วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเกินคาด

On August 18, 2017

เศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงครึ่งแรกปีนี้ เติบโตสูงเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์ ทำให้ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่า อัตราการขยายตัวจะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี

ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เปิดเผยตัวเลขเบื้องต้นของจีดีพี (GDP) ในไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) เมื่อวันจันทร์ (14 ส.ค.) ที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัว 1.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และเติบโต 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าเป้าที่นักวิเคราะห์ตั้งไว้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 0.6% และ 2.5% ตามลำดับ

นอกจากนั้น ยังเป็นอัตราเติบโตติดต่อกัน 6 ไตรมาส ทำสถิติขยายตัวต่อเนื่องยาวนานสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2006

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโต เปลี่ยนจากการส่งออก มาเป็นการบริโภคและลงทุนภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรีนายชินโสะ อาเบะ

ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญอันดับ 1 ตามด้วยการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของผู้บริโภค

การลงทุนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโครงการเตรียมเป็นจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก “โตเกียวเกมส์” ปี 2020 โดยการลงทุนในไตรมาส 2 ของภาครัฐเพิ่มขึ้น 5.1% ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.4% ขณะการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 1.3% เป็นสถิติเพิ่มขึ้นรายไตรมาสสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2014

แม้สถิติจะค่อนข้าง “บานฉ่ำ” ทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นภาวะที่ยังไม่เสถียร เนื่องจากยังอาศัยเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก

ยาสึนะริ อุเอะโนะ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์การตลาด แห่งบริษัท Mizuho Securities คาดว่า อัตราขยายตัวจากการบริโภคและลงทุนภายในประเทศ จะไม่ต่อเนื่องสู่ครึ่งหลังของปี (ก.ค.-ธ.ค.) เนื่องจากมีการปรับขึ้นเงินเดือนต่ำ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถิติตามที่ระบุในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ทำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นมีมุมมองเชิงบวก

จากการสำรวจความเห็นของบริษัทชั้นนำ 108 บริษัท โดยสำนักข่าว Kyodo News พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ซึ่งรวมทั้ง Toyota Motor Corp. และ Sony Corp. จำนวน 76 บริษัท คิดเป็น 70% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เชื่อว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะดำเนินต่อไปในครึ่งหลังของปีจนถึงสิ้นปี โดยจะเคลื่อนไหวในลักษณะช้าแต่มั่นคงต่อเนื่อง

ขณะ 26 บริษัท มองว่าไม่มีการขยายตัว มีเพียง 3 บริษัท ที่คาดว่าจะชะลอตัว

แม้สถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น แต่ความเกี่ยวโยงขยายครอบคลุมในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย


You must be logged in to post a comment Login