วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

แก้วนไป / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On August 14, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

การจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่สำคัญ 10 ฉบับก่อนจัดเลือกตั้งตามโรดแม็พ มีความคืบหน้าไปตามลำดับ

ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. แล้ว 4 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง, ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

ทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนรอนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

สำหรับร่าง พ.ร.ป. ที่ยังเหลืออีก 6 ฉบับนั้น อยู่ในขั้นการพิจารณาของ สนช. 1 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการยกร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และร่างกฎหมายลูกด้วย

ขณะนี้ กรธ. ไปซุ่มยกร่าง พ.ร.ป. ที่จังหวัดชลบุรี ที่เป็นประเด็นพูดถึงกันมากคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารหรือพูดเรื่องปฏิรูป ประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ การจัดการคนเข้าสู่อำนาจ นั่นก็คือระบบเลือกตั้ง และการตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งก็คือการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและรัฐสภา

การเปลี่ยนแปลงระบบคัดกรองคนเข้าสู่อำนาจหลังรัฐประหารครั้งนี้ถูกเปลี่ยนแปลงให้ต่างไปจากเดิม

ที่เห็นชัดเจนคือการนำระบบไพรมารี่โหวตมาใช้ตัดสินว่าพรรคการเมืองควรส่งใครเป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในแต่ละเขต ไม่ยกให้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคหรือนายทุนพรรคเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งระบบนี้ประเทศไทยไม่เคยใช้มาก่อน

นัยว่าเพื่อตัดอำนาจนายทุนครอบงำพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะคนในท้องถิ่นสามารถร่วมกันตัดสินใจได้ว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง

อีกเรื่องที่เปลี่ยนแปลงคือ การได้มาซึ่ง ส.ว. ที่จะใช้ระบบเลือกตั้งไขว้กันเองระหว่างผู้สมัคร ไม่ให้ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเลือกเหมือนแต่ก่อน หรือใครคนใดคนหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเลือกเหมือนแต่ก่อน

ส่วนเรื่องอื่นๆที่เปลี่ยนแปลงส่วนมากเป็นการเปลี่ยนแบบกลับไปกลับมา เช่น เบอร์ผู้สมัคร ส.ส. จากเบอร์เดียวกับพรรคกลับไปเป็นไม่ให้เป็นเบอร์เดียวกับพรรค การนับคะแนนกลับไปกลับมาระหว่างเปิดหีบนับคะแนนกันที่หน่วยเลือกตั้งกับขนหีบไปเทรวมนับกันที่อำเภอ

เป็นการกลับไปกลับมาแบบที่เห็นกันมาแล้วว่าแต่ละแบบนั้นมีผลดี ผลเสียอย่างไร แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

การกลับไปกลับมาของระบบเลือกตั้งในประเทศไทยมีปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ 2 อย่างคือ

กลัวการทุจริตเลือกตั้ง กับกลัวว่าจะมีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ครองเสียงข้างมากในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

หากในอนาคตมีการทำรัฐประหารอีก หรือมีการพูดเรื่องปฏิรูปประเทศอีก ระบบเลือกตั้งก็จะถูกรื้ออีกและจะวนเวียนกลับไปกลับมาระหว่างรูปแบบที่เคยใช้ไปแล้วยกเลิกนำกลับมาใช้ใหม่

ความจริงระบบเลือกตั้งในโลกนี้มีอยู่ไม่กี่แบบ

ที่ประเทศอื่นไม่มีปัญหาต้องแก้ระบบเลือกตั้งกันบ่อยๆ เพราะเขาไม่กลัวการทุจริตเลือกตั้ง ไม่กลัวว่าจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งครองเสียงข้างมากในสภา หรือผูกขาดชัยชนะจนทำให้บางพรรคเป็นฝ่ายค้านถาวร

ที่ประเทศอื่นไม่กลัวการทุจริตเลือกตั้ง นอกจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและนักเลือกตั้งของเขามีความซื่อสัตย์สุจริตมากกว่า ผู้สมัครไม่ซื้อเสียง คนใช้สิทธิไม่ขายเสียง เขายังมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมที่ใช้เอาผิดคนซื้อและขายเสียง มั่นใจระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ

จึงไม่จำเป็นต้องหาวิธีการให้วุ่นวายซับซ้อนว่าทำอย่างไรจึงจะสกัดไม่ให้มีการซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้น

กรณีนี้ผู้รู้บอกว่าแก้ได้ด้วยการให้ความรู้กับประชาชน และกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เพราะเชื่อว่าหากประชาชนฐานรากมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองและมีรายได้ดีไม่เดือดร้อนในการดำรงชีวิต การซื้อเสียงในรูปแบบการเสนอผลประโยชน์โดยตรงจะไร้ความหมาย

นักการเมือง พรรคการเมืองจะทำได้อย่างเดียวคือ ซื้อเสียงประชาชนด้วยนโยบาย ถ้าพูดแล้วทำได้ ได้อำนาจแล้วบริหารประเทศให้ดีขึ้น ถึงเวลาเลือกตั้งเมื่อไรประชาชนก็เลือก

เรื่องแบบนี้เคยเกิดมาแล้วสมัยพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายในการลงเลือกตั้งเป็นครั้งที่สองของพรรค เรียกว่าส่งใครลงสมัครก็ชนะ เพราะประชาชนชื่นชอบนโยบาย ไม่ต้องหว่านเงินซื้อเสียงเหมือนที่กล่าวหากัน

กรณีพรรคไทยรักไทยแม้จะถูกยึดอำนาจและกติกาการเลือกตั้งถูกเขียนขึ้นมาใหม่ แต่ความนิยมในนโยบายพรรคยังตกทอดมาถึงพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น เรื่องระบบเลือกตั้งหากไม่มีวาระซ่อนเร้นไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน เพราะประชาชนจะเป็นตะแกรงที่ใช้กรองนักการเมืองเข้าสู่อำนาจเอง

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการตรวจสอบการใช้อำนาจมากกว่า

การสร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจควรตรงไปตรงมา ไม่ใช่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อห้ามนักการเมืองหรือพรรคการเมืองทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะเกรงว่าทำแล้วจะได้รับความนิยมต่อเนื่องในระยะยาว

เรื่องทุจริตโกงกินควรมองเป็นเรื่องตัวบุคคล หากใครทุจริตคิดไม่ซื่อก็ไปจัดการคนนั้น ไม่ใช่หาวิธีจัดการไม่ให้พรรคการเมืองที่สังกัดเข้ามามีอำนาจอีก

ถ้าไม่มีวาระซ่อนเร้นไม่ต้องคิดมากกับระบบเลือกตั้ง เพราะประเทศไทยใช้มาแล้วทุกระบบ ปฏิรูปหรือรัฐประหารครั้งหนึ่งก็แก้กลับไปกลับมา ที่ใช้มาแล้วก็ยกเลิก ที่ยกเลิกไปแล้วก็นำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งที่มองเห็นข้อดีข้อด้อยของแต่ละระบบอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว

แต่ที่ต้องแก้กลับไปกลับมาเพราะผลเลือกตั้งที่ออกมาไม่เป็นที่ถูกใจของคนมีอำนาจปฏิรูปเท่านั้นเอง


You must be logged in to post a comment Login