วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

ข้อสอบวัดการอ่านสอบเข้ามหาวิทยาลัย / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์

On July 24, 2017

คอลัมน์ : China Today

ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

หลังจากการสอบ “เกาข่าว” หรือการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยของจีนเพิ่งผ่านพ้นไป ก็เกิดกระแสดราม่าหนักสำหรับข้อสอบที่เกี่ยวข้องกับการสอบการอ่านภาษาจีน

ขณะที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่งุนงงกับข้อสอบดังกล่าว เจ้าของผลงานที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นข้อสอบก็งงกับคำถามด้วยเช่นกัน

ข้อสอบต้องการให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องและมีการวิเคราะห์ที่เหมาะสมว่าทำไมผู้แต่งถึงจบเรื่องด้วยประโยคที่ว่า “สายตาของปลาได้เหลือบมองอย่างแปลกประหลาด”

ในเว่ยโป๋ (ลักษณะคล้ายกับทวิตเตอร์ นิยมใช้กันในประเทศจีน : ผู้เขียน) ของกง เกาเฟิง นักเขียนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกผลงานให้มาเป็นข้อสอบในครั้งนี้ ได้เขียนว่า ตัวเขาเองก็ไม่แตกต่างจากนักเรียนที่เข้าสอบเพราะก็ไม่สามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้

กง ไม่ใช่นักเขียนคนแรกที่รู้สึกงุนงงกับข้อสอบจากผลงานของเขาเอง ในปี ค.ศ. 2011 ข้อสอบการอ่านภาษาจีนของมณฑลฝูเจี้ยน ก็ได้มีคำถามให้นักเรียนตอบว่าทำไมผู้เขียนถึงได้มีการอธิบายถึงฝนที่ตกกระหน่ำถึง 2 ครั้ง ซึ่งต่อมาทางผู้เขียนเองได้ออกมาเปิดเผยทางสื่อว่า สาเหตุที่เขาเขียนถึงฝนตกนั้นเพราะตอนที่เขียนฝนกำลังตกอยู่แค่นั้น

แม้ว่าการสอบจะเสร็จสิ้นลงไปเรียบร้อยแล้ว หากแต่การถกเถียงกันในเรื่องของการวิเคราะห์ที่อยู่นอกเหนือความต้องการของผู้เขียนก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

กง เปิดเผยว่า ในส่วนสุดท้ายของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสายตาของปลาที่มองนั้น เขาแต่งเพื่อเป็นเกียรติแก่นักเขียนในดวงใจของเขาอย่าง O. Henry ที่มักจะสรุปเรื่องในนิยายของเขาด้วยตอนจบที่แปลกประหลาดหรือจบแบบคาดไม่ถึง

อวี๋ หย่งกัง ผู้อำนวยการคณะอาจารย์ภาษาจีนจากโรงเรียนมัธยมไฉ่เฉียว เมืองหนิงโป กล่าวว่า การออกแบบคำตอบที่มีหลายตัวเลือกนั้นไม่ได้อยู่นอกเหนือกรอบความรู้ที่นักเรียนจำเป็นต้องมีเลย อย่างตอนจบแบบ O. Henry ก็อยู่ในหนังสือเรียน ขณะที่การเขียนที่ทิ้งท้ายตอนจบให้เป็นปริศนานั้นก็เป็นลักษณะการประพันธ์ประเภทหนึ่งที่ต้องเรียนเหมือนกัน

อวี๋กล่าวอีกว่า การเลือกตอนในนิยายที่ออกในข้อสอบนี้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ยากลำบากของคนในสมัยก่อน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสำหรับเด็กที่เกิดหลังปี ค.ศ. 2000 นี้อาจจะรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจ

จากกรอบแนวคิดสำหรับการสอบภาษาจีน ข้อสอบควรมุ่งเน้นไปที่ความสามารถทั้งด้านการอ่าน การเขียน การท่องจำ การวิเคราะห์และการคิดเชิงวิพากษ์ ผู้สอบจะถูกทดสอบการค้นหาจิตวิญญาณ แรงบันดาลใจและค่านิยมที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของงานเขียน และฝึกการวิเคราะห์โดยใช้กระบวนทัศน์แบบต่างๆ

รศ.ซื่อ เซิ่งสวิน แห่งภาควิชาภาษาและวรรณคดีจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวว่า สาเหตุที่ผู้แต่งมักจะไม่สามารถตอบคำถามในข้อสอบเกี่ยวกับงานของตัวเองได้เพราะผู้เขียนต้องเผชิญกับความคิดของตัวเอง ดังนั้น ผู้แต่งไม่ควรเข้ามามีบทบาทในการออกข้อสอบ เพราะข้อสอบนั้นเป็นการผ่านกระบวนการเชิงวิชาการ ซึ่งหากอ้างอิงตามความคิดของผู้แต่งแล้ว ก็จะเป็นการจำกัดความคิดของอาจารย์ผู้ออกข้อสอบและความคิดของนักเรียนที่ตอบข้อสอบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม รศ.ซื่อ ก็ยืนยันว่า ข้อสอบประเภทนี้มุ่งเน้นที่การใช้ตรรกะและเหตุผลในการอธิบายคำตอบ มากกว่าการเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด


You must be logged in to post a comment Login