วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เทคโนโลยีไฮเทคในโรงเรียน

On August 23, 2017

หลายประเทศใช้ระบบบันทึกลายนิ้วมือ (Biometric Fingerprint System) หรือเครื่องสแกนลายนิ้วมือในโรงเรียนมานาน ท่ามกลางการถกเถียงกันยืดเยื้อด้านความปลอดภัย โดยยังไม่มีข้อสรุปเป็นมาตรฐาน

ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการวิจัยของ TechNavio บริษัทรายใหญ่แห่งสหรัฐที่ทำธุรกิจด้านนี้ ซึ่งระบุว่าตลาดของระบบนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

โรงเรียนในสหรัฐนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นแห่งแรกของโลก เมื่อปี 1997 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยเสนอเป็นทางเลือกให้นักเรียนใช้ ในกรณีต้องการยืมหนังสือจากห้องสมุดได้รวดเร็วกว่าขั้นตอนที่ใช้อยู่เดิม

จากนั้น มีการนำไปใช้กว้างขวางขึ้น และใช้หลายกรณีมากขึ้น ส่วนใหญ่ใช้บันทึกเวลาเข้าเรียนของนักเรียน เพื่อลดสถิติการโดดเรียน หรือขาดเรียน ใช้ยืมหนังสือจากห้องสมุด และใช้แทนคูปองหรือเงินสด ซื้ออาหารในโรงอาหารของโรงเรียน

ปัจจุบันมีสถานศึกษาจำนวนมากในสหรัฐที่ใช้ระบบนี้ นอกจากนั้น ยังมีหลายประเทศนำมาใช้ตามอย่าง เช่น อังกฤษ เบลเยียม อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น

สำหรับสิงคโปร์ใช้ระบบนี้ บันทึกเวลาเข้าเรียน การขาดเรียน และเข้าเรียนสาย ตั้งแต่ปี 2010 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

ล่าสุดมีโครงการใหม่ออกมา โดยกำหนดใช้ระบบสแกนนิ้วชำระเงิน (Biometric Payment System) ในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เสนอเป็นทางเลือกไม่มีการบังคับให้ใช้

จุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนสะดวกสบายขึ้น โดยไม่ต้องพกเงินสด และบัตรการเงินต่าง ๆ อีกทั้งช่วยให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายของลูกได้

สิงคโปร์เรียกระบบนี้ว่า “Touché” เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม POSB Smart Buddy นักเรียนที่ขอใช้งาน ต้องลงทะเบียนด้วยการสแกนนิ้วมือ 2 นิ้ว ที่เครื่องของโรงเรียน จากนั้น ระบบจะเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน POSB Smart Buddy ไปยังบัญชีผู้ใช้ของผู้ปกครอง

ระบบนี้ ช่วยให้นักเรียนซื้ออาหาร ขนม และสินค้าต่างๆ ในโรงเรียนง่าย เพียงแตะ 2 นิ้วลงบนเครื่องสแกน

ด้านความปลอดภัยที่ถกเถียงกันมาถึงปัจจุบัน ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่า นักเรียนเสี่ยงถูกละเมิดข้อมูลส่วนตัว ถูกแฮกข้อมูลในเครื่อง และมีการลักลอบนำข้อมูลไปขาย หรือไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น

สำหรับสิงคโปร์มีการป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างรัดกุม โดยเครื่องสแกนไม่มีการเก็บข้อมูล แต่นำข้อมูลไปเก็บไว้ในฐานคลาวด์ (Cloud) และตั้งรหัสลับป้องกันไว้

ทำให้ผู้ปกครองนักเรียนไม่กังวลถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัย


You must be logged in to post a comment Login