วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

เลยไทม์มิ่งปฏิรูป / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On August 7, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

แม้ช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่แม่น้ำแห่งอำนาจแห้งเหือดลงไปอีกสาย

แม่น้ำแห่งอำนาจที่แห้งเหือดไปล่าสุดคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่หมดอำนาจไปตามกาลเวลาหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

แม้การก่อกำเนิดของ สปท. จะสร้างความงุนงงให้หลายฝ่าย เพราะไม่ได้อยู่ในแผนตั้งแต่แรก แต่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจต่อเวลานั่งทับอำนาจด้วยการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นหัวเรือใหญ่ในการยกร่าง พร้อมยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

แต่ สปท. ก็ทำหน้าที่จนหมดวาระการทำงาน

จากระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน และงบประมาณที่เสียไปอีกจำนวนหนึ่ง สิ่งที่ได้จาก สปท. คือรายงานผลการศึกษาการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 200 เรื่อง ครอบคลุม 37 วาระการปฏิรูป ใน 11 ด้านที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ระบุว่า สปท. ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว 188 เรื่อง มีเรื่องที่ผ่านมติ สปท. แล้วแต่ยังไม่ได้นำเสนออีกหลายเรื่อง

แม้หลายคนอาจคิดว่า สปท. ไม่มีผลงานอะไร แต่สำหรับ สปท. เห็นว่ามีผลงานที่เป็นรูปธรรม 27 เรื่อง บางส่วนถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ บางส่วนรัฐบาลออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้วหลายฉบับ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รับมอบผลการศึกษาแนวทางปฏิรูปประเทศ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 นายกฯเคยรับมอบผลการศึกษาและข้อเสนอปฏิรูปประเทศจาก สปช. มาแล้ว

ครั้งนั้น สปช. ส่งมอบรายงานผลการศึกษาวาระการปฏิรูป 37 วาระ และ 6 วาระการพัฒนา โดยเน้น 6 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 6 ประเด็นคือ ระบบการเลือกตั้งที่สุจริตยุติธรรม กลไกป้องกัน ขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบและการบังคับใช้กฎหมาย ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม กลไกของรัฐที่มีประสิทธิภาพ และคุณภาพคนและพลเมือง

หากฟังจากที่นายกฯพูดในวันรับมอบผลการศึกษาและข้อเสนอแนะทั้งจาก สปช. และ สปท. พอสรุปได้ว่าที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิรูปเพราะบางอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือได้ เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งเรื่องผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากและเรื่องงบประมาณ จึงต้องค่อยๆทำ โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน

อย่างไรก็ตาม ภารกิจที่รัฐบาลทหาร คสช. ทำรัฐประหารเข้ามาถือครองอำนาจปกครองประเทศนั้นมีอยู่ 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย การบริหารประเทศ การปฏิรูปประเทศ และการสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง

การบริหารประเทศทำได้ดีหรือไม่ประชาชนต้องตอบเอง การปฏิรูปประเทศสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่ประชาชนต้องตอบเอง การสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในประเทศเกิดขึ้นหรือไม่หรือมีทิศทางที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ประชาชนต้องหาคำตอบเอง

คำตอบของประชาชนมาจากสิ่งที่ประชาชนรู้สึกและสัมผัสได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นหรือพัฒนาไปในทิศทางที่ดีกว่าก่อนเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศหรือไม่

ทั้งวาระการปฏิรูป 37 วาระ และ 6 วาระการพัฒนาของ สปช. และผลการศึกษาการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 200 เรื่อง ครอบคลุม 37 วาระการปฏิรูป ใน 11 ด้านของ สปท. ประชาชนอยากเห็นผลการนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ให้สมกับเวลาและงบประมาณที่เสียไป

ความจริงช่วงที่ สปช. ต้องพ้นวาระไป นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธาน สปช. เคยให้สัมภาษณ์ทำนองว่าการปฏิรูปหากจะให้เห็นผลต้องมุ่งไปที่การปรับโครงสร้าง เอาเรื่องใหญ่ๆสัก 2-3 เรื่อง เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

ความหมายของอดีตประธาน สปช. คือต้องทำให้เกิดความสั่นสะเทือนเพื่อให้ประชาชนรู้สึกได้ เมื่อประชาชนรับรู้ได้แล้ว ข้อครหาเรื่องไม่มีผลงานจะหมดไป จากนั้นไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรประชาชนก็จะให้ความร่วมมือ

แต่ในมุมของผู้มีอำนาจกลับมองว่าหากทำเรื่องใหญ่โดยไปแตะหรือรื้อโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วจนเกิดผลกระทบในวงกว้างอาจเป็นดาบสองคม คมหนึ่งได้ผลงานให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม อีกคมหนึ่งอาจเกิดแรงต่อต้านจนส่งผลกระทบต่ออำนาจ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากคำพูดของท่านผู้นำที่พูดไว้ในสภาในพิธีรับมอบผลการศึกษาและรายงานปฏิรูปจาก สปท. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า

“ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมานาน เช่น เรื่องจราจร การปฏิรูปอย่ามองว่าจะต้องใช้กฎหมายอย่างเดียว หรือใช้อำนาจผมอย่างเดียวแล้วจะทำได้ทั้งหมด อะไรที่ทำได้ก็คือทำได้ และต้องแก้ปัญหาให้ประชาชนด้วยในทุกๆเรื่อง การปฏิรูปประเทศ ที่มีทั้งการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ อย่าไปคิดว่าไม่ดีแล้วต้องปฏิรูป แต่ต้องดูว่าเกิดประโยชน์กับใคร อย่างไร ไปล้มทั้งหมดคงไม่ได้ รวมถึงการกระจายอำนาจท้องถิ่น ถ้าเลิกวันนี้ก็ปั่นป่วนหมด”

ชัดเจนว่าใจหนึ่งอยากปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม แต่ใจหนึ่งก็กลัวผลกระทบที่จะตามมา

ถ้าจะพูดกันจริงๆต้องบอกว่าตอนนี้เลยเวลาที่จะปฏิรูปแบบพลิกฝ่ามือแล้ว คงต้องค่อยเป็นค่อยไป อะไรทำไม่ได้ก็โยนให้รัฐบาลต่อไปในรูปของยุทธศาสตร์ 20 ปี

หากจะปฏิรูปแบบพลิกฝ่ามือต้องทำตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจใหม่ๆ เพราะสามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ ไม่มีใครกล้าต่อต้าน

วันนี้เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว แม้ยังมีอำนาจอยู่ในมือก็ถือได้ไม่กระชับเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ความน่ากลัวลดลง จึงไม่แปลกที่พักหลังจะทำอะไรก็มักมีเสียงคัดค้านออกมาจากหลายฝ่าย


You must be logged in to post a comment Login