วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

‘อายตนะ’ผ่านการผลิตซ้ำทางสังคม / เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On August 7, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

มนุษย์เราถึงที่สุดก็คงมีปัญหาอยู่เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นเอง สัปดาห์นี้อยากเขียนถึงปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการสื่อสารและกระบวนการรับรู้ของมนุษย์เรา โดยได้สนทนากับ ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก ตามประสาคนแก่ ซึ่งมีเรื่องคุยไม่กี่หัวข้อ

ความจริงคนแบบผมหรือ ดร.ณัฐวุธจะเรียกว่าเป็นพวกสติเฟื่องหรือพวกนอกคอกก็คงได้ คือจะคิดจินตนาการไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง หรือพูดให้เท่แบบฌอง-ปอล ซาทร์ อดีตนักเขียนรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส นักเขียนนวนิยาย นักเขียนบทละคร นักปรัชญา ที่มีบทบาทสำคัญในแนวคิดอัตถิภาวนิยม หรือทฤษฎีที่ว่าทุกคนนั้นอิสระและรับผิดชอบในการกระทำของตน เป็นนักปรัชญาที่ประกาศเสรีภาพของมนุษย์ในแง่ปัจเจกชน ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 2507 ซึ่งเขาได้กล่าวว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีชีวิตอยู่”

เราที่หมายถึงผมกับ ดร.ณัฐวุธ สนทนากันถึงเรื่องกระบวนการรับรู้ของมนุษย์ คือคนเราจะเริ่มต้นสัมผัสสิ่งต่างๆก็ด้วย “อายตนะ” ทั้งหกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งเป็นไปตามภาษาที่พระพุทธเจ้าว่าไว้

ยกตัวอย่างเมื่อสายตาได้สัมผัสมองเห็นสิ่งต่างๆ กระบวนการการรับรู้จะไม่ได้ยุติอยู่แค่นั้น คือสมองจะรับลูกต่อไปด้วยการช่วยเติมเต็มให้แก่สิ่งที่สายตาได้รับรู้หรือมองเห็น กระบวนการการรับรู้ยังคงเดินต่อไปข้างหน้าอีกคือ เป็นขั้นการรับรู้ ได้ส่งต่อไปสู่ใจหรือจิตอีกขั้นตอนต่อไป

ตรงนี้เป็นเรื่องของอายตนะทั้งภายนอกและภายในที่เชื่อมต่อกัน คือภายในมีอินทรีย์ทั้งหก ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งสามารถต่อเชื่อมกับภายนอกคือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสนั่นเอง

เรามากล่าวถึงเพียงเฉพาะการมองเห็นอย่างเดียวก็แล้วกัน จะเห็นว่าเมื่อประสาทตาได้สัมผัสและมองเห็นวัตถุจากผลที่แสงได้สะท้อนสู่ประสาทตาและจอรับภาพแล้ว เซลล์ของสมองที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนก็จะทำหน้าที่เติมเต็มโดยสมองสำหรับสิ่งที่สายตาได้สัมผัสและมองเห็น

อันนี้เป็นการกล่าวถึงตามความรู้ทางการแพทย์ ซึ่งหมายความว่าได้เกิดกระบวนการปรับแต่งขึ้นมาอีกขั้นตอนในการรับรู้หลังจากที่สายตาได้สัมผัสและมองเห็นวัตถุนั้นในเบื้องต้นแล้ว

ต่อจากนั้นภายหลังสมองได้ปรับแต่งหรือเติมเต็มให้แก่สิ่งที่สายตาได้เห็นแล้ว กระบวนการก็คงทำงานส่งผ่านเชื่อมต่อกันต่อไปคือ จากสมองก็ผ่านเข้าไปถึงใจ หรือเป็นการรับรู้ในขั้นของจิต หรือมโน หรือวิญญาณนั่นเอง

หากเราสาวลึกไปถึงความหมายของสัญญาในพุทธของสภาวะการจำได้ หมายถึงรู้เย็นร้อนอ่อนแข็ง กล่าวคือ สัญญานี้เองที่จะกลายเป็นกระบวนการผลิตซ้ำในการรับรู้ของคนเราในสังคม คือโดยความจริงมนุษย์ย่อมมีอิสรภาพที่จะเลือกจำด้วย แต่ในทางปฏิบัติมนุษย์จะโยงใยอยู่กับความคิดในแบบการยึดติด คือถูกครอบงำให้เชื่อมาอย่างไรก็คงมีแนวโน้มที่จะตีความเข้าข้างตนเองในแบบยึดติดที่จะหลงเชื่อกันอย่างที่เคยหลงเชื่อเช่นนั้นต่อไป

ด้วยเหตุดังนี้ระบบความคิดของคนในสังคมจึงถูกครอบงำกันด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง การถูกครอบงำโดยระบบความคิดและความหลงเชื่อทางด้านวัฒนธรรม ความคิดทางการเมืองและการปกครอง เราคงอรรถาธิบายกันได้อย่างนี้ ซึ่งถึงที่สุดแล้วการครอบงำทางความคิดและความเชื่อแท้ที่จริงแล้วในทางพุทธไม่มีใครจะไปครอบงำใคร หากแต่เป็นสัญญาณการจำได้หมายรู้ ซึ่งทำการครอบงำตัวเองโดยสัญญาณของตัวเองนั่นแหละ

สัญญาคือการจำได้ หมายรู้ เมื่อถูกเอามาผลิตซ้ำๆย่อมสร้างเป็นความเชื่อและศรัทธาจนอาจเปลี่ยนความคิดและวินิจฉัยของคนให้เกิดความเชื่อที่ผิดๆขึ้นมาได้ จนอาจสามารถสร้างความเชื่อของการปกครองในระบอบเผด็จการให้คนอื่นเชื่อได้ว่ามันคือประชาธิปไตย หรือให้บางคนคิดว่าตนเองเป็นคนร่วมสมัยของประวัติศาสตร์ ทั้งๆที่เป็นเพียงผู้พลัดหลงหรือผู้ลี้ภัยทางกาลเวลาที่ผิดยุคผิดสมัยเท่านั้นเอง

แนวโน้มในขั้นตอนนี้มักจะเอนเอียงและเข้าข้างการตีความของตนเอง คือเป็นอัตตา

ผมเห็นว่าขั้นตอนและกระบวนการส่งผ่านเชื่อมต่อในการรับรู้ของมนุษย์และสัตว์เป็นเช่นนี้เอง นี่คือข้อสรุปที่ทำให้เห็นว่าทุกสรรพสิ่งที่เราได้มองเห็น สัมผัส และเท่าที่คิดนึกว่าเราเข้าใจมันถ่องแท้ ความจริงล้วนเป็นกระบวนการของมายาที่บิดเบือนและผิดเพี้ยนไปทั้งสิ้น

ฉะนั้นเมื่อเราเอามาขยายความในข้อมูล ข่าวสาร ข้อเท็จจริงใดๆในโลกนี้ มันจึงไม่มีอะไรจริงแท้เลย การที่เราพอเข้าใจถึงอายตนะทั้งภายในและภายนอก เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเชื่อมต่อกับภายนอก ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส คงช่วยสะกิดใจให้ใครหลายคนพอได้สติกันบ้างว่า ในกระบวนการและโลกแห่งความลวง เราอย่าได้ไปคาดหวังอันใดมากนักในโลกนี้


You must be logged in to post a comment Login