ำแตก” จนเป็นสาเหตุให้น้ำหลากเข้าท่วมเมืองและสร้างความเสียหายให้ประชาชนอย่างหนักในเวลาต่อมา ถ้าผู้รับผิดชอบให้ความสนใจและระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยอย่างใกล้ชิด ไม่มองข้ามปัญหาและตั้งสมมุติฐานในทางที่แย่ที่สุด หากเป็นเช่นนั้นก็เชื่อได้ว่าจะมีการระดมสรรพกำลังในการป้องกันแก้ไขและซ่อมแซมจุดที่รั่วซึมของอ่างเก็บน้ำได้ทันเวลา

แต่เมื่อมองข้ามปัญหาและไม่เห็นความสำคัญของจุดรั่วซึมที่มีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เมื่อจุดรั่วซึมขยายตัวออกมาจนมีรอยรั่วกว้างขึ้น ยาวขึ้น ในที่สุดอ่างเก็บน้ำที่มีรอยรั่วเป็นแนวยาวหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “อ่างแตก” ก็ส่งผลให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลหลากลงสู่เมืองใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วจนประชาชนไม่สามารถอพยพย้ายสิ่งของได้ทันเวลา โดยเฉพาะรถยนต์หลายร้อยคันต้องแช่น้ำลึกเป็นเวลานานอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง

ทฤษฎี “ต้มกบ” ที่ผมเล่าให้ฟัง ผมเชื่อว่าทุกท่านคงได้ประโยชน์และข้อคิดต่างๆไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรากำลังอยู่ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อโลกภายนอกหมุนไปเร็วมากจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเปิดใจและพร้อมปรับทัศนคติ อย่ายอมเป็นกบที่ต้องตายอยู่ในหม้อต้ม หรืออย่าทำตัวเป็นกบที่อยู่ในกะลาเด็ดขาด

การยอมรับความเปลี่ยนแปลงและการเปิดประตูออกไปสู่โลกภายนอกเป็นกุญแจสำคัญของความอยู่รอด ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าทุกคนอาจมีความอดทนอดกลั้นที่ “ต่างกัน” ภายใต้สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีกลุ่มใดที่สามารถแยกตัวไปอยู่ได้โดยลำพัง ดังนั้น หากคิดจะเปลี่ยนท่านต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อน เพราะการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงย่อมไม่มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น และบนบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ถ้าประเทศไทยไม่รีบเปลี่ยน เราจะเป็น “กบต้มเปื่อย” ตัวเดียวที่เหลืออยู่ในอ่างน้ำเดือด

สุดท้ายนี้ผมขอฝากไปถึงผู้มีอำนาจทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะมีอำนาจมากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม วันนี้ท่านเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบประเทศชาติและประชาชน 10 ปีที่ผ่านมาโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่ใช่น้อย แต่ประเทศไทยหยุดนิ่งอยู่ที่เดิม ไม่ได้ขยับตัวไปที่ไหน และทุกท่านก็ทราบดีว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราย่ำอยู่กับที่ก็คือ ความพยายามที่จะเอาชนะกันทางการเมืองนั่นเอง

การเอาชนะทางการเมืองที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ เพราะปัจจัยในการเอาชนะที่สำคัญก็คือ การลิดรอนสิทธิของประชาชน นอกจากท่านจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อเดินไปข้างหน้าแล้ว ท่านกลับนำพาประเทศถอยหลังไปสู่การเป็น “รัฐราชการ” ที่โบราณและไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันโลกยุคใหม่

ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเพราะใครบางคนต้องการกำจัดศัตรูทางการเมืองและหวังเพียงแค่การสืบทอดอำนาจใช่หรือไม่!!! แต่ที่แน่ๆสิ่งที่ท่านกำลังดำเนินการอยู่ทำให้ผมนึกถึงการสูญพันธุ์ของ “ไดโนเสาร์” ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลก และนึกถึง “กบตัวที่ 2” ที่นอนเปื่อยยุ่ยไร้ลมหายใจอยู่ในกะลาแลนด์แห่งนี้


You must be logged in to post a comment Login