วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

อำนาจเบ็ดเสร็จ-ฉ้อฉลเบ็ดเสร็จ / โดย Pegasus

On July 3, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

ลอร์ด แอคตัน นักปราชญ์ดัง เคยพูดไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ว่า “อำนาจมีแนวโน้มให้คนคอร์รัปชัน ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ การฉ้อฉลยิ่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” (All power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely) วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เกือบทั้งหมดจึงมักเป็นคนชั่วเสมอ

คำพูดนี้เป็นความจริงมากน้อยเพียงใด ลองย้อนกลับไปสมัยโบราณจะพบว่าการปกครองทั้งโลกที่ใช้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ประชาชนที่มีสิทธิมีเสียงมีเฉพาะในบางรัฐของกรีกและโรมันเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นระบบจักรวรรดิที่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด การจะทำอะไร จะพาคนไปตาย จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแค่ไหน ก็ไม่มีใครห้ามได้

ต่อมามนุษย์เกิดความคิดว่าการปล่อยให้คนใดคนหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงผู้เดียวจะนำมาซึ่งความทุกข์ยากของประชาชน เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดห้ามตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งการพูดถึงผู้มีอำนาจในแง่ต่างๆ สมัยนาซีและสตาลินเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดแจ้งที่สุด
ทำไมการมีอำนาจเบ็ดเสร็จจึงมีการฉ้อฉล เหตุผลง่ายๆคือ ไม่มีใครกล้าสงสัย กล้าถาม และกล้าตรวจสอบ ผู้มีอำนาจจะทำอะไรก็ไม่ต้องกลัวใคร จะโกง จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้

ดังตัวอย่างนิยายจอมโจรโรบินฮูด พระเจ้าจอห์นรีดภาษีประชาชนเพื่อเอาไปใช้ฟุ่มเฟือย ในที่สุดประชาชนไม่ยอม ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านและจับให้ลงพระนามว่า ถ้าจะเอาเงินภาษีไปทำอะไรต้องถามรัฐสภาและได้รับการอนุญาตก่อน

นี่คือความสำคัญของระบบรัฐสภา หรือ Parliament ที่ผู้มีอำนาจทุกคนเกรงกลัว เพราะเป็นองค์กรที่จะตรวจสอบรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ถือว่าเป็นตัวแทนประชาชนผู้เสียภาษี

เมื่อเห็นความชั่วร้ายของอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว มาดูว่าอำนาจ 3 ฝ่ายในระบบรัฐสภาเป็นอย่างไรคือ อำนาจฝ่ายบริหาร อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และอำนาจฝ่ายตุลาการ ทั้ง 3 อำนาจหากรวมอยู่ในคนคนเดียวก็คือการมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ดังนั้น หลังยุคโรบินฮูดจึงเกิดระบบถ่วงดุลอำนาจด้วยระบบรัฐสภาที่มีต่อระบอบกษัตริย์ จนในที่สุดระบอบกษัตริย์ของอังกฤษก็อยู่ภายใต้กฎหมายดังที่ทราบกันดี ซึ่งนำความรุ่งเรืองมาสู่อังกฤษ เมื่อเทียบกับฝรั่งเศสในยุคเดียวกันที่ล้าหลังกว่าและแพ้สงครามต่ออังกฤษในที่สุด

ในยุคต่อมาอังกฤษและประเทศตะวันตกต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐ ถือว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะมีการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการให้ถ่วงดุล ตรวจสอบกัน และเป็นอิสระจากกัน ไม่ให้มีอำนาจใดมาครอบงำได้

ในทางตรงกันข้าม ประเทศล้าหลังต่างๆมักนิยมใช้กำลังทหารกดดันให้ฝ่ายตุลาการเป็นพวกและใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ประชาชน ทำให้ตัวแทนประชาชนผ่านระบบรัฐสภาหมดอำนาจ ซึ่งทำให้ไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายผู้มีอำนาจได้ ประเทศเหล่านี้จะมีสภาพเสื่อมถอย หรือเกิดสงครามกลางเมือง เพราะประชาชนอดอยากจากอำนาจเผด็จการของคนบางคนบางกลุ่มนั่นเอง

ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองจะมีอำนาจมากแค่ไหน ในที่สุดอำนาจก็จะต้องไหลกลับสู่ชนชั้นล่างหรือประชาชน อำนาจจากคนส่วนน้อยไปสู่มหาชนในที่สุด ไม่เคยมีประเทศใดที่ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะสามารถทวนกระแสนี้ได้

จะช้าหรือเร็ว ในที่สุดความจริงก็ต้องปรากฏ ไม่มีใครทวนกระแสนี้ได้


You must be logged in to post a comment Login