วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย..มหันตภัยใกล้ตัว

On July 3, 2017

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)ร่วมกับสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(สสวทท.) จัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน…ฉันวิทย์” เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในหัวข้อ “วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย มหันตภัยใกล้ตัว” ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.

ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า โลกเราเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน เป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆหลากหลายและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้แรงกดดันที่แต่เดิมมีสาเหตุมาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงมีสาเหตุสำคัญมาจากมนุษย์ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกและการพัฒนาบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมต่างๆอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อทรัพยาการและสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยนั้น แรงกดดันที่ส่งผลต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น การพัฒนาประเทศที่ใช้เศณากิจเป็นตัวนำและปัจจุบันได้แก่ ความพยายามของรัฐที่กำลังผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

การเพิ่มของกิจกรรมบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีทิศทางและไม่มีการบริหารจดการที่ครอบคลุม ได้ส่งผลลต่อสถานภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น การมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น คุณภาพของน้ำแย่ลง รวมถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งมีความเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้สถานภาพของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงทั้งปริมาณและคุณภาพนั้นจะส่งผลกระทบต่อมิติความมั่นคงโดยรวม ได้แก่ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรเกินขีดความสามารถในการรองรับ 2. ด้านอาหาร บทบาทของระบบนิเวศในทะเลที่เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของมนุษย์ลดลงไป เช่น แนวปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน และ 3.ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าที่ได้จากการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรลดลง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น สุขภาพ บุคคล ชุมชนและการเมืองอีกด้วย

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อทุกคนโดยตรง ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและชนชั้น ไม่มีครสามารถหลุดพ้นจากภัยดังกล่าว จึงจัดเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นมหันภัยใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดและจัดเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ต่อคนไทยทุกคน

การแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย การกำหนดเขตพื้นที่ของกิจกรรม การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึก การสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน/ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา ค้นคว้า และวิจัย และ การกำหนดมาตรการ และมีแนวทางที่ชัดเจนบนฐานความรู้ที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ และ ฟื้นฟู อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังคงต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มงวดเพื่อทำให้เห็นผลสำเร็จในความพยายามที่จะทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรม มีทิศทางที่ดีขึ้นได้

สำหรับการแก้ไขปัญหาในอนาคตนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะต้องมีแนวการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะนำหลักการพัฒนาเศรษฐกิจ สีน้ำเงินมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาที่ทำให้ของเสียเป็นศูนย์ โดยการใช้นวัตกรรมเข้ามาในขบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ทะเลมีความสำคัญต่อการการดำรงชีวิตของมนุษย์ ระบบนิเวศ และความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ประกอบด้วยระบบต่างๆที่มีความสัมพันธ์และเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์อีกด้วย

ทะเลของเรากำลังเผชิญกับวิกฤติปัญหาทางทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลกำลังถูกคุกจากกิจกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการประมงเกินขนาด ความต้องการสัตว์น้ำของมนุษย์ได้พุ่งเกินกว่าระดับสมดุลที่มหาสมุทรและทะเลจะให้ได้ ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ต่างระบุถึงการทำประมงเกินขนาดที่จะสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อมหาสมุทรจนไม่สามารถคืนสภาพได้ตลอดกาล

ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทะเลกรด ทำให้น้ำทะเลในมหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้น เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ 1. เกิดจากการปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว ได้ทำละลายกับน้ำทะเลในมหาสมุทร ทำให้ค่าความเป็นกรด-ด่างในมหาสมุทรเปลี่ยนไป มีสภาพเป็นกรดมากขึ้น 2. อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้น้ำทะเลดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง จากการที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับในระดับน้ำทะเลลึก ลอยตัวสูงขึ้นมาใกล้ระดับพื้นผิวน้ำทะเล ส่งผลให้น้ำทะเลที่ระดับผิวน้ำ มีความเข้มข้นของก๊าซ CO2 สูงยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหาร และการลดลงของประชากรสัตว์น้ำในทะเลนั้น ส่งผลกระทบต่อการประมงของมนุษย์โดยตรง ส่วนกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์คืออีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทั้งนี้อาจจะเป็นมลพิษที่ถูกทิ้งลงทะเลโดยตรง มลพิษที่มาจากน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสกปรก หรืออาจจะมาจากการชะล้างมลพิษทางอากาศและพื้นดินของน้ำฝนที่ไหลลงสู่ทะเลก็ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในทะเลเช่นกัน

แนวทางการป้องกันและแก้ไขวิกฤตทางทะเล ทำได้ด้วยการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล เพื่อทราบสถานการณ์ของคุณภาพน้ำทะเล และสถานการณ์ของมลพิษทางทะเลที่มีการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรม และจัดทำมาตรการการจัดการมลพิษทางทะเล ควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย การแก้ไขมลพิษทางทะเล ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนไทยทุกคนเพื่อรักษาและฟื้นฟูให้ท้องทะเลไทยกลับคืนสู่ความสมบูรณ์สวยงามอีกครั้ง

v2


You must be logged in to post a comment Login