- กลืนเลือดไม่ให้เสียใจPosted 1 day ago
- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 2 days ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 3 days ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 4 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 5 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 1 week ago
อนิจจาประเทศไทย! / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วแม้ว่ายังไม่เร็วพอที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งกลับมาก็ตาม แต่ก็ช่างมันเถอะ เพราะวันนี้จะไปหวังอะไรลมๆแล้งๆก็จะยิ่งเสียอารมณ์เสียเวลาไปเปล่าๆปลี้ๆ ในเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดอยู่แล้วว่าประเทศไทยต้องถูก “แช่แข็ง” ภายใต้การปกครองของคณะบุคคลที่เกิดมาดูโลกตั้งแต่เพิ่งจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น เรื่องที่ไทยกำลังจะกลายเป็น “Thailand 4.0” จึงเป็นได้แค่เรื่องที่ออกจากปากของ “ตัวตลก” เท่านั้น สู้เอาเวลาไปศึกษาประเทศอื่นๆว่าวันนี้เขาก้าวไกลไปแค่ไหนแล้วน่าจะดีกว่า
แม้เวลาจะวิ่งไปเร็วมากแค่ไหนก็ตาม แต่ที่เร็วยิ่งกว่าก็คือ การพัฒนาและเจริญเติบโตของเทคโนโลยีที่ปรากฏโฉมออกมาใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน สมัยก่อนถ้าเราพูดถึงเรื่องความทันสมัยความล้ำยุคก็ต้องนึกไปถึงยุโรป อเมริกา ต่อมาในทวีปเอเชียดูเหมือนประเทศญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้าใครเหมือนกัน
แต่ที่มาแรงแซงโค้งในรอบทศวรรษล่าสุดนี้ต้องนับประเทศเกาหลีใต้เข้าไปด้วย ก่อนหน้านี้ตอนที่โรคต้มยำกุ้งระบาดไปทั่วซีกโลกตะวันออก ประเทศโสมขาวอาการหนักพอๆกับประเทศไทย ขณะที่ผู้นำของไทยในขณะนั้นส่งเสริมให้คนไทยไปขุดบ่อน้ำทั่วประเทศเพื่อรับเงินค่าแรงจากโครงการ “มิยาซาวา” ผู้นำของเกาหลีใต้กลับดำเนินนโยบาย “Dynamic Korea” เพื่อพลิกฟื้นประเทศจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
หนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาลกิมจิคือ การติดอาวุธทางปัญญาด้าน “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” หรือ “ไอซีที” ให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย โครงการนี้สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของผู้นำโสมขาว ซึ่งแตกต่างจากการแก้ไขปัญหาของผู้นำไทยในวันนั้น เพราะวันนี้บ่อน้ำหลายบ่อในประเทศไทยได้อันตรธานหายไปไม่เหลือเอาไว้ให้ได้ใช้ประโยชน์อีกเลย แต่เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศอันดับ 1 ด้านไอซีทีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ไม่เป็นไรครับ เพราะสภาพข้อเท็จจริงหลายอย่างในวันเก่าๆอาจมีเงื่อนไขหลายประการที่ทำให้ต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายไปแบบนั้น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ก้าวกระท่อนกระแท่นมาได้เป็นลำดับ แม้จะมีห้วงเวลาที่เป็นดาวรุ่งพุ่งสูงเกือบจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียในสมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร อยู่ระยะหนึ่ง แต่ช่วงดังกล่าวก็พังลงอย่างสิ้นเชิงด้วยการรัฐประหารดับอนาคตประเทศไปอย่างน่าเสียดาย และยิ่งมีการรัฐประหารจากกองทัพครั้งล่าสุดด้วยแล้ว ยิ่งมองไม่เห็นทางออกของประเทศไทยเลยว่าจะกลับมารุ่งเรืองอีกได้อย่างไร
ผิดกับประเทศมหาอำนาจใหม่อย่าง “จีน” ที่ทุกคนทราบเป็นอย่างดีว่าปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ในอดีตสมัย “ยุคสงครามเย็น” ระบอบคอมมิวนิสต์ถือเป็นระบอบต้องห้ามเด็ดขาด การวิพากษ์วิจารณ์หรือการสนทนาเรื่องนี้ในที่สาธารณะถือเป็นอันตรายต่อตัวผู้พูดและสมาชิกที่ร่วมสนทนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจถูกฝ่ายความมั่นคงดำเนินคดีได้ทันทีโดยไม่สามารถโต้เถียงอะไรได้เลย
ต่อมาเมื่อพ้นยุคสงครามเย็น การถกแถลงทางวิชาการและการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองแบบต่างๆกลายเป็นเรื่องปรกติ การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นกันได้อย่างเสรีเป็นการเปิด “โลกทัศน์” ของทุกฝ่ายให้กว้างขวาง ทำให้ความรู้ความเข้าใจในระบอบต่างๆเป็นไปตามข้อเท็จจริง และนำไปสู่การพัฒนาทางด้านการเมืองการปกครองในเวลาต่อมา จากการเปิดโอกาสให้มีเสรีทางด้านความคิดนี้จึงทำให้หลายประเทศปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับระบอบการปกครองของตัวเองจนนำมาสู่ความรุ่งเรืองสถาพรจนถึงทุกวันนี้
สัปดาห์นี้ผมขออนุญาตเลือกประเทศจีนมาเล่าให้ฟัง เนื่องจากผมมีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะ “พรรคเพื่อไทย” ที่นำโดย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของ “กระทรวงวิเทศสัมพันธ์” พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การมาเยือนครั้งนี้ของผมไม่ทราบว่าเป็นรอบที่เท่าไร แต่ยอมรับว่าทุกครั้งที่มีโอกาสเยือนจีน ทำให้ผมประหลาดใจ ชื่นชม และต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงในทางบวกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทุกครั้ง
ผมจำได้ว่าจีนประกาศ “ปฏิรูปประเทศ” เมื่อปี พ.ศ. 2522 ปีนั้นจีนซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลกยังถือเป็นประเทศที่ยากจนลำดับต้นๆของโลก ใครที่เคยเที่ยวเมืองจีนในช่วงนั้นคงจำได้ติดตาว่า มองไปทางไหนก็เห็นคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีทึมๆเหมือนกันหมด การเดินทางสัญจรบนถนนใช้รถจักรยานเป็นหลัก บ้านเมืองโดยทั่วไปแม้จะสะท้อนความยิ่งใหญ่ในอดีตของประเทศจากสถาปัตยกรรมต่างๆ แต่ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ต้องถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน และที่ย่ำแย่จริงๆจนใครก็แล้วแต่ที่เคยไปสัมผัสจะไม่มีวันลืมก็คือ “ห้องน้ำ”
เมื่อจีนรู้ว่าการลอกแบบระบอบการปกครองมาทั้งดุ้นจากประเทศรัสเซียไม่สามารถสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนได้ ผู้นำของจีนก็ไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองตามทฤษฎีมาร์กซิสต์มาเป็นการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ของจีนในปัจจุบันจึงนำมาสู่การปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ของจีนในเวลาต่อมา จากการปฏิรูปครั้งนั้นนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ที่นำพาให้จีนกลายเป็น “มหาอำนาจ” เทียบเท่าสหรัฐอเมริกาในวันนี้
จีนเริ่มปฏิรูปประเทศด้วยการลงทุนเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2523 และอีก 10 ปีต่อมาจีนก็เริ่มวิ่งขึ้นสู่ความเป็นประเทศที่มั่งคั่ง การทำนโยบายเพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในด้านต่างๆ เช่น การคมนาคม การพลังงาน การเกษตร ฯลฯ ทำให้แรงงานจำนวนมหาศาลที่ถูกจ้างในโครงการต่างๆมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น เมื่อมีสตางค์มากขึ้นก็มีกำลังซื้อมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อมีกำลังซื้อมากขึ้น สินค้าทุกอย่างก็ขายดี ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ทางด่วน ทางรถไฟ ถูกเชื่อมต่อครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่เคยมีโอกาสค้าขายได้อย่างเสรีสามารถนำสินค้าของแต่ละภูมิภาคซื้อขายกันได้อย่างคล่องตัว ดังนั้น GDP ของจีนจึงโตวันโตคืนจนวันนี้แซงทุกประเทศขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว
เรื่องการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอื่นๆในทุกสาขาของจีนก็ใช่ย่อย วันนี้จีนผลิตเครื่องบินโดยสารของตัวเองออกมาจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ต่อไปคงเห็นเครื่องบินจีนบินอยู่เต็มท้องฟ้าเหมือนกับสินค้าอื่นๆที่บุกไปทั่วโลกมาแล้วก่อนหน้านี้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่นำจีนมาสู่ความสำเร็จได้ในวันนี้เพราะการยอมเปิดรับแนวทางใหม่ๆและยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งนั่นเอง
มองดูคนอื่นแล้วก็ย้อนมาดูตัวเอง ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์แต่กลับมีนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่ต่างกับประเทศเสรีนิยมและเปิดโอกาสให้คนจีนมีเสรีภาพในการสยายปีกไปได้ทั่วโลก แต่ประเทศไทยที่บอกตัวเองตลอดว่าเป็นประชาธิปไตยยังต้องบังคับให้เด็กๆท่องบัญญัติ 12 ประการ และมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน “อนิจจาประเทศไทย”!
You must be logged in to post a comment Login