วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คนไม่มีมันสมอง / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On July 31, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

เรามักเปรียบเทียบคนที่ทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพายว่าเป็นคนไม่มีมันสมอง เพราะหน้าที่หลักของสมองคือเรียนรู้ จดจำ ควบคุม และสั่งการอวัยวะส่วนอื่นๆในร่างกาย หากขาดสมองสิ่งมีชีวิตก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นอกเสียจากจะเป็นคนพิเศษสร้างความประหลาดใจให้กับวงการแพทย์ดังกรณีที่เคยเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้

แอรอน เมอร์เรย์ ถือกำเนิดเมื่อปี 2013 ที่เมืองลานาร์กเชียร์ ประเทศสกอตแลนด์ พร้อมกับโรคร้ายที่เรียกว่า Hydranencephaly หรือเนื้อสมองไม่มีการพัฒนาหรือพัฒนาเพียงแค่บางส่วน โดยปรกติทั่วไปทารกจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือหากคลอดออกมาแล้วก็จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

คนปรกติจะมีเนื้อสมองประกอบเป็นสมองใหญ่และสมองน้อยอัดแน่นอยู่ในโพรงกะโหลก มีของเหลวหล่อเลี้ยงรอบๆทำหน้าที่ลำเลียงแร่ธาตุที่จำเป็นมาหล่อเลี้ยงสมองและนำของเสียออกจากสมอง แต่ภายในโพรงกะโหลกแอรอนถูกอัดแน่นด้วยของเหลว ไม่มีเนื้อสมองเลยแม้แต่น้อย มีเพียงแค่ก้านสมองที่ปรกติจะเชื่อมต่อระหว่างไขสันหลังกับสมองใหญ่และสมองน้อย

แพทย์ลงความเห็นว่าแอรอนจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่กี่นาที เวลาผ่านไปจากนาทีเป็นชั่วโมง จากชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นสัปดาห์ แต่แอรอนก็ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นอะไร แถมยังมีสุขภาพแข็งแรง หลังจากแพทย์ผ่าตัดเพื่อลดปริมาณของเหลวในโพรงสมองและเฝ้าดูอาการนาน 8 สัปดาห์ ก็อนุญาตให้พ่อแม่นำตัวกลับบ้านได้

ก้านสมองมีหน้าที่รับความรู้สึกจากการสัมผัสและควบคุมการทำงานของอวัยวะภายใน แต่แอรอนไม่สามารถหัวเราะหรือพูดได้เหมือนกับทารกทั่วไป การขาดเนื้อสมองซึ่งจำเป็นในการพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ทำให้แอรอนเติบโตเพียงแค่ร่างกาย แต่สมองจะเหมือนเด็กแรกเกิดตลอดไป

ปาฏิหาริย์มีจริง

ปี 2015 ขณะที่เอมม่า แม่ของแอรอน จับเขานอนเล่นบนพรม หยอกล้อด้วยการปรบมือและพูดว่า “มัมมี้” แอรอนตอบสนองด้วยการหัวเราะและพูด “มัมมี้” สร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับเอมม่าอย่างใหญ่หลวง

ปฏิกิริยาตอบสนองของแอรอนสร้างความประหลาดใจให้กับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะแอรอนมีแต่เพียงก้านสมอง ไม่มีเนื้อสมองส่วนอื่นที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ เพียงแค่แอรอนรอดชีวิตมาได้นานถึง 2 ปี ก็นับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากพออยู่แล้ว ตอนนี้เขายังสามารถเลียนเสียงคำพูดได้อีกด้วย

จิล เยซ แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองประจำสถาบัน Association for Spina Bif idia and Hydrocephalus กล่าวว่า ก้านสมองไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการความรู้สึก เช่น การหัวเราะ หรือการพูดเลียนเสียงคำง่ายๆเช่น “มัมมี้” จิลไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมแอรอนจึงทำสิ่งเหล่านี้ได้ เท่ากับว่าวงการแพทย์มีความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมองน้อยมาก

แม้ว่าแอรอนจะไม่สามารถยืนหรือเดินได้ แต่ล่าสุดเขาสามารถยกศีรษะได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม แอรอนมีอาการเจ็บป่วยบ่อยครั้ง เพราะมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ จำเป็นต้องผ่าตัดระบายของเหลวออกเป็นระยะๆ ปลายปี 2016 ได้มีการผ่าตัดทำทางเชื่อมโพรงสมองหรือที่ภาษาแพทย์เรียกว่า Shunt ทำให้อาการของแอรอนดีขึ้นกว่าเดิมมาก

ไม่มีสมองก็อยู่ได้

ปี 2001 เทรเวอร์ วอลทริพ เกิดมาโดยไม่มีเนื้อสมอง มีแต่ก้านสมองเช่นเดียวกับแอรอน เขาไม่สามารถพูดได้และมองไม่เห็น แต่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับสิ่งแวดล้อม เทรเวอร์มีชีวิตอยู่จนถึงปี 2014 ก่อนที่จะเสียชีวิตอย่างสงบขณะกำลังนอนหลับ

ตามสถิติทารกที่เกิดมาโดยที่เนื้อสมองยังไม่พัฒนามักจะเสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย ปี 2007 วารสารการแพทย์ The Lancet ตีพิมพ์บทความกล่าวถึงคนไข้ชาวฝรั่งเศสวัย 44 ปีรายหนึ่ง เดินทางมาพบแพทย์จากอาการขาซ้ายไม่มีเรี่ยวแรง แพทย์จึงทำการตรวจรักษา เมื่อสแกนสมองด้วยวิธี MRI ทั้งแพทย์และคนไข้ก็ต้องประหลาดใจที่พบว่าคนไข้รายนี้มีเนื้อสมองอยู่เพียงน้อยนิด ในโพรงสมองเกือบทั้งหมดเต็มไปด้วยของเหลว

ชายคนนี้ใช้ชีวิตเหมือนคนปรกติมาตลอด 44 ปี มีภรรยา มีลูก มีงานประจำทำเป็นหลักเป็นฐาน จากการสืบประวัติทางการแพทย์พบว่า เมื่อตอนอายุ 6 เดือน เคยมีอาการของเหลวคั่งในโพรงสมองโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จึงทำการผ่าตัดระบายของเหลวให้

ต่อมาเมื่ออายุได้ 14 ปี เขามีอาการกล้ามเนื้อเสียสหการหรือภาวะการเดินเซ และอาการอัมพฤกษ์ที่ขาซ้าย หลังจากแพทย์รักษาให้ด้วยการระบายของเหลวที่คั่งในโพรงสมองเขาก็หายเป็นปรกติ จนกระทั่งมีอาการขาซ้ายอ่อนแรงอีกครั้งในวัย 44 ปี

เมื่อพบว่าชายผู้นี้มีเนื้อสมองอยู่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของที่ควรจะเป็น เนื้อสมองหายไปมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แพทย์จึงทำการทดสอบไอคิว พบว่าเขามีไอคิวเพียง 75 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคนทั่วไปที่อยู่ระหว่าง 90-110

ดร.เอกเซล คลีรีแมนส์ นักจิตศาสตร์มหาวิทยาลัย Universite Libre de Bruxelles ประเทศเบลเยียม ถึงกับกล่าวว่า คนไข้รายนี้ไม่ควรมีสติสัมปชัญญะพอควบคุมตัวเองได้ด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องประหลาดมากที่เขามีเนื้อสมองเพียงน้อยนิด แต่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนคนปรกติ

สติเกิดจากสมอง

ยังมีคนไข้อีกหลายรายที่สามารถดำรงชีวิตเหมือนคนปรกติทั้งๆที่เกิดมาไม่มีเนื้อสมองส่วนสำคัญ เช่น คนไข้สาวจีนวัย 24 ปี จากมณฑลชานตง เธอป่วยด้วยอาการคลื่นไส้และวิงเวียนศีรษะ จากการสอบประวัติพบว่าเธอมักมีอาการเดินเหินลำบากอยู่บ่อยๆ แพทย์ทำการสแกนสมองแล้วพบว่าพื้นที่ส่วนที่ควรจะเป็นเนื้อสมองเซรีเบลลัมหรือสมองน้อยกลับว่างเปล่า เต็มไปด้วยของเหลว

แพทย์ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าสาวจีนคนนี้มีชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยไม่มีสมองน้อย ดร.เอกเซลตั้งสมมุติฐาน Radical Plasticity Thesis อธิบายว่า มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะ แต่เกิดจากการเรียนรู้ของสมองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยเหตุนี้เองสมองทุกส่วนสามารถเรียนรู้ได้เหมือนๆกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าสมองส่วนไหนจะทำหน้าที่นี้

พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ สมองทุกส่วนมีความสามารถที่จะเรียนรู้สติสัมปชัญญะได้เท่าๆกัน ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นสมองส่วนไหนอย่างตายตัว หากไม่มีเนื้อสมองส่วนที่ทำหน้าที่นี้ สมองส่วนอื่นจะพัฒนาตัวเองมาทำหน้าที่แทน

ตราบใดที่ยังหาคำตอบที่ดีกว่านี้ไม่ได้ก็คงต้องยึดตามทฤษฎีของ ดร.เอกเซลเอาไว้ก่อน และจากการที่พบคนไข้หลายรายที่สามารถดำรงชีวิตได้นานหลายปีโดยเกิดมาไม่มีเนื้อสมองอยู่เลย หรือบางรายมีเนื้อสมองเพียงนิดเดียวแต่กลับใช้ชีวิตเหมือนคนปรกติได้ ทำให้อนุมานว่าเรายังมีความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมองน้อยมาก


You must be logged in to post a comment Login