- อย่าลงโทษมนุษย์มากเลยPosted 2 hours ago
- สงสารสัตว์โลกที่ก่อสงครามPosted 1 day ago
- มนุสสเปโตPosted 2 days ago
- ผู้ใหญ่ไม่รังแกเด็กPosted 3 days ago
- ควรเลือกวิธีอื่นที่ดีกว่านี้Posted 6 days ago
- ทำสติให้มั่นคงPosted 1 week ago
- บทเรียนPosted 1 week ago
- หลบฉาก – เก็บแต้มPosted 1 week ago
- พี่ไทยทำได้Posted 1 week ago
- อยากเห็นทุเรียนก่อนตายPosted 1 week ago
5 ปียังแบน‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ / โดย ilaw.or.th
คอลัมน์ : ข่าวไร้พรมแดน
ผู้เขียน : ilaw.or.th
เว็บไซต์ iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ศาลปกครองอ่านคำพิพากษาในคดีที่ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” หรือ Shakespeare Must Die ยื่นฟ้องคณะกรรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติว่าออกคำสั่ง “ห้ามฉาย” ภาพยนตร์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และ น.ส.สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปครองโดยระบุเหตุผลว่า ภาพยนตร์มิได้มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีของคนในชาติ เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นจริงย่อมเป็นความรุนแรงของสังคมไทยที่มิอาจลืมเลือนหรือปกปิดไว้ได้แต่อย่างใด โดยคนไทยสมควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อร่วมมือกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
หลังจากยื่นฟ้องผู้สร้างภาพยนตร์ได้แต่เฝ้ารอคำพิพากษา จนกระทั่งผ่านไปเป็นเวลา 5 ปี ศาลจึงมีคำพิพากษาออกมา โดยคำพิพากษาสรุปได้ดังนี้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ เช่น เนื้อหาที่แสดงถึงคนดูละครได้เข้าทำร้ายคณะนักแสดง มีการจับผู้กำกับละครแขวนคอ และทุบตีด้วยสิ่งของ เป็นต้น ซึ่งเข้าลักษณะของภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 16(7) ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จึงเชิญผู้สร้างเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ผู้สร้างแจ้งว่าไม่ขอแก้ไขภาพยนตร์ เนื่องจากเป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “สามัคคี” หมายความว่า ความพร้อมเพรียงกัน ความปรองดองกัน ที่พร้อมเพรียงกันทำ ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ คำว่า “แตก” หมายความว่า แยกออกจากส่วนรวม ทำให้แยกออกจากส่วนรวม คุมไว้ไม่อยู่ คำว่า “ชาติ” หมายความว่า ประเทศ ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ จึงพออนุมานความหมายของคำว่า “การแตกความสามัคคีของคนในชาติ” ได้ว่าหมายถึง การทำให้ประเทศ ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ เกิดความไม่พร้อมเพรียงกัน เกิดความรู้สึกแตกแยกกัน
เมื่อพิจารณาสรุปเรื่องย่อ บทคัดย่อ ประกอบการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ปรากฏว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวตำนานแห่งการเมืองและไสยศาสตร์ที่ได้แรงบันดาลใจและบทเกือบทั้งหมดจากต้นฉบับละคร “โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ” (The tragedy of Macbeth) ของวิลเลียม เชคสเปียร์ แต่ดัดแปลงให้เป็นภาษาของภาพยนตร์และเข้ากับบริบทวัฒนธรรมไทย ดำเนินเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกันระหว่างการแสดงในโรงละครกับเหตุการณ์ในโลกภายนอกของประเทศแห่งหนึ่ง
ภาพยนตร์จบลงด้วยความรุนแรง โดยละครในโรงละครจบลงด้วยการตายของตัวละคร แต่โลกภายนอกบ้านเมืองกำลังวุ่นวาย กลุ่มบุคคลที่คลั่งไคล้ “ท่านผู้นำ” โกรธแค้นที่มีการแสดงละครล้อเลียนท่านผู้นำ ได้วิ่งกรูเข้าไปทำร้ายนักแสดงและผู้คนที่กำลังนั่งดูละคร ทำร้ายผู้กำกับละคร แล้วจับแขวนคอทุบตีด้วยเก้าอี้เหล็กพับ ท่ามกลางกลุ่มคนจำนวนมากส่งเสียงเชียร์
แม้ในภาพยนตร์จะเป็นประเทศสมมุติก็ตาม แต่มีเนื้อหาหลายฉากหลายตอนสื่อให้เห็นว่าเป็นสภาพสังคมไทย และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง คนดูละครแต่งตัวสื่อถึงลักษณะของคนไทย คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าฉากหนึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
แม้ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องนำประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตที่มีความขัดแย้งมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายร้อยปีจนคนไทยในปัจจุบันไม่อาจสืบสาวได้ว่าบุคคลในประวัติศาสตร์เป็นใคร เกี่ยวข้องกับญาติพี่น้องของตนอย่างไร จึงไม่อาจก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังได้ ต่างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ และมีความยาวในฉากนั้นถึง 2 นาทีเศษ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตหรือผู้ร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังจนอาจเกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติได้
คำสั่งที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่งให้ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายเป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักรจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติมีคำสั่งยืน คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ที่ผู้ฟ้องคดีต่อสู้ว่า คำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ศาลปกครองเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งใช้อยู่ในขณะเกิดคดีนี้ระบุว่า สิทธิเสรีภาพย่อมถูกจำกัดได้ด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย บางฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเกียรติภูมิของประเทศไทย ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
You must be logged in to post a comment Login